แวดวงธุรกิจร้านอาหารของไทยมีนักธุรกิจ-เจ้าของกิจการมากหน้าหลายตา แต่ถ้าพูดถึงสตรีแถวหน้า ปลุกปั้นเชนร้านอาหารจนประสบความสำเร็จ จนเรียกได้ว่าเป็น “ตัวแม่” แห่งวงการนี้ ชื่อของ “ยูกิ-นราวดี ศรีกาญจนา” แห่งนารากรุ๊ป และ “ปลา-อัจฉรา บุรารักษ์” แห่งไอเบอร์รี่กรุ๊ป จะต้องเป็นสองชื่อที่ทุกคนนึกถึงอย่างแน่นอน
ธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยนั้นมีด้วยการหลายเชน แต่เชื่อว่าหากพูดถึงสตรีผู้ปลุกปั้นร้านอาหารของตัวเองจนประสบความสำเร็จแล้วล่ะก็ “ยูกิ-นราวดี ศรีกาญจนา” แห่งนารากรุ๊ป และ “ปลา-อัจฉรา บุรารักษ์” แห่งไอเบอร์รี่กรุ๊ป จะต้องเป็น 2 สตรีที่หลายคนนึกถึงขึ้นมา แม้คอนเซ็ปต์ร้านอาหารของสองเครือนี้จะโดดเด่นในสไตล์ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งของตัวแม่ทั้งสองคน คือพวกเธอเริ่มต้นธุรกิจอาหารด้วยความชอบ ความสนใจนั่นเอง
แล้วเส้นทางของพวกเธอเป็นอย่างไร ปัจจุบัน ณ พฤษภาคม 2568 มีแบรนด์อะไรในเครือบ้าง Forbes Thailand ชวนสำรวจไปด้วยกัน
เส้นทางของ นารากรุ๊ป เริ่มธุรกิจร้านอาหารเมื่อราว 20 ปีก่อนในปี 2547 หลังจาก “ยูกิ-นราวดี ศรีกาญจนา” ตัดสินใจหันหลังให้กับธุรกิจสินค้าลักชัวรี่ ด้วยความสนใจด้านอาหารไทย เธอจึงเริ่มนับหนึ่งด้วยโปรเจกต์แรก ร้านก๋วยเตี๋ยว “นารา” ยึดทำเลหรูในศูนย์การค้าเพนนินซูล่า หลังจากเปิดร้านกระแสตอบรับมาทันที ลูกค้าก็พากันตื่นเต้น พูดกันปากต่อปากเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ภายในเวลาอันรวดเร็ว
จากร้านก๋วยเตี๋ยวสู่ร้านอาหารไทย “นารา” การตอบรับมีมากขึ้นด้วยแผนธุรกิจและกลยุทธ์ด้านทำเลที่ตั้ง เริ่มสาขาแรกที่เอราวัณในทำเลศูนย์การค้า เจาะกลุ่มเป้าหมายคนไทยและชาวต่างชาติ
คอนเซ็ปต์ของนาราคือนำเสนอรสชาติอาหารแบบไทยแท้ ตกแต่งร้านด้วยบรรยากาศความเป็นไทย เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารไทยให้ชาวต่างชาติได้สัมผัส หลังจากทดลองเปิด 2 สาขาที่เอราวัณและเซ็นทรัลเวิลด์ ผลตอบรับดีเกินคาด ยิ่งกว่านั้นคือมีลูกค้าต่างชาติหลายประเทศมาขอเป็น franchise สนใจนำนาราไปเปิดในต่างประเทศ
หลังจากนั้นนาราเริ่มขยายไปต่างแดนด้วยการร่วมทุน แต่ด้วยข้อจำกัดหลายด้าน “นาราไทย คูซีน” จึงหันไปศึกษาโมเดลการขยายตลาดด้วยระบบแฟรนไชส์ และกำหนดนโยบายการลงทุนขยายเครือข่ายต่างประเทศด้วยโมเดลแฟรนไชส์ มอบสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ประเทศละ 1 ราย
อาณาจักร “นารากรุ๊ป” เติบใหญ่ด้วยเครือข่ายสาขาผ่านระบบแฟรนไชส์สู่ภูมิภาคเอเชียต่อเนื่อง ด้วยแบรนด์ร้านอาหารไทยที่ทรงพลังที่พร้อมขยายการลงทุนรวม 10 แบรนด์ ได้แก่ นาราไทย คูซีน, เลดี้นารา, อภินารา, อิงคฺ, อั้งม้อ, บ้านนอกเข้ากรุง และแบรนด์ร่วมทุนมาดามแม่, โค ลิมิเต็ด รวมทั้งเอลเมอร์กาโด้ และแอนคั่วไก่
โดยมีเครือข่ายสาขาทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียรวม 59 สาขา โดยมี “นาราไทย คูซีน” เป็นเรือธงขยายแฟรนไชส์แล้วถึง 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วย ไทย ไต้หวัน ฮ่องกง เมียนมา ศรีลังกา อินเดีย ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)

ขณะที่ อัจฉรา บุรารักษ์ หรือที่หลายคนคุ้นเคยกันในนาม “ปลา ไอเบอร์รี่” หันหลังให้อาชีพแอร์โฮสเตส และมาตั้งไอเบอร์รี่ กรุ๊ป เพื่อทำธุรกิจอาหารตามความชอบ ด้วยการเปิดร้านไอศกรีมเจลาโต้ภายใต้แบรนด์ “ไอเบอร์รี่” สาขาแรกในปี 2542 ผ่านไปเกือบ 26 ปี วันนี้อัจฉราสร้างแบรนด์ร้านอาหารไทยภายใต้อาณาจักรของเธอได้ถึง 17 แบรนด์ โดยแบรนด์ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ก็คือร้านอาหารญี่ปุ่น ‘Maison RORU’ นั่นเอง
ทั้งนี้ แบรนด์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับไอเบอร์รี่ กรุ๊ป ลำดับต้นๆ มีหลายแบรนด์ รวมทั้งแบรนด์ทองสมิทธ์ ที่ขายก๋วยเตี๋ยวเรือราคาระดับร้อยถึง 500 บาท ความสำเร็จของทองสมิทธ์ไม่ได้สะท้อนจากภาพที่เห็นลูกค้ายืนต่อคิวยาวเหยียดเพื่อรอเข้าร้านเท่านั้น แต่ยืนยันด้วยสถิติรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และปัจจุบันยังคงมีลูกค้ายังอุดหนุนร้านทองสมิทธ์ในแต่ละสาขาอย่างอุ่นหนาฝาคั่งจากทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวเอเชีย
ที่ผ่านมา ร้านอาหารในพอร์ตของไอเบอร์รี่ กรุ๊ป ส่วนใหญ่ที่เปิดในพื้นที่ต่างๆ เป็นอาหารไทย ที่มีการตั้งชื่อแบรนด์ครีเอทีฟ แปลก แหวกแนว แต่จดจำจากลูกค้าได้ภายในเวลาไม่นาน แต่ถึงอย่างนั้นไอเบอร์รี่กรุ๊ปก็ขยายสู่อาหารชาติอื่นด้วย เช่น อาหารเวียดนามอย่างอันเกิม-อันก๋า ,ร้านอาหารบรันช์สไตล์ฟิวชั่นอย่าง Oh My Godmother, ร้านบรันช์อีกแบรนด์อย่าง Fran’s และล่าสุดร้านอาหารญี่ปุ่น Maison RORU
อัจฉรา เคยให้สัมภาษณ์กับ Forbes Thailand ไว้ว่า “การเพิ่มความหลากหลายของคอนเซ็ปต์ร้านอาหาร จะเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจให้เติบโตได้ จากที่ลูกค้าเคยแวะมาทานร้านกับข้าวกับปลาเดือนละ 2 ครั้ง อาจจะเพิ่มความถี่ได้ถึงเดือนละ 7-8 ครั้งด้วยการไปร้านอาหารอื่นๆ ที่ปลามีในพอร์ต” เธอบอกเหตุผล
ออกแบบภาพปกและอินโฟกราฟิก: ธัญวดี นิรุตติศาสตร์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ปี 2567 ทะยานต่อ กวาดรายได้ 7,075 ล้านบาท เส้นทางสู่สุกี้หมื่นล้านอยู่อีกไม่ไกล
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine