จิราธิวัฒน์ดัน “เซ็นทรัล รีเทล” เข้าตลาด เปิดประตูโอกาสจับมือพันธมิตรระดับสากล - Forbes Thailand

จิราธิวัฒน์ดัน “เซ็นทรัล รีเทล” เข้าตลาด เปิดประตูโอกาสจับมือพันธมิตรระดับสากล

เครือเซ็นทรัลเตรียมไฟลิ่ง บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมอาณาจักรค้าปลีกรายได้ 2.4 แสนล้าน หวังเปิดประตูโอกาสให้กว้างขึ้นสำหรับการจับมือพันธมิตรทางธุรกิจต่างประเทศ

จากข่าวการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) หรือ ROBINS เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่คือเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่นเตรียมจะนำ ROBINS ออกจากตลาดหุ้น เพื่อนำเซ็นทรัล รีเทลเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นแทนนั้น

วันนี้ ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยต่อประเด็นดังกล่าวว่า บริษัทมีการเตรียมตัวเพื่อเข้าตลาดมานาน 3 ปี โดยการปรับโครงสร้างภายในองค์กรให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (...) เสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเดิม และเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เช่น ระบบขายสินค้าออนไลน์

ทุกคนจะถามว่าทำไม (ต้องเข้าตลาด) คือธุรกิจวันนี้เปลี่ยนไปมหาศาล การมี partnership จึงเป็นเรื่องสำคัญ เวลาเราคุยกับใครเขาจะอยากคุยกับคนที่อยู่ในตลาดหุ้นมากกว่า เพราะมีความโปร่งใสและมี good governance อีกอย่างคือเรื่องคนก็เช่นกัน คนเก่งๆ อยากทำงานกับบริษัทในตลาดหุ้น สุดท้ายคือเรื่องของการระดมทุนญนน์กล่าว

ผู้บริหาร เซ็นทรัล รีเทล
ผู้บริหารเซ็นทรัล รีเทล: (จากซ้าย) ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ

ทั้งนี้ เซ็นทรัล รีเทลยังไม่สามารถเผยรายละเอียดในการเปิดไอพีโอได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงเตรียมตัวยื่นไฟลิ่งกับ ... ซึ่งคาดว่าจะยื่นได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยปัจจุบันมีที่ปรึกษา (FA) คือ บลจ.บัวหลวง และ บลจ.ภัทร และครอบครัวจิราธิวัฒน์เป็นผู้ถือหุ้น 100% ของเซ็นทรัล รีเทล

 

ยกอาณาจักร 2.4 แสนล้านเข้าตลาดหุ้น

ญนน์เปิดเผยถึงโครงสร้างธุรกิจของเซ็นทรัล รีเทลว่ามีลักษณะเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่มีบริษัทลูกหลากหลาย ทำรายได้รวมทั้งเครือเมื่อปี 2561 ที่ 240,297 ล้านบาท จากจุดขายรวมทั้งในไทย อิตาลี และเวียดนาม 3,936 สาขา ฐานลูกค้ารวม 27 ล้านราย โดยรายได้นั้นหากแบ่งสัดส่วนตามกลุ่มสินค้าที่จำหน่ายจะแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.กลุ่มอาหาร สัดส่วนในรายได้ 43% ประกอบด้วย ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ เดลี่, ท็อปส์ พลาซ่า, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, แฟมิลี่มาร์ท, บิ๊กซี (เวียดนาม บางส่วนรีแบรนด์เป็น GO!), ลานชี มาร์ท (เวียดนาม)

2.กลุ่มแฟชั่น สัดส่วนในรายได้ 35% ประกอบด้วย ห้างฯ เซ็นทรัล, โรบินสัน, โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์, ซูเปอร์สปอร์ต, CMG (เป็นผู้แทนจำหน่ายกว่า 40 แบรนด์ เช่น Guess, Topshop, Clarins ฯลฯ), รีนาเชนเต (อิตาลี)

3.กลุ่มฮาร์ดไลน์ สัดส่วนในรายได้ 22% ประกอบด้วย ไทวัสดุ, บ้าน แอนด์ บียอนด์ (รีแบรนด์จากร้านโฮมเวิร์ค), เพาเวอร์บาย, เหงียนคิม (ร้านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม)

เซ็นทรัล-รีเทล-แบรนด์

หากแบ่งสัดส่วนรายได้ตามประเทศ ญนน์กล่าวว่ารายได้ส่วนใหญ่ 77% ยังมาจากในไทย อีก 15% มาจากเวียดนาม และ 8% จากอิตาลี (คำนวณสัดส่วนโดยแปลงค่าเป็นเงินบาทแล้ว)

อนาคตทางธุรกิจของเราอาจมาจากออนไลน์เยอะขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมี physical presence มากนักในประเทศใหม่ๆ เราสามารถไปได้โดยการหาพันธมิตรญนน์กล่าว

แม้ยังไม่สามารถบอกเป้าหมายเชิงตัวเลขได้ชัดเจน แต่ญนน์กล่าวถึงการเติบโตในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาว่าเซ็นทรัล รีเทลเติบโตปีละ 8% และบริษัทมักจะโตเป็น 1.8-2 เท่าของจีดีพีประเทศมาโดยตลอด ทำให้คาดว่าปี 2562 นี้บริษัทน่าจะเติบโต 6-7% หากจีดีพีไทยเติบโตที่ 3.5% ตามการคาดการณ์

เซ็นทรัล-รีเทล-รายได้

ส่วนแผนธุรกิจทศวรรษ 2020s ที่บริษัทกำลังมุ่งไปคือระบบ Omnichannel โดยเซ็นทรัล รีเทลเปิดแพลตฟอร์มทั้งออฟไลน์และออนไลน์ไว้พร้อมแล้ว จึงสามารถบริการลูกค้าได้ทุกช่องทางที่ต้องการ

พฤติกรรมผู้บริโภคเดี๋ยวนี้มองแยกยอดขายเป็นออฟไลน์กับออนไลน์ไม่ได้แล้ว เพราะลูกค้าอาจจะดูของในออนไลน์แล้วมาซื้อออฟไลน์หรือสลับกัน เมื่อหลายปีก่อนที่ระบบออนไลน์เข้ามา คนมองกันว่าร้าน brick and mortar จะต้องตายแน่นอน แต่ 2-3 ปีมานี้พิสูจน์ให้เห็นว่าลูกค้าเข้ามาได้ทุกช่องทาง ยกตัวอย่างเพาเวอร์บาย ลูกค้ามีทั้งมาที่สาขา เช็กและจองสินค้าทางออนไลน์แต่มารับที่สาขา จนถึงซื้อผ่านออนไลน์และให้จัดส่งที่บ้าน ซึ่งเราทำระบบไว้รองรับทั้งหมดญนน์กล่าว

 

ชูผลงาน CENTEL + CPN สะท้อนความสามารถ

ขณะที่ ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร เซ็นทรัล รีเทล กล่าวถึงความพร้อมของบริษัทในการเข้าตลาดว่า บริษัทเป็นผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกมายาวนาน 72 ปี เติบโตเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ยุคร้านค้าห้องแถว มาเป็นห้างสรรพสินค้าแบบดีพาร์ทเมนท์สโตร์ สู่ยุคศูนย์การค้า multi-shop และขยายไปสู่ค้าปลีกอีกหลากหลายรูปแบบ และมีพื้นที่บริการทั้งในไทยที่ดำเนินธุรกิจอยู่ใน 51 จังหวัด ในอิตาลี 8 เมือง และในเวียดนามอีก 37 จังหวัด

ทศกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเครือเซ็นทรัลมีการนำบริษัทในกลุ่มเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ มาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL และ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN

CENTEL ที่เข้าตลาดในปี 2533 ขณะนั้นมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 1.6 พันล้านบาท ขณะที่ปี 2562 มูลค่าขึ้นมาเป็น 4.66 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 29 เท่า ส่วน CPN ที่เข้าตลาดในปี 2538 ด้วยมาร์เก็ตแคป 8.9 พันล้านบาท ผ่านมาถึงปี 2562 มาร์เก็ตแคปปรับขึ้นเป็น 3.32 แสนล้านบาท หรือเติบโต 37 เท่า ทศกล่าวว่า ผลงานเหล่านี้คือภาพสะท้อนความสำเร็จของเครือในตลาดหุ้น

ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ เซ็นทรัล รีเทล ฉายภาพว่าบริษัทนี้เป็นธุรกิจครอบครัวที่ไม่ได้มีเพียงผู้บริหารจากตระกูลจิราธิวัฒน์ แต่ยังเปิดรับผู้บริหารภายนอกจากหลายสัญชาติเข้ามาร่วมงาน ซึ่งทำให้การทำงานมีความหลากหลาย และเชื่อว่าตลาดของเซ็นทรัล รีเทลในไทย อิตาลี และเวียดนามยังมีทิศทางที่ดีในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ