กูเกิลร่วมพาณิชย์เปิด “สะพานดิจิทัล” เร่งสปีดเอสเอ็มอีไทยโก อี-คอมเมิร์ซ - Forbes Thailand

กูเกิลร่วมพาณิชย์เปิด “สะพานดิจิทัล” เร่งสปีดเอสเอ็มอีไทยโก อี-คอมเมิร์ซ

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจำนวนไม่น้อยยังคงดำเนินธุรกิจแบบออฟไลน์ ด้วยการขายและทำธุรกรรมในช่องทางหน้าร้านเป็นหลัก ขณะที่โลกการค้ากำลังเปลี่ยนสู่ดิจิทัล จึงเป็นที่มาโครงการ G4TH หรือ Google for Thailand ซึ่งจัดขึ้นเพื่อติดสปีด เอสเอ็มอีไทยโกดิจิทัลได้เร็วขึ้น

ช่วงสายของวันที่ 27 สิงหาคม 2563 Google Thailand ได้จัดงานเปิดตัว โครงการ G4TH หรือ Google for Thailand โครงการพิเศษที่ Google ออกแบบมาเพื่อประเทศไทยโดยทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในปัจจุบัน ผู้บริหาร Google ประเทศไทย อภิชญา เตชะมหพันธ์ หัวหน้าฝ่าย Google Customer Solutions ประจำประเทศไทย กล่าวว่าเพื่อเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่โลกการค้ากำลังเปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น และ Google ต้องการช่วยให้คนไทยทุกคน มีโอกาสเท่าเทียมกันในโลกดิจิทัล ด้วยแนวคิด Leave No Thai Behind ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในด้านดิจิทัล จึงประกาศโครงการช่วยเหลือคนไทยและธุรกิจไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการเติบโต และการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว “เราทำโครงการ Google for Thailand ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วส่วนใหญ่เน้นกระตุ้นให้เอสเอ็มอีไทยโกดิจิทัลได้มากขึ้น ปีก่อนหน้านี้เราเปิดตัว Google my Business ช่วยเอสเอ็มอีและ Google Meet ช่วยการประชุมสัมมนาออนไลน์ มาปีนี้เราจะเปิดสะพานดิจิทัลผ่านเว็บ saphandigital.moc.go.th เริ่มให้บริการวันนี้วันแรก” ผู้บริหาร Google Thailand เผยถึงแพลตฟอร์มที่จะนำมาใช้ในการช่วยหลือเอสเอ็มอี ให้ก้าวทันยุคดิจิทัล สามารถทำธุรกิจออนไลน์ และเข้าถึงธุรกิจอี-คอมเมิรซได้อย่างเต็มตัว ผู้บริหาร Google ประเทศไทยบอกว่านโยบายของ Google ที่วางไว้ระดับ Global มีการเตรียมงบประมาณส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยกองทุนเริ่มต้นหรือ initiative global fund จำนวน 800 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ Google จะมีโครงการส่งเสริมให้กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในแถบเอเชีย และไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีโอกาสและมีศักยภาพที่จะเติบโตด้านดิจิทัลได้อีกมาก อภิชญา อธิบายว่าโครงการ “Saphan Digital” เป็นการทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และพันธมิตรองค์กรธุรกิจชั้นนำจากอุตสาหกรรมต่างๆ ประมาณ 10 ราย มีทั้งธนาคาร อีคอมเมิร์ซ บริการส่งของออนไลน์ การจัดหางานออนไลน์ และคอมมูนิตี้สเปซ โดยที่ Saphan Digital เป็นศูนย์รวมของผู้เชี่ยวชาญและการสนับสนุนด้านดิจิทัลที่หลากหลาย เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ บุคคลทั่วไป และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ให้สามารถเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัล ตลอดจนทักษะดิจิทัลพื้นฐานที่จะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ ผ่านประสบการณ์ใช้งานจริง รวมถึงการให้โอกาสบุคคลทั่วไปที่ผ่านเกณฑ์ได้ลองฝึกใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ กับผู้ประกอบการ และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่เข้าร่วมโครงการ “เอสเอ็มอีและคนที่สนใจสามารถเข้าลงชื่อใช้งานใน Saphan Digital และสามารถเลือกคอร์สอบรมต่างๆ ที่ต้องการพัฒนาความรู้ด้านดิจิทัล เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินกิจการต่างๆ ได้ตามความต้องการ โดยเป็นบริการพื้นฐานที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นต้องการฟังก์ชั่นที่ใหญ่ขึ้นหรือมากเป็นพิเศษ” ผู้บริหาร Google Thailand บอกว่ากลุ่มเป้าหมายแรกสำหรับโครงการ Saphan Digital คือกลุ่มเอสอีที่ต้องการยกระดับจากออฟไลน์ไปออนไลน์ กลุ่มสองคือเอ็นจีโอองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งบางคนยังไม่เข้าใจเครื่องมือดิจิทัล สามารถเข้ามาหาความรู้ได้ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ก็สามารถเข้ามาหาประสบการณ์ได้เช่นกัน นอกจากนี้ Google ยังต้งการช่วยจับคู่ธุรกิจเอสเอ็มอี ให้ผู้ที่เข้ามาร่วมโครงการได้ทั้งความรู้และได้งานควบคู่ไปด้วย ตลอดจนได้ขยายเครือข่ายได้ธุรกิจไปในเวลาเดียวกัน “ดิจิทัลเป็นเทรนด์ที่มาแน่นอนอยู่แล้ว แต่สถานการณ์โควิดทำให้ดิจิทัลไลฟ์เกิดเร็วขึ้น” อภิชญา ย้ำ
อภิชญา เตชะมหพันธ์ หัวหน้าฝ่าย Google Customer Solutions ประจำประเทศไทย
นอกจาก Saphan Digital แล้วการเปิดตัว G4TH ในครั้งนี้ Google ประเทศไทยยังเปิดตัวโครงการใหม่ที่มีชื่อว่า “Developer Student Club” ที่ Google ได้ร่วมมือกับตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างชุมชนนักพัฒนาโปรแกรมที่แข็งแกร่งในรั้วมหาวิทยาลัยของไทย โดย Developer Student Club จะเป็นกลุ่มชุมชนสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่สนใจเทคโนโลยีต่างๆ ของ Google โครงการนี้จะสนับสนุนให้น้องๆ นักศึกษาได้พบปะและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ผ่านการทำเวิร์คช็อป รวมทั้งเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำโปรเจ็คต์ร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาในท้องถิ่น ทั้งนี้ Google ได้ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เช่น การเปิดตัว Academy Bangkok ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้านดิจิทัลของ Google ที่แรกในเอเชีย ปัจจุบันได้ปรับให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการนำโปรแกรมต่างๆ ของ Academy Bangkok รวมถึงคอร์สอื่นๆ ของ Google มารวมกันไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ Grow with Google เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Google ได้เปิดตัวหลักสูตร “Be Internet Awesome” เพื่อให้ความรู้แก่เด็กๆ เกี่ยวกับพื้นฐานสำคัญของการเป็นพลเมืองยุคดิจิทัลที่ดี และการท่องโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย ปัจจุบันมีครูและนักเรียนจำนวนกว่า 5 แสนคนในประเทศไทยที่ได้ผ่านการฝึกอบรมจากโปรแกรมนี้ไปแล้ว   อ่านเพิ่มเติม: PwC เผย 20% ของบริษัทไทยให้ “ทำงานที่บ้าน” เป็นการถาวร