เอ็นไวโร (ไทยแลนด์) เผย Metaverse เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค สู่ชีวิตในโลกทิพย์ แนะธุรกิจปรับแผนรับมือ 4 เทรนด์ ช็อกวงการการตลาด เผยผู้คนอยากอยู่ในโลกทิพย์มากกว่าโลกจริง
สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโร (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทวิจัยในเครือบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเปิดตัวของ Metaverse จะมาเปลี่ยนไลฟสไตล์ของคนรุ่นใหม่ ชนิดช็อกวงการการตลาด โดยจากการสำรวจผู้บริโภคในประเทศ จำนวน 1000 คน กรุงเทพ (79%) และต่างจังหวัด (21%) เพศหญิง 64% ชาย 26% LGBTQ 10% พบ 4 เทรนด์ที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้ทันความต้องการของผู้บริโภค ดังนี้ เทรนด์ 1 : โลกทิพย์ (อยากอยู่บนโลกปลอมมากกว่าโลกจริง) Seem - Real Universe ผลการสำรวจ พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 56 ยังกังวลเรื่องโควิดที่ไม่รู้จักจบสิ้น การใส่หน้ากากตามที่สาธารณะ สะท้อนให้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย ความกลัว และไม่น่าอยู่ คนส่วนใหญ่มีความหวังอยากเห็นสังคมที่น่าอยู่กว่านี้ โดยกว่าร้อยละ 80 อยากเห็นสังคมที่สวยงาม ไร้โรค ไร้มลพิษ แต่เมื่อมันเกิดในโลกจริงไม่ได้ จึงขอย้ายไปอยู่โลกทิพย์ดีกว่า โดยผู้บริโภคกว่าร้อยละ 76 สนใจจะเข้าไปอยู่บนโลกทิพย์ที่ไม่ใช่โลกจริงอย่าง Metaverse โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z และ กลุ่ม LGBTQ+ ที่กว่าร้อยละ 90 รอคอยการมาของโลกทิพย์ ขณะที่ร้อยละ 80 มองว่า โลกทิพย์ สามารถสร้างฝัน สร้างโลกจิตนาการขึ้นมาใหม่เอง และสามารถเป็นอีกคนที่เราฝันอยากเป็นได้ ซึ่งไม่สามารถทำได้ในโลกจริง โลกทิพย์จึงเป็นอีกโลกที่ผู้บริโภครู้สึกอยู่ได้อย่างปลอดภัย สามารถปลดปล่อยจากภาวะความเครียดที่เจอในโลกจริงทุกวันนี้ที่เต็มไปด้วยความดราม่า เรื่องหดหู่ และกฎระเบียบ ประเพณีเดิม ๆ ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะหลอมรวมโลกบนสังคมออนไลน์เข้าเป็นหนึ่งเดียวโดยมีวัฒนธรรมใหม่ๆ ร่วมกัน “สอดคล้องกับที่นักจิตวิทยา ได้ทำการศึกษาว่าการใช้ร่างอวทาร์ทดแทนตัวตนจริง สามารถเปลี่ยนความคิด และ พฤติกรรมได้ในโลกจริง เช่น การใช้ร่างอวทาร์ที่สูง จะทำให้เราเกิดความรู้สึกมั่นใจในโลกจริง การใช้ร่างอวทาร์ที่งดงาม มีเสน่ห์ ทำให้เราเป็นคนที่เข้าสังคมได้เก่งขึ้นในโลกจริง การใช้ร่างอวทาร์ที่แข็งแรง ทำให้เรามีพฤติกรรมการกิน และการออกกำลังที่ดีขึ้น ดังนั้นพฤติกรรมผู้บริโภคจะยิ่งซับซ้อนขึ้น รสนิยมในการบริโภคสินค้า และพฤติกรรมในโลกจริงเปลี่ยนไป การจะศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคไม่เพียงแต่ต้องศึกษาทั้งตัวจริงที่อยู่บนโลกจริง แต่ยังต้องศึกษาตัวตนในร่างอวตารอีกด้วย” สรินพร กล่าว เทรนด์ 2 : อิ่มทิพย์ Seem - Real Recreation สรินพร กล่าวว่า ทุกวันนี้ผู้บริโภคได้ซึมซับการใช้ชีวิตไปกับโลก Digital มากกว่า Physical โดยใช้เวลาว่างเพลิดเพลินไปกับโลกดิจิทัล เช่น เล่น Facebook Instagram TikTok และ Youtube ประมาณร้อยละ 70 โดยเฉพาะช่วง Work from home ซึ่งมากกว่าบนโลก Physical เช่น เดินห้าง ทำสวน ที่ใช้เวลาประมาณร้อยละ 30 ทำให้คุ้นชินกับการผ่อนคลายจิตใจแบบที่ไม่ได้ออกไปข้างนอก นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่ชอบเล่นเกมส์ ทุกวันนี้มีจำนวนเกมส์เมอร์ถึง 2,500 ล้านคน ซึ่งโดยจิตวิทยาแล้ว สามารถทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้เช่นกัน และกว่า 60% ที่คิดว่าโลกทิพย์จะสามารถสร้างประสบการณ์ของชีวิตที่เราอยากทำ และทำกิจกรรมท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย เช่น โดดบันจี้จัมพ์ ที่ไม่กล้าทำในชีวิตจริง อย่างในเดือนเมษายน 2020 ที่ผ่านมา มีคนดูคอนเสิร์ตที่เป็น Virtual ของ Travis Scott จำนวนมากถึง 27 ล้านคน มากกว่าจำนวนคนที่ไปดูคอนเสิร์ต Woodstock ถึง 67 เท่า ดังนั้นการ หาประสบการณ์รูปแบบใหม่ในโลกทิพย์อาจจะกระทบการท่องเที่ยว หรือธุรกิจค้าปลีก บริการต่าง ๆ แม้กระทั่งอาหาร ต่อไปนี้ผู้บริโภคสามารถรู้สึกเติมเต็ม อิ่มทิพย์ได้โดยไม่ต้องลุกไปไหน เทรนด์ 3 : สวยทิพย์ Seem - Real Beauty Seam - Real Beauty เป็นเทรนด์ที่มาแรง เพราะคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะใช้ชีวิตบนโลกทิพย์มากขึ้น และความสวย หล่อ จากการทำศัลยกรรมอาจไม่นิยมอีกต่อไป ในเมื่อสามารถสร้างร่างทิพย์ที่งดงามอย่างที่อยากเป็น โดยร้อยละ 57 ของผู้บริโภค กล่าวว่า สามารถใช้แอพแต่งให้สวยในโลกทิพย์ได้ โดยสนใจใช้แอปฯ มากกว่าการทำศัลยกรรม เพราะมีแนวโน้มการออกข้างนอกไปเจอตัวเป็นๆ น้อยลง ซึ่งจะเปลี่ยนนิยามความงามในรูปแบบใหม่ไปเลย ถือเป็นเทรนด์ที่สั่นสะเทือนวงการแฟชั่น ความงาม อย่างแน่นอน โดยจะส่งผลเชื่อมโยงมายังรสนิยมบนโลกจริง เช่น เทรนด์การแต่งหน้า แต่งตัว แบบอวตาร นอกจากนี้ แนวโน้มนี้อาจทำให้คนรุ่นใหม่ย้ายการจับจ่ายไปใช้บนโลกทิพย์ ที่ช่วยเติมเต็มความฝัน และ เติมเต็มความรู้สึกดี ๆ ทางจิตวิญญาณที่หาไม่ได้ในโลกจริง โดยนิตยสาร Forbes รายงานว่าการใช้จ่ายซื้อไอเทมต่าง ๆ สูงขึ้นถึง 50% เป็น 1.2 หมื่นล้านเหรียญ ในช่วงปี 2019 - 2020 เทรนด์ 4 : รักทิพย์ Seem - Real Relation สรินพร กล่าวว่า การต้องกักตัวอยู่กับบ้านในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ร้อยละ 51 ของผู้บริโภคอยากเจอเพื่อนใหม่ๆ แบบไม่จำกัด เชื้อชาติ ศาสนา และภาษาในโลกทิพย์ การมีความสัมพันธ์แบบ Virtual ทำให้เราสามารถมีปฎิสัมพันธ์กันเหมือนประสบการณ์จริง โดยสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งรอบตัวได้โดยไม่ต้องออกไปเจอกันตัวเป็นๆ “ต่อไปนี้เราสามารถมีความสัมพันธ์แบบที่เราต้องการได้ตามใจฝัน ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา นิสัย และรูปแบบการคบหา เสมือนกระโดดเข้าไปเป็นพระเอก นางเอกในหนัง โดยไม่ต้องมาเจอสารพัดปัญหาที่ทำให้ความสัมพันธ์ทุกวันนี้ย่ำแย่” ทั้งนี้ หลักฐานจากการสแกนสมองด้วย fMRI เพื่อเปรียบเทียบระหว่างปฎิสัมพันธ์บนโลกจริงและโลกเสมือน พบว่า มีความซับซ้อนมาก อย่างไรก็ดี การทดลองส่วนใหญ่พบว่าปฎิสัมพันธ์บนโลกทิพย์ที่สร้างประสบการณ์ได้เสมือนจริง สามารถกระตุ้นเซลล์ประสาท ไม่ต่างจากปฎิสัมพันธ์แบบตัวเป็นๆ ดังนั้นรูปแบบความรักที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้คนอาจจะเห็นคนโสดมากขึ้น ความต้องการมีครอบครัวที่น้อยลง ปัญหาโรคติดต่อน้อยลง และหวังว่าปัญหาสุขภาพจิตใจ โรคซึมเศร้าอาจจะดีขึ้น “การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคจะยิ่งมีความซับซ้อนขึ้นไปอีก เหมือนสมัยกับการเข้ามาของอีคอมเมิร์ซ ที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ มารอลุ้นกันค่ะว่าต่อจากนี้โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร” สรินพรกล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: “อัลไลแอนซ์ ลอนดรี้” กางแผนบุกตลาดร้านสะดวกซัก ตั้งเป้ายอดขายพันล้านบาทไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine