CRG เผย 8 เทรนด์ธุรกิจอาหารน่าจับตา รับมือความท้าทายเศรษฐกิจปีนี้ - Forbes Thailand

CRG เผย 8 เทรนด์ธุรกิจอาหารน่าจับตา รับมือความท้าทายเศรษฐกิจปีนี้

เซ็นทรัล เรสตอรองส์ หรือ CRG ผู้นำแบรนด์อาหารชั้นนำ อาทิ เคเอฟซี อานตี้ แอนส์ และคัตสึยะ เผย 8 เทรนด์ธุรกิจอาหารที่ต้องจับตา รับมือความท้าทายเศรษฐกิจปีนี้


    ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เปิดเผยว่า ในปีนี้ธุรกิจร้านอาหารของประเทศไทยจะมีเทรนด์ตลาดและความท้าทายที่ต้องจับตามองใกล้ชิด 8 เรื่อง ได้แก่

    1.เทรนด์การเติบโตของธุรกิจอาหาร ที่คาดว่าจะโต 5-7 เปอร์เซ็นต์ เป็น 480,000 ล้านบาทในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอน เนื่องจากการฟื้นตัวช้า มีแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนสูง หรือการชะลอการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ หรือความเสี่ยงจาก global recession เพราะเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกายังมีความเสี่ยง และผลกระทบจากสงคราม เป็นต้น

    2.ในปีที่ผ่านมามีคู่แข่งจำนวนกว่าแสนรายเข้ามาในตลาดอาหารในปีที่ผ่านมา และคาดว่ายังมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดอีกอย่างต่อเนื่อง

    3.สัดส่วนการกลับมาทานอาหารที่ร้านเริ่มกลับสู่จุดสมดุล โดยปัจจุบัน 80% ของลูกค้ารับประทานอาหารที่ร้านและ 20% เป็นช่องทางเดลิเวอรี่

    4.การเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะการขยายสาขาของผู้ประกอบการทั้งรายเก่า-รายใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องหันพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมากขึ้น

    5.ไลฟ์ไซเคิลของร้านอาหารสั้นลง ผู้บริโภคมีความคาดหวังเพิ่มมากขึ้น และพร้อมทดลองแบรนด์ใหม่ๆ ทำให้แบรนด์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้น ผู้ประกอบการเดิมจึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบร้าน และโมเดลใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค

    6.Solo economy trend

    7.ความท้าทายในเรื่องต้นทุน การบริหารจัดการ ต้นทุนด้านแรงงาน และพลังงาน

    8.จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจอาหารมากขึ้น ซึ่งทั้งร้านอาหารและลูกค้าต้องปรับตัวรับมือ


    แม้ว่าในปี 2567 จะมีความท้าทายหลายอย่างเกิดขึ้นในตลาด แต่บริษัทยังพบปัจจัยบวกอันเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการท่องเที่ยวภาครัฐ ตลอดจนความนิยมรับประทานอาหารคนเดียวที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่อยากทดลองร้านอาหารแนวใหม่ หรือเมนูตามกระแสตลอดเวลา

    ทำให้บริษัทฯ เตรียมทุ่มงบอีก 1,000-1,200 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจในปีนี้ โดย 70% ของเงินลงทุนจะใช้เพื่อการเปิดสาขาใหม่อีก 100-120 สาขาในปีนี้ ส่วนอีก 20% และ 10% ของงบประมาณจะใช้ในการปรับโฉมสาขาเดิมและระบบไอทีตามลำดับ ตามแผนการตลาด ซีอาร์จีจะมีสาขาทั้งสิ้นมากกว่า 1,700 สาขาในสิ้นปี

    การขยายธุรกิจในปีนี้เป็นไปตามแผน 5 ปี (2567-2071) ที่บริษัทจะลงทุนทั้งหมด 6,000 ล้านบาท ขยายธุรกิจ และผลักดันให้จำนวนสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 แห่ง



    สำหรับปีที่ผ่านมาซีอาร์จีเปิดสาขาไปทั้งหมด 140 สาขา ด้วยเงินลงทุน 700-800 ล้านบาท แบ่งเป็น ไลท์มีล 60 สาขา เฮฟวี่ฟู้ดส์ 40 สาขา ร้านเครื่องดื่มและขนมหวาน 30 สาขา และที่เหลือ 15 สาขา เป็นร้านอาหารแบบด่วน ทำให้สาขาร้านอาหารภายใต้ซีอาร์จีในปีที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 1,600 สาขา มีรายได้ 14,500 ล้านบาท เติบโตจากปี 2565 ถึง 13%

    ณัฐกล่าวว่าในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 14% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเป็น 16,600 ล้านบาทในปีนี้ เพื่อให้บรรลุยอดขายที่ตั้งไว้ ในปีนี้บริษัทได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้ยุทธศาสตร์ Empowering Excellence, Embracing และ Sustainability ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ คือ Grow, Drive, Build and Expedite

    Grow เป็นกลยุทธ์สร้างการเติบโตจากการขยายสาขาใหม่จากแบรนด์ในเครือที่มีศักยภาพ เช่น “เคเอฟซี” “อานตี้ แอนส์” “โอโตยะ” “คัตสึยะ” “ส้มตำนัว” “สลัดแฟคทอรี่” “ชินคันเซ็น ซูชิ”

    ขณะที่แบรนด์ในเครืออื่นๆ จะเน้นการเพิ่มยอดขายของสาขาเดิม ด้วยการออกสินค้ารสชาติใหม่ โปรโมชั่นสุดคุ้มและโดนใจ รวมไปถึงวางแผนกลยุทธ์ กระตุ้นการขายในบางช่วงเวลา

    ขณะที่กลยุทธ์ Drive จะเน้นการบริหารจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการใช้พลังงาน, เน้นการลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการบริหารกระแสเงินสด ตลอดจนการลงทุนให้มีความคล่องตัวมากขึ้น พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการร้านอาหารมากขึ้น ทั้งการสั่งอาหารผ่านคิวอาร์โค้ด การนำหุ่นยนต์มาให้บริการในร้าน การนำเครื่องมือใช้วิเคราะห์ลูกค้า เพื่อเข้าใจและตอบสนองกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงการวางแผนพัฒนาระบบการเสิร์ฟอาหารผ่านระบบสายพาน เป็นต้น



    กลยุทธ์ Build จะเน้นเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ และการร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ โดยจะเฟ้นหาแบรนด์ที่มีศักยภาพในการเติบโตเพิ่มอีก 2-3 แบรนด์ในปีนี้ ซึ่งน่าจะเป็นร้านอาหารประเภทชาบู สุกี้ และปิ้งย่าง ซึ่งซีอาร์จียังไม่มีอยู่ในพอร์ต แม้จะมีแบรนด์ธุรกิจอาหารอยู่ถึง 21 แบรนด์แล้วก็ตาม

    “ธุรกิจร้านอาหารที่ซีอาร์จีเลือกร่วมทุนด้วย ต้องมีขนาดยอดขายปีละ 500 ล้านบาท และธุรกิจมีโอกาสเติบโตในตลาดได้มากกว่าเดิมอีก 3-4 เท่า และมีสาขามากพอที่ลูกค้าจะรู้จัก และที่สำคัญมากๆ เจ้าของธุรกิจนั้นๆ ต้องมี passion ไฟแรง ตั้งใจและพร้อมจะเติบโตไปพร้อมกับซีอาร์จี” ณัฐกล่าว

    สำหรับกลยุทธ์สุดท้ายคือ Expedite เป็นการผลักดันความยั่งยืนทุกมิติ มุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินงานในรูปแบบของแผงโซลาร์เซลล์ และการลดปริมาณขยะอาหารที่เกิดจากการใช้วัตถุดิบในกระบวนการผลิตอาหาร



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : "นารากรุ๊ป" รุกตลาดฟู้ดเดลิเวอรีครั้งแรก จับมือ "แกร็บ" ตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 23%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine