ซีพีเอ็นเจ้าของโครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต ยืนยันไม่มีการรุกที่ แย้มข้อพิพาทเกิดจากความสับสนระหว่างหน่วยงานรัฐคือ ทอท. และ กรมทางหลวง ย้ำวันเปิดตัว 31 สิงหาคมนี้ร้านค้าพร้อม 70% รอฟังศาลปกครองตัดสินกรณี ทอท. ปิดพื้นที่โดยพลการและขอความคุ้มครองชั่วคราว
ปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ
ซีพีเอ็น แถลงชี้แจงอีกครั้งประเด็นข้อพิพาทการใช้ที่ดินไหล่ทางและเชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นทางเข้าออกโครงการ
เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต ซึ่ง
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ
ทอท. ได้อ้างสิทธิเหนือที่ดินดังกล่าวและเข้าวางเต็นท์ปิดทางเข้าออกโครงการตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2562 เนื่องจากมองว่าซีพีเอ็นเข้าใช้พื้นที่ของตนโดยไม่ขออนุญาต
ปรีชากล่าวยืนยันอีกครั้งว่าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจมีการขออนุญาตถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.พื้นที่โครงการไม่ได้เป็นที่ดินตาบอด มีแนวเขตแนบสนิทกับเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 และได้ขออนุญาตเชื่อมทางกับกรมทางหลวง เจ้าของพื้นที่ผู้มีอำนาจเต็มแต่เพียงผู้เดียว โดยได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562
2.บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร (อ1) ในพื้นที่สีเขียว ก1-10 จาก อบต.บางโฉลง ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2561 โดยไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด
3.บริษัทได้รับใบอนุญาตก่อสร้างและแบบปรับปรุงในเขตปลอดภัยเดินอากาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) วันที่ 30 มกราคม 2560 และ 25 กรกฎาคม 2562
(สามารถอ่านรายละเอียดชี้แจงฉบับเต็มจากซีพีเอ็นด้านท้ายของข่าว)
ทั้งนี้ ปรีชาชี้แจงเพิ่มเติมว่า
ที่ผ่านมาซีพีเอ็นไม่ได้มีการขออนุญาตหรือพูดคุยกับ ทอท. โดยตรงมาก่อน เนื่องจากการใช้ที่ดินต่างๆ ไม่มีส่วนที่ต้องขออนุญาตจาก ทอท. รวมถึงประเด็นความปลอดภัยการเดินอากาศด้วย เพราะซีพีเอ็นมองว่าประเด็นนี้เป็นความรับผิดชอบของ กพท. แต่เพียงผู้เดียว
อย่างไรก็ตาม ทอท.ได้ร่วมรับทราบโครงการเซ็นทรัล วิลเลจในช่วงที่ซีพีเอ็นขออนุญาตเชื่อมทางกับกรมทางหลวง ซึ่งจุดประเด็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานรัฐสองแห่งคือ ทอท. กับกรมทางหลวงว่า หน่วยงานใดเป็นผู้มีสิทธิเหนือทางหลวงหมายเลข 370 แต่ซีพีเอ็นไม่อาจรอให้ข้อพิพาทยุติจึงยึดเอาหลักฐานที่สืบค้นได้ว่าพื้นที่นี้ได้ยกเป็นถนนสาธารณะในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงตั้งแต่ปี 2550 รวมถึงมีป้ายปักแนวเขตว่าเป็นพื้นที่ของแขวงการทางสมุทรปราการอย่างชัดเจน จึงดำเนินการขออนุญาตเชื่อมทางกับกรมทางหลวง มิใช่ ทอท.
"5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มพัฒนาโครงการ เราไม่ได้คุยกับ ทอท. เพราะหนึ่ง ที่ดินเราอยู่นอกเขตเวนคืนที่ดินของ ทอท. และสอง ระเบียบความปลอดภัยการเดินอากาศต้องผ่าน กพท. ซึ่งเป็นผู้กำกับควบคุม ทอท. อยู่แล้ว" ปรีชากล่าว "เรามีการก่อสร้างมา 2 ปี ไม่เคยมีหน่วยงานใดท้วงติงมาก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น"
ย้ำเปิดวันเสาร์นี้ 31 สิงหาคม 2562
จากเหตุการณ์สับสนที่เกิดขึ้นและการปิดทางเข้าออกโครงการโดย ทอท. ซึ่งทำให้ผู้รับเหมาและร้านค้าในโครงการไม่สามารถขนย้ายสิ่งของได้สะดวก ซีพีเอ็นจึงฟ้องร้องต่อศาลปกครองว่า ทอท. เข้าปฏิบัติหน้าที่โดยพลการ และขอความคุ้มครองจากศาลปกครอง ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนเร่งด่วนวันนี้ (28 สิงหาคม 2562)
"ตอนนี้เราถูกปิดทางเข้าออก 2 ด้าน อาจจะเกิดจากความสับสนของหน่วยงานรัฐ แต่การตีความฝ่ายเดียวโดยพลการและเข้าปิดพื้นที่นั้นไม่ถูกต้องทำให้เราต้องฟ้องร้องทางกฎหมาย" ปรีชากล่าว
ปรีชากล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าศาลจะนัดฟังคำตัดสินเมื่อไหร่และจะมีคำสั่งใดๆ ที่ทันต่อการเปิดตัวโครงการในวันเสาร์นี้หรือไม่ แต่
โครงการเซ็นทรัล วิลเลจยืนยันยังคงจะเปิดบริการวันแรกวันที่ 31 สิงหาคม 2562 ตามกำหนดการเดิม โดยมีร้านค้า 70% จาก 150 ร้านค้าที่พร้อมให้บริการ และคาดว่าจะทยอยเปิดบริการได้ครบทั้งหมดภายใน 2-3 เดือน เชื่อว่าจะมีผู้ใช้บริการ 2 หมื่นคนต่อวัน
"โครงการเราทำมานาน 5 ปีก่อนที่จะเกิดการประมูลดิวตี้ฟรี อีกอย่างเอาท์เล็ตเป็นการนำสินค้าตกรุ่นมาลดราคา จึงเป็นคนละเซ็กเมนต์กับดิวตี้ฟรี ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน" ปรีชากล่าวตอบประเด็นที่ผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้ที่เรื่องนี้อาจเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทางการค้า
ในระหว่างนี้ ซีพีเอ็นกำลังพยายามขอเจรจากับ ทอท. เพื่อให้ยกเต็นท์ที่ปิดหน้าถนนโครงการออกก่อนเป็นการชั่วคราวแม้คดีความยังไม่สิ้นสุด แต่ยังไม่มีการตอบรับจาก ทอท. ทั้งนี้ ซีพีเอ็นพร้อมเจรจาในข้อกังวลต่างๆ เช่น ข้อกังวลเหตุรบกวนการบินที่อาจเกิดขึ้น และพร้อมให้หน่วยงานทุกแห่งเข้าตรวจสอบความถูกต้อง
ส่วนกรณีที่ถ้าหากว่าศาลปกครองไม่มีคำสั่งคุ้มครองโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ซีพีเอ็นจะมีมาตรการอื่นๆ รองรับต่อไปซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยได้
โครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต นั้นมีมูลค่าการลงทุน 5 พันล้านบาท บนที่ดิน 100 ไร่ พื้นที่โครงการ 4 หมื่นตารางเมตร ร้านค้า 150 ร้านแบรนด์เนมที่ลดราคาทุกวัน 35-70% ตัวอย่างร้านค้า เช่น Chole, Club 21, Coach, Kate Spade, Kenzo, Michel Kors, Polo Ralph Lauren, Salvatore Ferragamo ฯลฯ
สำหรับความคืบหน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจในช่วง 3 วันก่อนเปิดทำการ ผู้สื่อข่าวพบว่าพื้นที่ภายในมีการก่อสร้างโครงสร้างหลักและตกแต่งสถานที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว จุดที่ยังก่อสร้างไม่เรียบร้อยมีเพียงป้ายและถนนหน้าโครงการ การเก็บงานบางจุด และการตกแต่งภายในและลงสินค้าของร้านค้าต่างๆ ซึ่งการปิดทางเข้าออกโดย ทอท. ทำให้ร้านค้าและผู้รับเหมาต่างต้องจอดรถขนสินค้าจากริมถนนหน้าโครงการ ไม่สามารถเข้าไปจอดด้านในลานจอดรถได้
พื้นที่ในโครงการเป็นแบบ open-air โดยมีร้านค้าตึกเตี้ยเรียงรายสองข้างทาง ความสูงรวมหลังคาตกแต่งสูงประมาณ 3 ชั้น และอยู่ในเขตที่เครื่องบินที่ take-off จะแล่นผ่าน ทำให้มองเห็นเครื่องบินและได้ยินเสียงเครื่องบินได้อย่างชัดเจน
ทอท.แจ้งเป็นผู้ดูแลพื้นที่จากกรมธนารักษ์
อ้างอิงการรายงานจากเว็บไซต์
โพสต์ทูเดย์ ระบุ
นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ซึ่งให้สิทธิ ทอท. ดูแลที่ดินราชพัสดุบริเวณนี้ มีหนังสือมาถึง ทอท.ให้เข้าไปตรวจสอบโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562
จากนั้นจึงรวบรวมข้อมูลจากสายงานต่างๆ แล้วได้ข้อสรุปในเดือนเมษายนว่าให้เซ็นทรัลดำเนินการรื้อถอนถนนปูนเพราะเป็นการรุกล้ำพื้นที่ จากนั้นในเดือนพฤษภาคมเซ็นทรัลดำเนินการแล้วเสร็จ เลยคิดว่าจบกันแล้ว แต่พอผ่านไป 3 เดือน จนมาถึงเดือนสิงหาคม 2562 กลับพบว่ามีการเตรียมติดตั้งท่อและที่กั้นเหล็กเสร็จสรรพพร้อมเปิดใช้ ทอท.จึงเข้าควบคุมพื้นที่
"ตอนนี้กำลังระดมสมองว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ พอจะมีแนวทางเจรจากันได้มั้ย หรือต้องโอนความดูแลพื้นที่กลับไปเป็นของกรมทางหลวงเพื่อให้เข้าเงื่อนไขเดิมที่เคยขออนุญาต" นิตินัยกล่าว
ซีพีเอ็นแจงยิบ ได้รับใบอนุญาตถูกต้องทั้งหมด
ข่าวประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อพิพาทฉบับเต็มจากซีพีเอ็น (ฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2562) ดังรายละเอียดด้านล่างนี้
ประเด็นที่ 1: พื้นที่โครงการมีการเชื่อมทางเข้าออกอย่างถูกต้อง ไม่มีการรุกล้ำที่ดินของภาครัฐ (ที่ราชพัสดุ ลำรางสาธารณะ) และไม่ได้เป็นที่ดินตาบอด
- ที่ดินโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ตั้งอยู่บนที่ดินที่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท.
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เดิมเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมากรมทางหลวงได้พัฒนาเป็นทางหลวงแผ่นดิน โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทำให้ไม่มีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 7 (2) พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 และเป็นพื้นที่คนละบริเวณกันกับที่ภาครัฐเวนคืนมาเพื่อสร้างสนามบินที่ ทอท. ดูแล
- โครงการได้รับอนุญาตเชื่อมทางอย่างถูกต้องจากกรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้ซึ่งมีอำนาจเต็มในการอนุมัติการเชื่อมทางแต่เพียงผู้เดียว
- ทั้งนี้ พื้นที่ทางหลวงหมายเลข 370 หมายรวมถึง เขตทาง และไหล่ทาง ซึ่งติดกับที่ดินของเอกชน 2 ข้างถนน ซึ่งที่ดินของโครงการมีแนวเขตแนบสนิทต่อเนื่องกับเขตทางของ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ดังนั้น ที่ดินของโครงการจึงไม่ใช่ที่ดินตาบอด
ดังนั้น รายละเอียดในส่วนของการโต้แย้งสิทธิในที่ดินหน้าโครงการ ระหว่าง กรมทางหลวง ทอท. และกรมธนารักษ์ ขอชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้
ที่ดินนี้อยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 และมีป้ายเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างชัดเจน
โดยทางหลวงแผ่นดิน 370 ซึ่งเคยเป็นที่ราชพัสดุ และมอบให้กรมทางหลวงสร้างและเป็นผู้ดูแล ซึ่งเป็นพื้นที่คนละส่วนกับพื้นที่ดินเวนคืนของสนามบินสุวรรณภูมิที่ ทอท.ดูแล อีกทั้ง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ถือเป็นทางหลวงสาธารณะ ที่ใช้เงินภาษีอากรของประชาชน ไม่ใช่ขององค์กรเอกชนใดที่จะมากล่าวอ้างเป็นเจ้าของได้
- โดยในปี 2511-2513 ภาครัฐได้จัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างถนน
- ปี 2544 ครม. มีคำสั่งให้กรมทางหลวงสร้างทางเข้าออกด้านใต้ของสนามบิน ซึ่งคือทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 370
- ปี 2550 กรมขนส่งทางอากาศทำบันทึกมอบพื้นที่ให้กรมทางหลวงดูแลรักษาทางหลวงแผ่นดิน
หมายเลข 370 ซึ่งประกาศใช้เป็นถนนสาธารณะและให้กรมทางหลวงรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว กรมทางหลวงจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและมีสิทธิอนุญาตในการให้ใช้ประโยชน์
ทางหลวงแผ่นดิน 370 ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2554 โดยมีป้ายแสดงจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดทาง
- ทำให้ชี้ได้ว่า สิทธินี้เป็นของกรมทางหลวง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ประโยชน์เข้าออกได้ต่อเนื่องมาโดยตลอดแล้วจำนวน 88 ราย โดยแบ่งเป็น
- ผู้ที่ยื่นขออนุญาตเชื่อมทางกับกรมทางหลวงจำนวน 37 ราย
- ทอท. เองก็ได้ขออนุญาตจากกรมทางหลวงในการใช้ประโยชน์ เช่น จากหลักฐานล่าสุดเมื่อ 14 พ.ค. 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก ทั้งนี้ ไม่มีผู้ใช้ประโยชน์รายใด เคยยื่นขออนุญาตเชื่อมทางจาก ทอท. เลย
สำหรับพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่เกิดจากการจัดหาที่ดินตาม พ.ร.บ. เวนคืน เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ
- ในปี 2516 ได้มีประกาศ พ.ร.บ. เวนคืนที่ดินจำนวน 19,251 ไร่ เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370
- เพื่อชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ ทอท. กล่าวอ้างสิทธิการดูแลและครอบครองที่ดินไหล่ทางหน้าโครงการ ไม่น่าจะเป็นกล่าวอ้างที่ถูกต้องนัก เพราะ
- เป็นทางหลวงที่เปิดใช้เป็นเส้นทางสัญจรมาตั้งแต่ปี 2548 และกรมทางหลวงได้รับมอบจาก ทย. แล้วเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2550 โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน
- อีกทั้งล่าสุดเมื่อ 14 พ.ค. 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก
ประเด็นที่ 2: บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด
- โครงการนี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว บริเวณ ก1-10 ไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว โดยโครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมือง
- และไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด
และประเด็นที่ 3 คือ บริษัทฯ ได้ขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อย่างถูกต้อง
- โครงการมีความปลอดภัยต่อการบิน ไม่ได้ละเมิดกฏใดๆ ทั้งด้านความสูง และไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบิน หรือรบกวนการบินแต่อย่างใด โดยแบบมีความสูงที่ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการติดธงแดงตามที่มีการกล่าวอ้าง
- และเราจะปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดต่อไป
โดย 5 ปีที่ผ่านมา นับแต่เริ่มพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ บริษัทฯ ทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ และยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงานถูกต้องทุกขั้นตอน มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้มาโดยตลอด และขอยืนยันว่าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง และได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจรับผิดชอบโดยตรง ตามไทม์ไลน์ที่เกิดขึ้นดังนี้
- ปี 2558 บริษัทฯ ได้ทำการตรวจสอบที่ดินว่า ที่ดินดังกล่าวนั้นสามารถพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจได้ตาม พ.ร.บ. ผังเมือง และติดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ไม่ใช่ที่ดินตาบอดแต่อย่างใด
- วันที่ 22 ธ.ค. 2559 บริษัทฯ ได้รับหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดินตาม พ.ร.บ. ผังเมือง ว่า พื้นที่สีเขียวบริเวณ ก1-10 ของผังเมืองสมุทรปราการ ยังมีพื้นที่เพียงพอให้บริษัทฯ สร้างโครงการนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
- วันที่ 30 ม.ค. 2560 และ 25 ก.ค. 2562 บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างและแบบปรับปรุงภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
- วันที่ 24 เม.ย. 2561 ได้ใบอนุญาตการก่อสร้างอาคาร (อ1) จาก อบต. บางโฉลง
- วันที่ 24 เม.ย. 2561 บริษัทฯ ได้แถลงข่าวเปิดตัวโครงการต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก
- วันที่ 10 เม.ย. 2562 กรมทางหลวงได้อนุญาตให้การประปา ใช้พื้นที่ไหล่ทางในการดำเนินการวางท่อเข้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ
- วันที่ 24 ก.ค. 2562 กรมทางหลวงได้อนุญาตให้ทำทางเชื่อมเข้าออก ขยายผิวจราจร และปรับปรุงทางเท้า ซึ่งรวมไปถึงไหล่ทางด้วย เช่นเดียวกับที่เคยได้อนุมัติเชื่อมทางให้กับผู้ร้องขอรายอื่นบนถนนสายนี้ทั้งสิ้น 37 ราย รวมถึง ทอท. ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยขออนุญาตจากกรมทางหลวงมาโดยตลอด และล่าสุดเมื่อ 14 พ.ค. 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก
- ในวันที่ 14 ส.ค. 2562 บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตเปิดใช้อาคาร (อ6) จาก อบต. บางโฉลง
- ในวันที่ 22 ส.ค. 2562 ทอท. มาปิดกั้นทางเข้าออก หน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ
- ในวันที่ 31 ส.ค. 2562 มีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ