ดีเจไอ อกริคัลเจอร์ (DJI Agriculture) ผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรนวัตกรรมใหม่ ได้เผยแพร่รายงานข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโดรน ประจำปี 2565/66 (DJI Agriculture Drone Insight Report 2022/23)
หยวน จาง (Yuan Zhang) หัวหน้าฝ่ายขายระดับโลกของดีเจไอ อกริคัลเจอร์ กล่าวว่า "ดีเจไอ อกริคัลเจอร์ มุ่งมั่นที่จะยกระดับประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่เพาะปลูกด้วยโซลูชันการเกษตรดิจิทัลที่ใช้โดรน เพื่อทำการเกษตรอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลทั่วโลกและเกษตรกรกำลังใช้โดรนเพื่อการเกษตรและวิธีการทำเกษตรอัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตอาหารด้วยแนวทางที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งแนวทางนี้สามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีทางการเกษตร พร้อมกับสร้างความมั่นคงทางอาหารและความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม"
รายงานฉบับนี้แบ่งออกเป็นหลายส่วน ได้แก่ ผลงานของดีเจไอ อกริคัลเจอร์ ประจำปี 2565/66, แนวโน้มด้านนโยบายทั่วโลก, การทดสอบโดรนเพื่อการเกษตร, นวัตกรรมการใช้งานโดรน และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด
ผลงานของดีเจไอ อกริคัลเจอร์ ประจำปี 2565/66
หลังจากก่อตั้งบริษัทเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ดีเจไอ อกริคัลเจอร์ ก็ขยายธุรกิจไปทั่วทั้งหกทวีป ครอบคลุมมากกว่า 100 ประเทศและภูมิภาค โดย ณ สิ้นปี 2565 โดรนเพื่อการเกษตรของดีเจไอถูกนำไปใช้งานมากกว่า 200,000 ตัวทั่วโลก และมีพื้นที่ปฏิบัติงานรวมกันมากกว่า 200 ล้านเฮกตาร์ นับเป็นการนำประโยชน์ของเทคโนโลยีทางอากาศมาสู่เกษตรกรหลายร้อยล้านคน ทั้งนี้ นักบินโดรนเพื่อการเกษตรรวม 150,000 คน และครูสอนบินโดรน 2,500 คน ได้รับการฝึกอบรมการบินโดรนเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำเกษตรโดยอิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนให้การสนับสนุนผู้มีความสามารถในการพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะ
แนวโน้มด้านนโยบายทั่วโลก
เนื่องจากเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรได้รับการยอมรับจากเกษตรกรทั่วโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จึงเริ่มมองเห็นประโยชน์มากมายที่เทคโนโลยีนี้นำมาสู่อุตสาหกรรม จึงมีการเสนอให้แก้ไขกฎระเบียบทั่วยุโรป อเมริกาเหนือ และบราซิล ส่วนในประเทศจีนนั้น โดรนเพื่อการเกษตรรุ่น T16, T20, T10 และ T30 ของดีเจไอ ล้วนได้รับใบรับรองความสมควรเดินอากาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน (CAAC)
การทดสอบโดรนเพื่อการเกษตร
โดรนเพื่อการเกษตรของดีเจไอ อกริคัลเจอร์ ผ่านการทดสอบเชิงลึกหลายการทดสอบ ซึ่งรวมถึงการทดสอบขนาดหยดน้ำ การทดสอบการลอย และการทดสอบสารกำจัดวัชพืช
นวัตกรรมการใช้งานโดรน
โดรนถูกนำไปใช้งานในรูปแบบใหม่ ๆ มากมาย ตั้งแต่การควบคุมศัตรูพืชและโรคในมัลดีฟส์ ไปจนถึงการผสมผสานเข้ากับเทคนิคการทำไร่องุ่นแบบดั้งเดิม หรือแม้แต่การทำเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มผลผลิตมันฝรั่งและข้าว เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งรายใหญ่รายหนึ่งในรัฐวอชิงตันพบว่าความเสียหายจากแมลงลดลงถึง 80% ด้วยการฉีดพ่นยาเฉพาะจุดบนพื้นที่ 60 เฮกตาร์ ส่วนในญี่ปุ่นนั้น เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในท้องถิ่นสามารถประหยัดปุ๋ยและเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 5,425 ดอลลาร์สหรัฐต่อเฮกตาร์ นอกจากนั้นยังมีกรณีการใช้งานรูปแบบใหม่อื่น ๆ ได้แก่ การผสมเกสร การเขย่าดอกที่ตายแล้วออกจากไม้ผล รวมถึงการฉีดพ่นสารป้องกันการแข็งตัวและสารกันแดดสำหรับไม้ผล
แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด
ทั่วโลกมีการหารือกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการกำหนดแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการใช้โดรนเพื่อการเกษตร ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมนักบินโดรน การปรับปรุงเทคโนโลยีโดรน ข้อกำหนดการใช้ยา ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐาน และแนวทางปฏิบัติงานที่ปลอดภัย
ดีเจไอได้จัดตั้ง ดีเจไอ อคาเดมี (DJI ACADEMY) สำหรับฝึกอบรมการใช้โดรนเพื่อการเกษตรในประเทศไทย เม็กซิโก บราซิล และตุรกี นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น หัวฉีดชนิดใช้แรงเหวี่ยง (centrifugal nozzle) เทคโนโลยีเรดาร์ และกล้องรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับการจัดการการผลิตพืชผลทางการเกษตรทั้งในแง่ของความฉลาด ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัย
ดีเจไอ อกริคัลเจอร์ ไม่เพียงผลิตโดรนเท่านั้น แต่ยังติดต่อกับบริษัทเคมีภัณฑ์ มหาวิทยาลัย และสถาบันวิชาชีพต่างๆ เพื่อร่วมกันสำรวจแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม : มูลนิธิกสิกรไทย จับมือมหาวิทยาลัยขอนแก่น พัฒนายาจากพืช สนับสนุนน่านแซนด์บอกซ์
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine