ไดกิ้น สร้างยอดขาย 1.2 หมื่นล้าน ครองส่วนแบ่งตลาด “แอร์” 26% ผลลัพธ์กลยุทธ์บุกต่างจังหวัด - Forbes Thailand

ไดกิ้น สร้างยอดขาย 1.2 หมื่นล้าน ครองส่วนแบ่งตลาด “แอร์” 26% ผลลัพธ์กลยุทธ์บุกต่างจังหวัด

"ไดกิ้น" คาดปิดยอดขายปีนี้ 1.2 หมื่นล้าน เติบโต 15% สูงกว่าตลาด มาร์เก็ตแชร์ 26% จากกลยุทธ์ปรับเซ็กเมนต์เครื่องปรับอากาศสบาย อินเวอร์เตอร์ตีตลาดลูกค้าต่างจังหวัด เตรียมแผนปี 2562 ลุยต่อตลาดแอร์ภูธร ฟากแอร์คอมเมอร์เชียลเจาะงานโครงการเปลี่ยนแอร์ใหม่ ลงทุน 30 ล้านบาทสร้างศูนย์บริการ Daikin Customer Care Center

Akihisa Yokoyama ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด เปิดเผยว่า ยอดขายของเครื่องปรับอากาศ "ไดกิ้น" ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่จะจบในเดือนมีนาคม 2562 คาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 15% จากปีก่อนหน้า และมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 26% จากมูลค่าตลาดรวม 47,300 ล้านบาท โดยไดกิ้นเป็นผู้นำอันดับ 1 ทั้งแอร์สำหรับที่อยู่อาศัย (Room Air), แอร์ฝังฝ้า (Sky Air) และ แอร์ระบบ VRV Split Type

Yokoyama กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของไดกิ้นต้องการจะเป็นอันดับ 1 ในไทยต่อไป สร้างส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 28% ภายในปีหน้า จากมูลค่าตลาดที่คาดว่าจะเติบโตเป็น 5 หมื่นล้านบาท และหวังว่าจะสร้างยอดขายแตะ 1.4 หมื่นล้านบาทได้ภายในปี 2563

สมพร จันกรีนภาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด กล่าวเสริมว่า ตลาดเครื่องปรับอากาศปี 2561 มีการเติบโตในแง่จำนวนเครื่องที่ 8% แต่ยอดขายคิดเป็นมูลค่าโต 5% เนื่องจากราคาแอร์อินเวอร์เตอร์ที่ปรับลงมาใกล้เคียงกับแอร์ธรรมดามากขึ้น แต่ไดกิ้นสามารถเติบโตได้มากกว่าตลาด จากกลยุทธ์ปีนี้ที่เจาะกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดมากกว่าที่เคย

เราใช้ณเดชน์ คูกิมิยะ เป็นพรีเซ็นเตอร์มาตั้งแต่ปี 2558 ทำให้การรับรู้แบรนด์เพิ่มจาก 60% เป็น 98-99% แต่เราได้ survey ลูกค้าต่างจังหวัดเพิ่มพบว่า แม้ลูกค้ารู้จักไดกิ้นแต่ก็ยังไม่ตัดสินใจซื้อ เพราะเขามองว่าเป็นของราคาสูง ปีนี้เราจึงออกรุ่นสบาย อินเวอร์เตอร์ ที่มีราคาสูงกว่าแอร์ธรรมดาเพียง 500 บาทเพื่อให้จับต้องได้มากขึ้น

ณเดชน์ คูกิมิยะ พรีเซ็นเตอร์ที่ช่วยเร่งการรับรู้แบรนด์ให้ ไดกิ้น

สมพรกล่าวต่อว่า สัดส่วนในยอดขายแอร์ไดกิ้นของปีนี้จึงปรับเป็นตลาดต่างจังหวัด 50% และกทม. 50% ซึ่งปีหน้าไดกิ้นจะยังโหมตลาดต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มจำนวนบุคลากรทั้งเซลส์และช่างบริการในต่างจังหวัดจาก 800 คนเป็น 900 คน เชื่อว่าสัดส่วนยอดขายจากตลาดต่างจังหวัดจะมากขึ้นเป็น 60%

สำหรับยอดขายแอร์กลุ่มคอมเมอร์เชียลติดตั้งให้กับลูกค้าโครงการซึ่งเป็นสัดส่วน 50% ในยอดขายของไดกิ้น สมพรมองว่า ปีหน้าเศรษฐกิจซึ่งเป็นแรงผลักดันตลาดแอร์คอมเมอร์เชียลอาจจะแผ่วลง การลงทุนโครงการใหม่ไม่สูงมาก ทำให้ไดกิ้นจะเน้นเจาะตลาดตลาดกลุ่มโครงการที่ต้องการเปลี่ยนมาใช้เครื่องปรับอากาศประสิทธิภาพสูง เปลี่ยนเป็นแอร์อินเวอร์เตอร์ซึ่งประหยัดไฟกว่า

 

เปิด Customer Care Center ยกระดับงานบริการ

นอกจากกลยุทธ์การตลาดแล้ว ปีนี้ไดกิ้นยังลงทุนด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ โดย พรเทพ พรประภา ประธานกรรมการ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทมีการลงทุน 30 ล้านบาท ปรับปรุงอาคารพื้นที่ 1,300 ตร.. ย่านพัฒนาการ เพื่อเป็น Daikin Customer Care Center

ภายในอาคารเป็นศูนย์รวมช่างบริการซ่อมแอร์ โกดังเก็บชิ้นส่วนอะไหล่ มีศูนย์ Daikin Remote Monitoring System (DRMS) เพื่อบริการมอนิเตอร์ระยะไกลการจัดการพลังงานและความเสียหายของเครื่องปรับอากาศระบบ VRV ของลูกค้าโครงการที่ทำสัญญาบริการ DRMS กับบริษัท

พรเทพ พรประภา ประธานกรรมการ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด เยี่ยมชมศูนย์ DRMS

สัมฤทธิ์ ถนอมรอด ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด กล่าวเสริมว่า ระบบ DRMS ที่เปิดตัวปีนี้เริ่มให้บริการแล้วกับแอร์ระบบ VRV ในสำนักงานไดกิ้นเอง และลูกค้าโครงการแห่งแรกคือสินสาธร

นอกจากนี้ งานบริการของบริษัทยังพัฒนาแอปพลิเคชั่น My Daikin ขึ้น สำหรับให้ลูกค้าแจ้งซ่อมแอร์ที่พักอาศัยได้ด้วยตนเองตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากต้องการโทรศัพท์หาคอลเซ็นเตอร์ ไดกิ้นมีการบริการตั้งแต่ 07.00-22.00. ซึ่งเดือนมกราคม 2562 บริษัทจะขยายเวลาการบริการของคอลเซ็นเตอร์เป็น 07.00-00.00. เพื่อรับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น พร้อมๆ กับการอบรมช่างซ่อมแอร์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการช่างแอร์ดีดีของบริษัท

บรรยากาศภายใน Daikin Customer Care Center