PwC ประเทศไทย เผยผลสำรวจล่าสุด 20% ของบริษัทไทยได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การ "ทำงานที่บ้าน" เป็นการถาวร เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่วยลดต้นทุน คาดหากสถานการณ์ยืดเยื้อ เปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานไปใช้เอาท์ซอร์ส ฟรีแลนซ์มากขึ้น
ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปสู่การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) มากขึ้น จนกลายเป็นความปกติแบบใหม่ของการทำงานไปโดยสิ้นเชิง และบางส่วนนำไปสู่การ "ทำงานที่บ้าน" โดยประเมินว่าร้อยละ 20 ของบริษัทไทยในปัจจุบันที่มีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้เป็นการถาวร เพื่อดูแลความปลอดภัยของพนักงาน และยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน เช่น ค่าเช่าสำนักงาน ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสำนักงาน นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายองค์กรด้วยที่เลือกใช้วิธีผสมผสานให้พนักงานสามารถเลือกทำงานที่บ้าน หรือเข้าออฟฟิศเพื่อประชุมหรือเวิร์คช้อป เพราะการทำงานอยู่ที่บ้านเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดความเครียด และไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวได้ โดยจากข้อมูลเราพบว่า พนักงานส่วนใหญ่ชอบที่จะทำงานที่บ้านอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ จากผลสำรวจ CEO Panel Survey ของ PwC ที่ทำการสำรวจมุมมองซีอีโอจำนวน 699 รายใน 67 ประเทศทั่วโลก ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2563 ถึงรูปแบบของธุรกิจเกิดใหม่และแนวโน้มสำคัญที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าร้อยละ 78 ของผู้นำธุรกิจเชื่อว่า จะหันมาใช้นโยบายการทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Remote Working) มากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 76 พึ่งพาการใช้เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ และร้อยละ 61 ควบคุมความหนาแน่นของสถานที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม คุณภาพของงานและประสิทธิภาพของการทำงานจากที่ไหนก็ได้ กลายเป็นความท้าทายที่ผู้นำธุรกิจจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญ ภิรตา มีข้อแนะนำว่า องค์กรจะต้องมีระเบียบปฏิบัติ และเครื่องมือเข้ามาช่วยในการวัดผลการทำงานแบบใหม่ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผู้จัดการหรือหัวหน้างานให้สามารถติดตามงาน เห็นผลลัพธ์ของงาน หรือสามารถช่วยลูกน้องแก้ไขปัญหาของงานได้ทันท่วงที หรือในงานบางอย่าง ก็อาจนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วย นอกจากนี้ การสร้างแรงจูงใจและการมีส่วนร่วมของพนักงานที่แม้จะทำงานอยู่ที่บ้านนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้นำธุรกิจจะต้องคำนึงถึงโดยฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ในการทำงานรูปแบบใหม่ให้กับพนักงาน รวมทั้งหาโอกาสในการพบปะสังสรรค์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และเครือข่ายสังคมกับพนักงาน และอาจต้องกำหนดระเบียบปฏิบัติสำหรับเวลาพักระหว่างวันและส่งเสริมวัฒนธรรมการเข้า-ออกงานตามเวลา เป็นต้น “หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ และยังไม่แน่นอนว่าจะยุติลงเมื่อไหร่ เป็นไปได้ว่า บริษัทไทยอาจหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานไปสู่การจ้างลูกจ้างชั่วคราว ที่เรียกว่า Contingent Workforce การจ้างบริษัทหรือพนักงานแบบเอาท์ซอร์ส หรือการจ้างฟรีแลนซ์ เข้ามาทำงานบางงาน หรือบางโปรเจกต์มากขึ้น เพื่อช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการบริหารกำลังคนและต้นทุน เพราะรูปแบบการจ้างงานเหล่านี้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับพนักงานประจำในระยะยาวได้ดี สอดรับกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง” ภิรตา กล่าว แต่ทั้งนี้ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน หรือวิธีการจ้างงานอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของพนักงานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การพัฒนาทักษะใหม่ๆ ของพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะความยืดหยุ่นและการปรับตัว (Flexibility and Adaptability) จะเป็นทักษะที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้บุคลากรขององค์กร สามารถเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการทำงานและปรับเปลี่ยนตัวเองได้ทันและเหมาะสมกับโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงได้ อ่านเพิ่มเติม: เปิดโผ 5 ทำเลน่าจับตา ราคาอสังหาฯ เพิ่มขึ้นสูงสุดไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine