"ฮาคูโฮโด" ชี้พฤติกรรมผู้บริโภคในสังคมไทยจากพิษโควิด-19 - Forbes Thailand

"ฮาคูโฮโด" ชี้พฤติกรรมผู้บริโภคในสังคมไทยจากพิษโควิด-19

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Feb 2021 | 07:01 PM
READ 1653

สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัท ฮาคูโฮโด แบงคอก เผยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบแนวโน้มผู้บริโภคไทยยังคงรัดเข็มขัด ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเนื่องจากสถานการณ์โควิด และมองหาสินค้าที่ใช้งานได้หลายวัตถุประสงค์ โดยมีแนวโน้มการใช้จ่ายลดลงเกือบทุกภูมิภาคและเกือบทุกช่วงอายุของประชากรในสังคมไทย

ชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย)
ชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถาบันวิจัยฯ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับแนวโน้มการบริโภคของคนไทยทุกๆ 2 เดือน โดยครั้งล่าสุดเป็นการสำรวจทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 8-15 มกราคม 2564 ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบด้วยเพศชายและหญิงจำนวน 1,200 คน อายุ 20-59 ปี จากทั่วประเทศ พบข้อบ่งชี้เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยที่สำคัญ 2 ข้อ ได้แก่ 1.คนไทยมีแนวโน้มระมัดระวังการใช้จ่ายจนกว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจะดีขึ้น การกลับมาของโควิดทำให้ความต้องการในการใช้จ่ายและระดับความสุขลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับผลการสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2563 เนื่องจากความไม่แน่นอนและสภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง โดยแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายอยู่ที่ 54 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดลงจาก 57 คะแนนในการสำรวจครั้งก่อน ในขณะที่คะแนนความสุขในปัจจุบันอยู่ที่ 64 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดลงจาก 66 คะแนนในการสำรวจครั้งก่อน เหตุผลของผู้ที่ให้คะแนนความต้องการใช้จ่ายสูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่น ต้องการตุนสินค้าเพื่อเลี่ยงการออกไปข้างนอก ใช้บริการส่งอาหารมากขึ้น ซื้อของให้รางวัลตัวเองหรือให้เป็นของขวัญแก่คนรัก ส่วนเหตุผลของผู้ที่ให้คะแนนความต้องการใช้จ่ายต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เช่น รายได้ลดลงจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด ซื้อเพื่อมาแทนของเก่า กังวลเรื่องการเงินของครอบครัว และว่างงาน 2.สินค้าที่ตอบสนองหลากหลายจุดประสงค์การใช้งานเป็นที่ต้องการอย่างเห็นได้ชัด ผู้ตอบแบบสำรวจทั่วประเทศพูดถึงการซื้อสินค้าและบริการที่ไม่ใช่แค่อำนวยความสะดวก แต่ยังช่วยตอบสนองความต้องการอื่นๆ ในชีวิต เช่น สมาร์ทโฟน (ใช้ทำงานและให้ลูกใช้เรียนออนไลน์) รถยนต์ (สำหรับการพักผ่อนและการทำงาน) ของตกแต่งบ้าน (เพื่อความสวยงามและความสะดวกสบาย)
มนัสริน ณ ระนอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮาคูโฮโด แบงคอก
ด้าน มนัสริน ณ ระนอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮาคูโฮโด แบงคอก และ พร้อมพร สุภัทรวณิช ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สถาบันความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสองทำให้คนระวังตัว ต้องการกักตุนสินค้ามากขึ้น และมุ่งใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น โดยสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคอยากซื้อมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหาร ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน เสื้อผ้า และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เมื่อจำแนกตามภาค พบว่าแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายลดลงเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพฯ กลับภูมิลำเนาเนื่องจากโควิด และเมื่อจำแนกตามช่วงอายุ มีเพียงช่วงอายุ 20-29 ปีที่มีแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายคงที่ เนื่องจากต้องการบรรเทาความรู้สึกเบื่อจากการอยู่บ้านเป็นเวลานาน โดยต้องการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมความงาม หรือโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ ส่วนช่วงอายุอื่นๆ มีแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายลดลง
พร้อมพร สุภัทรวณิช ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สถาบันความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย)
ผลการสำรวจยังพบว่าข่าวการติดเชื้อโควิดระลอกสองในช่วงก่อนวันหยุดปีใหม่ส่งผลให้มีการกล่าวถึงข่าวโควิดเพิ่มสูงขึ้นจาก ร้อยละ 4 ในการสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นร้อยละ 81 ในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้ ทั้งยังส่งผลให้อารมณ์รื่นเริงของคนไทยในช่วงต้นเดือนธันวาคมกลายเป็นความเงียบเหงาในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จากการห้ามการเฉลิมฉลองในที่สาธารณะ และคนไทยส่วนใหญ่ยกเลิกการเดินทางในประเทศ นอกจากนี้ ผลกระทบจากกระแสโควิดทำให้ความร้อนแรงทางการเมือง ซึ่งมีการกล่าวถึงสูงสุดในการสำรวจครั้งก่อนถึงร้อยละ 57 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น กรณีศึกษานี้เป็นงานวิจัยที่จะสำรวจทุก 2 เดือน ร่วมกันระหว่าง สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับบริษัทในเครือ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวและคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย อ่านเพิ่มเติม: “Innovative Healthcare” บริบทใหม่แห่งการลงทุนในหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์