สยามแม็คโครปักหมุดจีน-เมียนมา ขยาย 'สาขาดิจิทัล' แห่งแรกที่ลาดกระบัง - Forbes Thailand

สยามแม็คโครปักหมุดจีน-เมียนมา ขยาย 'สาขาดิจิทัล' แห่งแรกที่ลาดกระบัง

ยักษ์ค้าส่ง "สยามแม็คโคร" บุกต่างประเทศต่อเนื่อง เตรียมเปิดสาขาใหม่ในจีนและเมียนมาภายในปีนี้ คาดหวังสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 20% ภายใน 5 ปี ด้านกลยุทธ์ในไทย เปิด "สาขาดิจิทัล" แห่งแรกที่ลาดกระบัง ปรับกระบวนการทำงานเพื่อความสะดวกต่อลูกค้า-พนักงาน

สุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร เปิดเผยถึงกลยุทธ์การรุกตลาดต่างประเทศของบริษัทที่ดำเนินมาต่อเนื่อง 2 ปี ปัจจุบันสยามแม็คโครมีสาขาบริการในกัมพูชาแล้ว 2 สาขา และ อินเดีย 3 สาขา นอกจากนี้ยังมีบริการของบจ.สยามฟูดเซอร์วิส (นำเข้าและจำหน่ายอาหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบพรีเมียมให้กับผู้ประกอบการ) เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าโรงแรม ใน 5 ประเทศ คือ กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ ฮ่องกง และ UAE ปีนี้สยามแม็คโครจะเปิดตัวในต่างประเทศเพิ่มอีก ได้แก่ จีน 1-2 สาขา ทั้งหมดในเมือง Guangzhou โดยเป็นสาขาแม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิสขนาดเล็กประมาณ 2,000 ตร.ม. คาดว่าจะเปิดตัวได้ช่วงไตรมาส 3/62 และจะเปิด 1 สาขาใน Yangon ประเทศเมียนมา ภายในสิ้นปีนี้ “เราเน้นเฉพาะที่ Guangzhou เท่านั้นเพราะแค่เมืองนี้เมืองเดียวก็มีประชากร 100 ล้านคนแล้ว และยังเป็นเมืองที่มีร้านอาหารเยอะมาก ทำให้เลือกเปิดเป็นแม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิส”
สุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร
สุชาดายังกล่าวด้วยว่า ปี 2562 สยามแม็คโครมีงบลงทุนในต่างประเทศทั้งหมด 2 พันล้านบาท จากงบลงทุนรวม 8.5 พันล้านบาท โดยตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ (รวมทั้งรายได้สาขาและรายได้ธุรกิจสยามฟูดเซอร์วิส) จะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ภายใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ 4% เท่านั้น ส่วนการทำกำไรน่าจะเกิดขึ้นได้อย่างน้อย 3 ปีหลังจากเริ่มลงทุน  

เดินเกมสาขาเล็กเจาะตลาดอินเดีย

ตลาดหนึ่งที่สยามแม็คโครหมายมั่นปั้นมือมากจากขนาดประชากรที่สูงถึง 1.3 พันล้านคนคือ “อินเดีย” โดยบริษัทมีการลงทุน 3 สาขาแล้วนับตั้งแต่เริ่มต้นลงทุนเมื่อเดือนมกราคม 2560 ทั้งหมดอยู่ในกรุง New Delhi แต่ได้เปลี่ยนชื่อแบรนด์ที่ใช้เป็น LOTS เฉพาะในอินเดีย สุชาดากล่าวว่า กลยุทธ์ของบริษัทที่ใช้กับตลาดอินเดียนั้นได้จากการวิจัยโดยบริษัทที่ปรึกษา พบว่าธุรกิจร้านค้าส่งในอินเดียส่วนใหญ่ไม่ทำกำไร ซึ่งสยามแม็คโครได้แก้ปัญหานั้นด้วยการเลือกเปิดสาขาในเมือง ไม่ออกไปในย่านชานเมือง ทำให้สาขาที่เปิดจะเป็นขนาดเล็กประมาณ 3,000 ตร.ม.เท่านั้นเนื่องจากหาที่ดินค่อนข้างยาก “เราศึกษาพบว่าพฤติกรรมคนอินเดียจะไม่ชอบเดินทางไปนอกเมือง เราจึงเปิดในเมือง และเราพบว่าร้านโชห่วยที่นั่นมีมากถึง 15 ล้านแห่ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นร้านขนาดเล็ก มีคนดูแลคนเดียว ดังนั้นผู้ซื้อของเราส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มยี่ปั๊วซาปั๊วและร้านค้าขนาดกลางบางส่วนที่มาซื้อเอง” สุชาดาอธิบาย “ไปทีหลังก็ไม่ได้เสียเปรียบ เพราะเราเรียนรู้จากคนที่เคยพลาดได้”
ร้านค้าส่ง LOTS ภายใต้การลงทุนของ บมจ.สยามแม็คโคร ในอินเดีย (PHOTO CREDIT: indiaretailing.com)
ทั้งนี้ สาขาทั้ง 3 แห่งของสยามแม็คโครจะกระจายกันไปในหลายพื้นที่ใน New Delhi ได้แก่ พื้นที่เน้นเจาะกลุ่มเทรดเดอร์ พื้นที่ท่องเที่ยวของคนท้องถิ่น และพื้นที่แหล่งออฟฟิศ เพื่อศึกษาตลาดและลูกค้า  

สาขาดิจิทัล แห่งแรกของแม็คโคร

สำหรับในประเทศไทย ปีนี้จะมีการเปิดตัวทั้งหมด 7-8 สาขาใหม่โดยเน้นสาขาแม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิสขนาดเล็ก 1,000-4,000 ตร.ม. และหนึ่งในนั้นจะเปิดเป็นสาขาดิจิทัลแห่งแรกคือ แม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิส สาขาลาดกระบัง พื้นที่ 2,500 ตร.ม. ซึ่งสาขาที่ปรับเป็นดิจิทัลนี้จะใช้งบลงทุนเพิ่มจากปกติ 220 ล้านบาทเป็น 250 ล้านบาท เพื่อปรับอุปกรณ์ภายในให้รองรับ สุชาดาอธิบายว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนไปคือเชลฟ์วางสินค้าจะมีป้ายบอกราคาเป็นหน้าจอดิจิทัลซึ่งเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าหรือโปรโมชั่น จะปรากฏที่ป้ายได้ทันที เป็นการลดงานของพนักงานที่ปกติจะต้องนำป้ายกระดาษใหม่ไปเปลี่ยน ณ หน้าชั้นวางสินค้า นอกจากนี้จะมีการติดตั้งจอทัชสกรีนให้ลูกค้าศึกษาราคาและโปรโมชั่นได้ แทนที่โบรชัวร์ราคาแบบกระดาษ รวมไปถึงขั้นตอนการชำระเงินจะสะดวกขึ้นด้วยอี-เพย์เม้นท์ และมีระบบ Queue Busting คือพนักงานจะนำอุปกรณ์มาสแกนบาร์โค้ดสินค้าถึงรถเข็น กิจกรรมที่หน้าเคาน์เตอร์จะเหลือเพียงการชำระเงินเท่านั้น จะทำให้แถวชำระเงินรวดเร็วขึ้น
ปีนี้สยามแม็คโครจะมีการเปิดตัว แม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิส สาขาดิจิทัลแห่งแรก ซึ่งจะลงทุนมากกว่าสาขาปกติราว 30 ล้านบาท
สาขาทดลองนี้จะเปิดตัวในไตรมาส 3/62 ส่วนการขยายไปยังสาขาใหม่หรือปรับปรุงสาขาเดิมนั้นยังไม่มีแผนภายในปีนี้ เนื่องจากต้องการรอผลตอบรับจากสาขาแรกก่อน สำหรับรายได้ของ บมจ.สยามแม็คโคร ตามรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 192,930 ล้านบาท เติบโต 3.3% จากปีก่อนหน้า และกำไรสุทธิ 5,942 ล้านบาท ลดลง 3.8% จากปีก่อนหน้า   Forbes Facts การลงทุนสาขาต่างประเทศกลุ่มร้านค้า Cash and Carry ทั้งหมดของสยามแม็คโครเป็นการลงทุนเอง 100% ยกเว้นสาขาในกัมพูชาซึ่งมีการร่วมทุน ฝั่งสยามแม็คโคร 70% กับพาร์ทเนอร์ในกัมพูชา 30% ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน