"ไปใหญ่ไม่ได้ ก็ไปเล็ก" - "ZEN" ส่งแฟรนไชส์ "ร้านเขียง" เจาะปั๊ม ปตท. - Forbes Thailand

"ไปใหญ่ไม่ได้ ก็ไปเล็ก" - "ZEN" ส่งแฟรนไชส์ "ร้านเขียง" เจาะปั๊ม ปตท.

“ZEN” เปิดแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง จับมือ ปตท. เช่าพื้นที่ในปั๊มขยายแฟรนไชส์แบรนด์สตรีทฟู้ดร้านเขียง ตั้งเป้ารายได้เติบโต 15-20%

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร (Food Services) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลัง บริษัทฯ จะเน้นไปที่การขยายสาขาอย่างต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองต่างจังหวัดที่มีศักยภาพ โดยตั้งเป้าปีนี้เปิดสาขาใหม่รวมทุกแบรนด์ 123 สาขา โดยล่าสุด บริษัทฯ ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ ปตท. โดย ปตท.ให้การสนับสนุนพื้นที่เช่าภายในสถานีบริการน้ำมันแก่บริษัทฯ เพื่อเปิดร้านอาหาร ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่พร้อมรองรับการขยายสาขาครึ่งปีหลังแล้วกว่า 70 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

"เราเล็งเห็นว่า ปตท. ซึ่งมีสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม) PTT Station กว่า 1,700 แห่งทั่วประเทศ เป็นแบรนด์ปั๊มน้ำมันที่มีทำเลโดดเด่นที่สุด มีทราฟิกการใช้บริการสูงกว่าแบรนด์อื่น"

บุญยง กล่าวว่า ทำเลส่วนหนึ่งของสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ที่บริษัทฯ มีจะเน้นไปที่การขยายสาขาแฟรนไชส์ของร้านอาหารสตรีทฟู้ดน้องใหม่ของเครืออย่างร้านเขียง (Khiang by tummour) แบรนด์ร้านอาหารไทยตามสั่งแนวสตรีทฟู้ดที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกลางเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 9 สาขา สิ้นไตรมาส 2 จะเปิดร้านเขียงได้ทั้งสิ้น 17 สาขา โดยรวมแล้วคาดว่าปีนี้จะเปิดร้านเขียงและตำมั่วเพิ่มรวมกันราว 80 สาขา

"นอกจากนี้ ยังเดินหน้าขยายสาขาแบรนด์แม่ของบริษัทฯ เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่น Zen, ร้าน On the Table และร้านปิ้งย่าง AKA เป็นต้น อีกราว 40 กว่าสาขา ทำให้ปีนี้ บมจ.เซ็น จะมีร้านอาหารในไทยรวมแล้ว 378 สาขา ขณะที่ในต่างประเทศที่เปิดอยู่ 3 แบรนด์ คือ Zen, On the Table และ AKA รวม 8 สาขาใน 3 ประเทศ ปีนี้จะเปิดเพิ่ม 2 สาขา

 

"เขียง" หัวหอกธุรกิจแฟรนไชส์เครือเซ็นฯ

ซีอีโอ บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป เผยว่า แนวทางการขยายสาขาของแบรนด์เขียงมี 5 แนวทางด้วยกัน คือ ปั๊มน้ำมัน, คอมมูนิตี้มอลล์, สแตนด์อะโลน, การจับคู่อยู่ด้วยกันกับตำมั่วเอ็กซ์เพรส และรูปแบบ DelCo ที่จะเน้นไปที่การส่งเดลิเวรี่ และในอนาคตยังตั้งเป้าขยายสาขาไปในโรงพยาบาล ตึกแถว มหาวิทยาลัย จุดพักรถ และพื้นที่สนามบิน ทั้งนี้ เร็วๆ นี้จะเปิดให้บริการใน metro mall ในรูปแบบ Take away ด้วย 

ร้านเขียงจะเป็นร้านเล็กๆ เริ่มต้นขนาด 50 ตารางเมตร เมนูของร้านเมนูอาหารตามสั่ง เช่น ข้าวผัดกะเพรา ผัดซีอิ๊ว ข้าวไข่เจียว ราคาอยู่ที่ 50-150 บาท โดยหลังจากเปิดให้บริการมาจนถึงปัจจุบัน ได้รับผลตอบรับอย่างดี มียอดขายเฉลี่ยสาขาละ 400,000-450,000 บาท/เดือน ที่น่าสนใจคือในช่วงแรกเราตั้งเป้าโฟกัสไปที่กลุ่มลูกค้านั่งทานที่ร้าน แต่พบว่าเมื่อเราจับมือร่วมกับบริการเดลิเวรี่อาหาร เช่น Grab Food, Line man ทำให้เรามีสัดส่วนยอดซื้อ Take away สูงราว 10-20%”

"เขียง" แบรนด์ร้านอาหารน้องใหม่จากเครือ ZEN รูปแบบเป็นเมนูตามสั่ง

บุญยง กล่าวอีกว่า สำหรับการเปิดร้านเขียงที่ผ่านมา เป็นการดำเนินการที่บริษัทลงทุนเอง ซึ่งต่อไปบริษัทฯ จะเน้นไปที่การขายแฟรนไชส์ให้กับผู้สนใจ รวมถึงขายสาขาร้านเขียงที่เปิดอยู่เดิมให้ผู้สนใจด้วย ซึ่งจะเหลือร้านเขียงของบริษัทฯ ไว้ราว 2-3 สาขา เพื่อใช้สำหรับการเทรนนิ่ง

โดยการลงทุนสำหรับเปิดแฟรนไชส์ร้านเขียงสำหรับผู้สนใจนั้นมีค่าก่อสร้าง 1.8 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 4 แสนบาท และค่าธรรมเนียมรายเดือน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13-16 มิถุนายนนี้ บริษัทฯ จะเข้าร่วมออกบูธในงานมหกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ โดยไฮไลท์อยู่ที่การนำพื้นที่เช่าภายใน PTT Station และพื้นที่อื่นๆ มานำเสนอแก่ผู้สนใจ พร้อมนำเสนอโปรโมชั่นพิเศษแก่ผู้จองสิทธิ์แฟรนไชส์ในงาน โดยคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า 3.5 แสนบาท และคิดค่าธรรมเนียมรายเดือนอัตราคงที่ 12,500 บาท จากปกติคิดจากส่วนแบ่งรายได้ต่อเดือน

เมื่อก่อนเรามีแต่ร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ใหญ่ที่ราคาอยู่ในระดับกลาง-บน ตั้งอยู่กลางห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ แต่ในบางครั้งเราต้องเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ธุรกิจเราไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างปกติ เช่น การชุมนุมในย่านราชประสงค์ ซึ่งเป็นย่านที่เรามีร้านอาหารอยู่กว่า 7 ร้าน เราจึงเปิดร้านอาหารไทย จนมาสู่ร้านอาหารไทยสตรีทฟู้ดขนาดเล็ก ซึ่งมองว่าจะช่วยกระจายความเสี่ยง เข้าถึงโอกาสในการเจาะลูกค้ากลุ่มอื่นมากขึ้น ตามกลยุทธ์ของเราคือ ไปญี่ปุ่นไม่ได้ ก็ไปแบรนด์ไทย ไปใหญ่ไม่ได้ ก็ไปเล็ก

บุญยง เสริมอีกว่า จากภาพรวมตลาดธุรกิจอาหารในประเทศไทยที่มีมูลค่าราว 8 แสนล้านบาท มีส่วนแบ่งเป็นอาหารสตรีทฟู้ดอยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาท และยังมีโอกาสเติบโตได้อีก เพราะเป็นอาหารที่คนทานทุกวัน จึงเป็นโอกาสของบริษัทฯ ที่จะเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งในเซ็กเมนต์นี้ จากเดิมที่ธุรกิจของ บมจ.เซ็นฯ อยู่ในกลุ่ม Full Service เพียงอย่างเดียว  

ตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 15-20%

ยุพาพรรณ เอกสิทธิกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินและบัญชี ZEN กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ปีที่ผ่านมามีรายได้ 3,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2560 ที่มีรายได้ 2,500 ล้านบาท ขณะที่กำไรปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 140 ล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้ารายได้เติบโต 15-20% และตั้งงบลงทุนกว่า 230 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจตามแผนที่วางไว้ โดยหลังจากบริษัทฯ ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ ZEN มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนและต้นทุนทางการเงินลดลง รวมถึงมีความพร้อมในการขยายธุรกิจอย่างเต็มที่

"บริษัทฯ ยังปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้จากบริการเดลิเวรี่ในปีนี้เป็น 100 ล้านบาท หลังจากมีกระแสตอบรับดี ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถการทำกำไรให้ดีขึ้น เนื่องจากสามารถแชร์ต้นทุนด้านบุคลากรร่วมกับสาขาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันได้มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพบริหารต้นทุนและควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ เพื่อเพิ่มอัตรากำไรที่ดีขึ้นด้วย     รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creator
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine