การศึกษาล่าสุดของ Facebook และ เบน แอนด์ คอมพานี เผย ช็อปออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตทั้งภูมิภาค ชี้ “ผู้บริโภคชาวดิจิทัล” ในไทยส่วนใหญ่ ไม่แน่ใจว่าต้องการอะไรขณะไล่ดูสินค้าออนไลน์
ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นผู้นำด้านการรับรู้และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ โดยมาพร้อมกับตัวเลือกที่เพิ่มมากขึ้น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมและความมั่งคั่งของผู้บริโภค ส่งผลให้กลุ่ม ผู้บริโภคชาวดิจิทัล นี้ได้มีการซื้อสินค้าหรือบริการบนช่องทางออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้งในที่ปีผ่านมา
เพื่อเข้าใจเทรนด์ดังกล่าวให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น Facebook และเบน แอนด์ คอมพานี จึงได้จัดทำการสำรวจกับกลุ่มคนจำนวน 12,965 คน ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงและนักลงทุนชั้นนำอีกกว่า 30 คนในแถบภูมิภาคนี้ โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจจำนวน 1,954 คนจากประเทศไทย
การศึกษาล่าสุดภายใต้หัวข้อ ‘Riding the Digital Wave: Southeast Asia’s Discovery Generation’ นั้นได้รับการต่อยอดมาจากรายงานการวิจัยร่วมระหว่าง Facebook และเบน แอนด์ คอมพานี ซึ่งจัดทำขึ้นในปี พ.ศ.2561 เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการเติบโตของชนชั้นกลางในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจว่าผู้บริโภคมีส่วนช่วยพัฒนาและกำหนดแนวทางในอนาคตของอี-คอมเมิร์ซสำหรับในภูมิภาคแถบนี้ได้อย่างไรบ้าง การศึกษาครั้งใหม่เผยให้เห็นว่า ชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้มีส่วนผลักดันผู้บริโภคยุคดิจิทัลให้เติบโตถึงร้อยละ 70-80 ภายในปี พ.ศ.2568
ในปี พ.ศ. 2558 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้บริโภคชาวดิจิทัลอยู่ราว 90 ล้านคน โดยในปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นถึง 2.8 เท่า หรือเพิ่มขึ้นเป็น 250 ล้านคน และภายในปี พ.ศ. 2568 คาดการณ์ว่าจำนวนผู้บริโภคชาวดิจิทัลในภูมิภาคนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 310 ล้านคน
โดยการศึกษายังได้ประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าออนไลน์จะเติบโตถึง 4 เท่าทั่วทั้งภูมิภาค และตั้งเป้าการเติบโตมูลค่าการใช้จ่ายถึงเกือบ 5 เท่าในประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกัน
นักช็อปไทยไถนิ้วดูทั้งที่ไม่รู้จะซื้ออะไร
พฤติกรรมการค้นพบสิ่งใหม่ๆ นับเป็นเทรนด์ที่โดดเด่นที่สุด โดยร้อยละ 71 ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยกล่าวว่า พวกเขาไม่แน่ใจว่าต้องการจะซื้ออะไรขณะไล่ดูสินค้าออนไลน์ และมากกว่าร้อยละ 76 ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขารู้จักผลิตภัณฑ์และแบรนด์ใหม่ๆ จากช่องทางออนไลน์
บรรดาผู้บริโภคในไทยยังชื่นชอบการซื้อของจากหลากหลายช่องทาง ร้อยละ 90 ของคนกลุ่มนี้ระบุว่าพวกเขามีการเปรียบเทียบราคาสินค้าจากทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และราคาหน้าร้านก่อนตัดสินใจซื้อ
ผู้บริโภคชาวไทยยังเปิดรับแบรนด์ใหม่ๆ โดยเกือบร้อยละ 60 ได้ลองซื้อสินค้าจากร้านออนไลน์ที่พวกเขาไม่เคยรู้จักมาก่อนในปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยหลัก 3 ประการที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์ประกอบด้วย ยอดรีวิวสินค้าในเชิงบวกจากผู้ใช้งาน คนอื่นๆ ราคาหรือโปรโมชั่นที่ดึงดูดใจ และความน่าสนใจของตัวผลิตภัณฑ์
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่า ร้อยละ 61 ของผู้บริโภคชาวไทยไม่ต้องการรอช่วงลดราคาหรือโปรโมชั่นเพื่อจะซื้อสินค้า
“ขณะนี้เรากำลังก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในธุรกิจค้าปลีกทั่วโลก การซื้อขายสินค้าไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่ที่ร้านค้าเท่านั้นอีกต่อไป ผู้คนยังมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง ข้อสรุปหลักที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้คือ ความสำคัญของการออกแบบเส้นทางการค้นพบสินค้าของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจได้จากหลายช่องทางในเวลาเดียวกัน
“นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ยังจะได้รับโอกาสสำคัญในการแข่งขันภายใต้ขอบเขตที่กว้างขึ้น ไม่ว่าจะทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” John Wagner ผู้อำนวยการบริหาร Facebook ประเทศไทย กล่าว
นอกเหนือจากพฤติกรรมด้านการค้นพบแล้ว การศึกษาดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงโอกาสครั้งใหญ่ในการสร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์ และการเติบโตของธุรกิจเนื่องจากตลาดอี-คอมเมิร์ซยังไม่มีบริษัทใดเป็นผู้เล่นหลัก และโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้บริโภคในประเทศไทยเองมักสำรวจข้อมูลจาก 3.2 ช่องทางออนไลน์ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า
ดังนั้น การครองใจผู้บริโภคในระยะยาวจึงถือเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยซึ่งเป็นสมาชิกของแบรนด์ระบุว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะช่วยโปรโมตสินค้ามากกว่า 1.4 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก โดยมีถึงร้อยละ 40 ที่มักจะช่วยบอกต่อสินค้าประเภทเดียวกัน และอีกร้อยละ 20 ของคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าในประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ขณะนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการนำดิจิทัลมาใช้มากขึ้น ซึ่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดการซื้อขายออนไลน์ในระดับภูมิภาค ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
“ดังนั้น แบรนด์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องจับความสนใจและแนวคิดของผู้บริโภคให้ทัน เพื่อมาประยุกต์ให้เข้ากับแผนการตลาดและการขาย ที่จะสอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แบรนด์ต่างๆ ยังจำเป็นต้องคิดค้นหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์การซื้อสินค้าในเชิงบวกให้กับกลุ่มผู้บริโภคยุคดิจิทัล” ดิเรก เกศวการุณย์ พาร์ทเนอร์ บริษัท เบน แอนด์ คอมพานี กล่าวทิ้งท้าย
อ่านเพิ่มเติมไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine