ไวซ์ไซท์ เตรียมจัดใหญ่ Thailand Zocial Awards 2020 ปรับเกณฑ์ตัดสินใหม่เพียบ - Forbes Thailand

ไวซ์ไซท์ เตรียมจัดใหญ่ Thailand Zocial Awards 2020 ปรับเกณฑ์ตัดสินใหม่เพียบ

ไวซ์ไซท์ ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย เตรียมจัดใหญ่งานประกาศผล Thailand Zocial Awards 2020 ปรับเกณฑ์ตัดสินใหม่ใช้ทั้งดาต้า-เมนทอร์-AI สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น ยกระดับการทำงานกับโซเชียลมีเดีย

กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานจัดประกาศผลรางวัลโซเชียลมีเดียมาตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งไวซ์ไซท์มีคอนเซปท์ของงานที่มีวิวัฒนาการตามเทรนด์โซเชียลมีเดียมาอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ขอประกาศจัดงาน Thailand Zocial Awards 2020 ภายใต้คอนเซปท์ SHIFT: Make It Shift โดยใช้ดาต้าที่กว้างและครอบคลุมกว่าเดิมในการจัดรางวัล

“ดาต้าในโลกโซเชียลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราคิดว่าโจทย์ปีนี้น่าจะทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ทั้งในด้านรางวัลและข้อมูล จึงเกิดเป็นคอนเซปท์ SHIFT ซึ่งหมายถึงการยกระดับไปอีกขั้น เพื่อพาทุกคนยกระดับการทำงานกับโซเชียลมีเดียด้วยการวัดผลข้อมูลโซเชียลที่เห็นภาพรวมชัดเจนกว่าเดิม และคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำที่สุดผ่านเครื่องมือของเรา โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นงานที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เราเคยทำมา”

กล้า ตั้งสุวรรณ

กล้า กล่าวว่า โดยงานที่ปกติจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคืองานสัมมนาและงานประกาศผลรางวัล จัดในวันเดียวกัน แต่ในปีนี้จะจัดแยกเป็น 2 วัน คือ งานสัมมนาจะจัดขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2020 และงานประกาศรางวัลจะจัดขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2020 โดยในวันประกาศรางวัลครั้งนี้ มีการแจกรางวัลทั้งหมด 195 รางวัล (มีรางวัลให้ทั้งผู้ชนะและผู้เข้าชิง) ใน 5 กลุ่ม คือ รางวัลแบรนด์ที่ทำผลงานบนโซเชียลมีเดียยอดเยี่ยมตามกลุ่มธุรกิจ, รางวัลแบรนด์ที่ทำผลงานบนโซเชียลมีเดียยอดเยี่ยมโดยแพลตฟอร์ม, รางวัลคนบันเทิงบนโซเชียลมีเดียยอดเยี่ยม, รางวัลผู้มีอิทธิพลบนโซเชียลมีเดียยอดเยี่ยม และรางวัลบุคคลทรงคุณค่าในวงการโซเชียล

สำหรับในรางวัลกลุ่มธุรกิจหรือแบรนด์ มีการเพิ่มประเภท 3 หมวดใหม่ คือ Building and Design Material วัสดุก่อสร้างและออกแบบ, Gold and Jewelry ทองและอัญมณี และด้าน  Delivery Service Provider หรือธุรกิจส่งของเดลิเวรี่ นอกจากนี้ยังแยกหมวด Dairy Food Products ออกมาจากหมวดอาหาร และแยกหมวด Home Furnishing Retailer ออกมาจากหมวดห้างสรรพสินค้า

กลุ่มธุรกิจหรือแบรนด์มีการเพิ่ม 3 หมวดใหม่ ส่วนกลุ่มเอนเตอร์เทนเมนต์มีการเพิ่ง 2 หมวดใหม่

ขณะที่รางวัลในกลุ่มเอนเตอร์เทนเมนต์ ได้เพิ่มประเภทใหม่ 2 หมวด คือ เพลงไทย และพอดแคสต์ไทย ส่วนรางวัลกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ได้เพิ่มประเภทใหม่ 2 หมวด คือ หมวด Automotive ยานยนต์, หมวด Environment รักษาสิ่งแวดล้อม, หมวด Family & Senior ครอบครัวและผู้วัย และหมวด Home and Living หรือการดูแลบ้าน และมี 2 หมวดที่แยกมาจากหมวดเดิม คือ Cooking แยกจากอาหาร และแฟชั่นแยกจากบิวตี้ ทำให้รางวัลในกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์จะมีทั้งหมด 17 รางวัล

กล้า ระบุด้วยว่า การจัดรางวัลในปีนี้ส่วนหนึ่งยังอาศัยการตัดสินจากเมนทอร์ ซึ่งปีนี้มีเมนทอร์มากที่สุด ครบทั้งจากฝั่งมีเดีย เอเจนซี่ บันเทิง วิชาการ ซึ่งจะมาช่วยให้การวัดผลมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาศัยดาต้าที่กว้างและครอบคลุมที่สุด ไม่ใช่พิจารณาแค่ยอดไลค์ คอมเมนต์ หรือยอดแชร์อย่างเช่นในปีก่อนๆ

ขณะที่เมตริกที่ใช้ในการตัดสินรางวัลด้านแบรนด์ปีนี้ใช้ทั้งหมด 3 แกนด้วยกัน คือ

  • Brand Growth ซึ่งนอกจากจะดูที่จำนวนผู้ติดตาม และปฏิสัมพันธ์จากผู้ติดตามในทุกช่องทางแล้ว ยังดู intention หรือคอมเมนต์คุณภาพซึ่งจะใช้ AI ในการประมวลผล รวมถึงยังดู Recommendations หรือการแนะนำคนอื่นเช่นการแท็กเพื่อนในโพสต์
  • Consumer Satisfactions หรือความพึงพอใจของผู้บริโภค ซึ่งจะดูจากความรู้สึก (sentiment), อัตราการตอบสนอง (response rate) และระยะเวลาในการตอบสนอง (response time)
  • Innovation คือการเปิดเทคนิคใหม่ๆ ให้แบรนด์อื่นๆ ได้ทำตาม โดยในส่วนนี้จะใช้การคัดเลือกมาแล้วให้เมนทอร์เป็นผู้ตัดสิน
แกนหลักที่ใช้ในการตัดสินกลุ่มแบรนด์และกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์

สำหรับรางวัลกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ในปีนี้หลักๆ คือมีการเปลี่ยนหมวดของอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งอาศัยคอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่อินฟลูเอนเซอร์โพสต์เป็นตัวจัด ทำให้อินฟลูเอนเซอร์ 1 คนสามารถอยู่ได้หลายหมวด ส่วนเมตริกที่ใช้ในฝั่งอินฟลูเอนเซอร์นอกจากผู้ติดตาม, ปฏิสัมพันธ์ และความรู้สึก ยังมีคอมเมนต์คุณภาพและการได้รับการแนะนำ ขณะที่เมตริกที่ใช้ในการจัดรางวัลกลุ่มเอนเตอร์เทนเมนต์ ได้แก่ การบริหารจัดการช่องทาง และความนิยมที่ได้รับจากแฟนๆ

 

เกณฑ์ใหม่สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น

กล้า ระบุว่า การปรับปรุงเกณฑ์วัดผลในปีนี้เพราะอยากให้วิธีการวัดผลสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น เพราะผลที่ออกมาคนต้องเชื่อว่าดีจริง ขณะที่โซเชียลมีเดียเปลี่ยนเร็วมาก และปัจจุบันยอดไลค์เยอะก็อาจไม่ได้แปลว่าดี ทั้งนี้ จากภาพการเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งในเวียดนามและอินโดนีเซียที่ก้าวกระโดด แต่ถ้าเติบโตในโครงสร้างที่ไม่มั่นคงจะกลายเป็นหนึ่งสื่อที่คนไม่เชื่อ เช่น คิดราคาแพงเกินจริง แบรนด์ลงโฆษณาแล้วไม่เวิร์ค แบรนด์ก็ถอย คนดูก็ออก วงการก็อยู่ไม่ได้ การวัดผลจึงเป็นจุดสมดุลที่ทำให้เกิดความยั่งยืนในวงการ

“ส่วนการจัดหมวดอินฟลูเอนเซอร์ใหม่เนื่องจากเราพยายามแก้ pain point ที่ว่าอินฟลูเอนเซอร์จำเป็นต้องมีสายด้วยหรือ ในเมื่อปัจจุบันเราพบว่าอินฟลูเอนเซอร์สายบิวตี้เฉลี่ยโพสต์เกี่ยวกับบิวตี้เพียง 40% เท่านั้น เราจึงพยายามดีไซน์เกณฑ์การตัดสินให้ชัดเพื่อให้รู้ว่าอินฟลูเอนเซอร์มี engagement ด้านไหนดี และใครคือคนที่มีศักยภาพมากที่สุด”

สัดส่วนโพสต์ของอินฟลูเอนเซอร์สายบิวตี้ โดยสีชมพูหมายถึงเนื้อหาด้านบิวตี้, สีน้ำเงินคือเนื้อหาด้านท่องเที่ยว และสีเหลืองคือเนื้อหาด้านอาหาร

กล้า ยังเผยถึงเหตุผลที่แบรนด์ใช้กลยุทธ์อินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งแล้วไม่ประสบผลตามที่หวังนั้นมาจากสาเหตุหลักๆ คือ การเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่ไม่เหมาะกับแคมเปญ, แบรนด์ไม่เข้าใจผู้ติดตามของอินฟลูเอนเซอร์ และการใช้การวัดผลที่ไม่ครอบคลุม

“แม้เห็นการเลิกซื้อจากแบรนด์บ้างแต่อินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งในไทยยังเป็นขาขึ้นอยู่ โดยแพลตฟอร์มสำคัญยังมีอิทธิพลอยู่เหมือนเดิม แต่ก็มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ให้นักการตลาดได้ลองเล่น เช่น  TikTok, Facebook Watch เป็นต้น แต่จะสร้าง impact ต่อผู้บริโภคขนาดไหนดาต้าจะเป็นตัวบอก ทั้งนี้ เรามีการปรับประมาณการยอดแชร์ข้อความจากทุกแพลตฟอร์มจากต้นปีที่ประมาณไว้ว่าจะอยู่ที่ 6.3 หมื่นล้านข้อความ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 40% ในปีนี้ ซึ่งหลักๆ มาจาก Twitter”  

เวทีสัมมนาจัดเต็มจาก 12 แพลตฟอร์ม

สำหรับงานสัมมนาในปีนี้ ไวซ์ไซท์ได้รวบรวมแพลตฟอร์มชั้นนำมาขึ้นบรรยายมากที่สุดถึง 14 บรรยาย จาก 12 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Facebook, Facebook Watch, Line, Line TV, Spotify, Pantip, AIS Play, YouTube, TikTok, Twitter, JOOX, WeTV และ 2 บรรยายพิเศษจาก อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) และ กล้า ตั้งสุวรรณ จาก Wisesight

นอกจากนี้ยังเสวนาพิเศษจากทั้งโซเชียลแพลตฟอร์มและกูรูด้านการทำการตลาดออนไลน์ ที่นำเสนอเทรนด์ ข้อมูลเจาะลึก รวมถึงวิธีการวัดผลรูปแบบใหม่เพื่อให้นักการตลาดสามารถนำไปวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคบนโซเชียลที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ทั้งนี้ งาน Thailand Zocial Awards 2020 จะมีขึ้นในวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วัน

 

Forbes Facts

  • ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) ยังเปิดเผยสถิติที่น่าสนใจ คือ อินฟลูเอนเซอร์กลุ่มที่แบรนด์สร้างแคมเปญด้วยมากที่สุด คือ ไลฟ์สไตล์, บิวตี้, เกม, อาหารและฟิตเนส
  • กลุ่มธุรกิจที่มีการสื่อสารบนโซเชียลมีเดียมากที่สุดในช่วงเวลา ม.ค.-ก.ย.2019 ได้แก่ บิวตี้ 5 หมื่นโพสต์ และห้างสรรพสินค้า 4 หมื่นโพสต์
  • ช่วง ม.ค.-ก.ย.2019 หน่วยงานรัฐสื่อสารบนโซเชียลมีเดีย 6 หมื่นโพสต์ มากสุดคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งโพสต์บ่อยในช่วงเหตุการณ์พะยูนมาเรียม รองลงมาคือหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine