อิออน ประเทศไทย ผู้นำการให้บริการสินเชื่อรายย่อย ร่วมกับ บิ๊กซี เปิดตัว บัตรเครดิตบิ๊กซี แพลทินัม เพย์เวฟ และ บัตรสินเชื่อบิ๊กซี เอ็กซ์คลูซีฟ มอบสิทธิประโยชน์ด้านการใช้จ่าย ด้านบิ๊กซีปรับขบวนทัพครั้งใหญ่ หลังได้ อิศวิน เตชะเจริญวิกุล นำทัพพร้อมผุดสาขาใหญ่ กลาง เล็ก และตั้ง Big Care ให้บริการด้านการเงิน การประกันภัย
คิโยะยะซึ อะซะนุมะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้จะเป็นการผสานจุดแข็งของทั้งสองบริษัทในการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า โดยเราคาดว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนผู้ถือบัตรใหม่นี้ได้ถึง 100,000 รายภายในปีแรก จากช่องทางสาขาของบิ๊กซีที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางออนไลน์”
ด้าน
อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บัตรเครดิตบิ๊กซี แพลทินัม เพย์เวฟ และ บัตรสินเชื่อบิ๊กซี เอ็กซ์คลูซีฟ เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ตอกย้ำถึงพันธสัญญาของเราซึ่งมุ่งให้บิ๊กซีเป็นห้างของคนไทย โดยมีหัวใจคือลูกค้าเป็นสำคัญ ภายใต้กลยุทธ์ราคา “ถูกสุดสุดไปเลย” เพื่อมอบความพึงพอใจสูงสุดในทุกการจับจ่ายที่ให้กับลูกค้าทุกคน โดยปัจจุบันบิ๊กซี เป็นผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกหลักในประเทศไทย ด้วยบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า, บิ๊กซี มาร์เก็ต, มินิบิ๊กซี จำนวนกว่า 673 สาขาทั่วประเทศ”
ทิศทางของ บิ๊กซี ภายใต้ BJC
อัศวิน เตชะเจริญวิกุล กล่าวเพิ่มเติมถึงการปรับกระบวนทัพการบริหารงานในบิ๊กซี โดยบิ๊กซีจะเป็นกลไกสำคัญทั้งในแง่การกระจายสินค้า โดยการสร้างความแข็งแกร่งให้กับบิ๊กซีในปี 2560 บิ๊กซีใช้งบลงทุน 8 พันล้านบาท และเตรียมขยายสาขาขนาดใหญ่ 9-10 สาขา สำหรับสาขาขนาดเล็กอย่าง บิ๊กซี มินิ ตั้งเป้าขยายสาขาที่ 200-400 สาขาในปีนี้ โดยเตรียมเจาะตลาดในกลุ่มเมืองเป้าหมายที่เป็นเมืองรองและศึกษาโมเดลการขายในพื้นที่การขายที่เล็กลง 4,000-5,000 ตร.ม. ทั้งในรูปแบบที่บิ๊กซีลงทุนเองและการการขายแฟรนไชส์
“การทำแฟรนไชส์ของแบรนด์บิ๊กซี มินิ ในปัจจุบันยังมีการปรับเงื่อนไขต่างๆ ภายหลังการเข้ามาของ BJC เงื่อนไขสัญญาต่างๆ ต้องแล้วเสร็จในปีนี้ โดยในปี 2561 บิ๊กซี มินิ จะขยายสาขาอย่างก้าวกระโดด” อัศวิน เตชะเจริญวิกุล กล่าว
นอกจากการเปิดตัวบัตรเครดิตร่วมกับ อิออน ประเทศไทย แล้วนั้น บิ๊กซี ยังได้ปรับโครงสร้างธุรกิจและบริการต่างๆ โดยมี
ปิยะวรรณ ปิยะพงษ์ ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริการ เป็นผู้ดูแลในปัจจุบัน
“จากเดิมที่บิ๊กซีทำธุรกิจหลักในด้านรีเทล ธุรกิจใหม่ของบิ๊กซี คือธุรกิจบริการอาทิ การจองสินค้าและบริการที่เรียกว่า Big Service และ การบริการทางการเงินและประกันภัย ภายใต้แบรนด์ Big Care" ปิยะวรรณ กล่าวเสริมว่า Big Care แบบเป็น 2 โมเดล คือ เคาน์เตอร์ที่มีบริการด้านบัตรเดรดิต และ เคาน์เตอร์ที่ให้บริการด้านบัตรเครดิต การประกันภัยและการดูแลทางด้านการเงิน
ทั้งนี้ภายหลังการเข้ามาของ BJC
อัศวินกล่าวเพิ่มเติมถึงการปรับปรุงบิ๊กซีให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่ปรับปรุงห้องน้ำที่ดำเนินการไปแล้วมากถึง 50 สาขา การอบรมพนักงานกว่า 30,000 คน รวมไปถึงการกำหนดมาตรฐานอาหารที่เรียกว่า Big C Quality Line เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใน อาหารสด ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่นำไปใช้ที่ MM Mega Market เวียดนาม
โดย อัศวิน กล่าวทิ้งท้ายถึงทิศทางธุรกิจของบิ๊กซีในอาเซียนไว้ว่า
“โมเดลธุรกิจของเราในปีนี้ เรายังเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย ภายหลังการเชื่อมโยง AEC เข้าไว้ด้วยกัน ด้านการขยายตัวภายในภูมิภาคอาเซียนนี้ ภายใน 2-3 ปีข้างหน้าต้องได้เห็นสาขาที่ลาวและกัมพูชา”
(หมายเหตุ: การแถลงข่าวนี้เกิดขึ้นก่อนการเกิดเหตุการลอบวางระเบิดบิ๊กซีทางภาคใต้)