ทั่วโลกจับตาสถานการณ์ “ขยะอาหาร” ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ “เอกา โกลบอล” ผู้นำเทรนด์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหารยักษ์ใหญ่ของตลาด แนะไทยเร่งวางแผนรับมือ ดันบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกตอบโจทย์เอสเอ็มอี เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ขยายตัว
ชัยวัฒน์ นันทิรุจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอกา โกลบอล จำกัด (EKA GLOBAL) ผู้นำตลาดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร (Longevity Packaging) เปิดเผยว่า เดือนตุลาคมของทุกปี (16 ต.ค.) ทั่วโลกจะมีมุ่งเน้นการรณรงค์และระลึกถึงวันอาหารโลก (World Food Day) ซึ่งเป็นวันที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดขึ้น เพื่อให้นานาประเทศเข้าใจความสำคัญของอาหารและปัญหาความอดอยากของประชากรโลก มุ่งหวังให้เกิดความช่วยเหลือกันพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืน
โดยในปีนี้ เป็นปีที่เน้นการจัดการทรัพยากรน้ำในห่วงโซ่อาหารให้ยั่งยืน เพื่อรักษาแหล่งน้ำจืดให้มีใช้ยาวนานถึงอนาคต เพราะผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกมีผลต่อคุณภาพแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง ขณะเดียวกันทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาโลกร้อน ทำให้ทรัพยากรน้ำที่มีจำกัด เช่นกันกับประเทศไทย เป็นประเทศที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลกที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งจากเอลนีโญ และโลกร้อน
ทั้งนี้ มีอีกหนึ่งกระแสที่ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังพูดถึงมากขึ้นในขณะนี้ คือปัญหา “ขยะอาหาร” หรือ Food Waste ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน มีแนวโน้มปรับเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุก ๆ ปี โดยขยะอาหารจะเป็นสาเหตุหลักของการเกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีความรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 27-30 เท่า และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกกว่า 8 – 10% แถมยังส่งกลิ่นและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค
“ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาขยะอาหารเนื่องจากในแต่ละปี พบว่าอาหารกว่า 1,300 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลก ต้องกลายเป็นขยะอาหารที่ถูกทิ้งไปอย่างสูญเปล่า สำหรับประเทศไทยนั้น พบว่าปริมาณ “ขยะอาหาร” มีสัดส่วนสูงกว่า 60% ของขยะทั้งหมด”
ชัยวัฒน์ กล่าวว่า มีรายงานเปิดเผยว่า คนไทย 1 คน จะสร้างขยะอาหารสูงถึง 254 กิโลกรัมต่อปี โดยปัจจุบันปริมาณขยะอาหารในประเทศมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจนน่าเป็นกังวล จากปี 2565 ไทยมีปริมาณขยะอาหารอยู่ที่ 17 ล้านตัน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการผลิตอาหารที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน มีสัดส่วนที่สูงมากกว่า 30% ส่วนปัจจัยอื่น ๆ มาจากการบริโภคไม่ทัน หรือ บริโภคไม่หมด ทำให้ต้องทิ้งจนกลายเป็นขยะอาหาร
“ไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงเป็นครัวของโลก อาหารไทยเป็นที่นิยมของทั่วโลกมากขึ้น นับเป็นผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารไทย แต่มีปัญหาที่ตามมา คือ “ขยะอาหาร” ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากไทยยังไม่มีแผนรับมือ ไม่มีระบบการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ปัญหาอาจจะทวีความรุนแรง และส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยผู้บริโภคคนไทยมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะเศษอาหารได้ที่ดีที่สุด โดยเริ่มต้นจากการบริโภคอาหารให้หมด หรือ แม้แต่การวางแผนการซื้อในแต่ละครั้ง การจัดเก็บให้ถูกวิธี ช่วยยืดอายุก่อนกลายเป็นขยะอาหารได้ เป็นต้น”
ทั้งนี้ มีความน่าสนใจของเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ คือ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก “Longevity Packaging” ที่ให้ความใส่ใจและให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อการใช้งานกับอาหาร สะอาด ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถรีไซเคิลได้ 100% รวมไปถึงยังยืดอายุอาหาร สามารถวางอยู่บนชั้นวางสินค้าได้อย่างยาวนาน เป็นการช่วยลดขยะอาหารได้อีกทางหนึ่ง
อ่านเพิ่มเติม : SAFE เคาะราคา IPO เปิดจองซื้อ 21 บาทต่อหุ้น ระหว่าง 25-27 ต.ค. นี้
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine