SAFE เคาะราคา IPO เปิดจองซื้อ 21 บาทต่อหุ้น ระหว่าง 25-27 ต.ค.นี้ - Forbes Thailand

SAFE เคาะราคา IPO เปิดจองซื้อ 21 บาทต่อหุ้น ระหว่าง 25-27 ต.ค.นี้

บมจ. เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป หรือ SAFE เปิดกลยุทธ์สู่ผู้นำรักษาผู้มีบุตรยากและวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนและเวลเนสในภูมิภาคเอเชีย โดยประกาศเปิดจองซื้อหุ้น IPO ในราคา 21 บาทต่อหุ้น ระหว่าง 25-27 ต.ค. นี้


    บมจ. เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป หรือ SAFE ผู้ให้บริการคลินิกการแพทย์เฉพาะทางเพื่อการมีบุตร ที่ให้บริการด้านการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์แบบครบวงจร ได้เคาะราคาเสนอขาย IPO ที่ราคา 21 บาทต่อหุ้น โดยจะเปิดให้จองซื้อตั้งแต่วันที่ 25-27 ตุลาคมนี้ 

    ทั้งนี้ ทางบริษัทได้วางกลยุทธ์ขยายการเติบโต เพิ่มศักยภาพการให้บริการเติมเต็มความฝันของผู้ต้องการมีบุตรจากทั่วโลก สู่ผู้นำด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากและด้านวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนและเวลเนสในระดับเอเชีย โดยลงนามแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ และแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย



    นพ.วิวัฒน์ กว้างคณานุรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SAFE เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการคลินิกการแพทย์เฉพาะทางเพื่อการมีบุตร ให้บริการด้านการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์แบบครบวงจรในไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการให้บริการด้านการเจริญพันธุ์ในระดับสากล และได้รับการรับรองมาตรฐานคลินิกเด็กหลอดแก้วจากสถาบัน RTAC จากประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ให้บริการตั้งแต่ให้คำแนะนำ คำปรึกษา ตลอดจนให้การรักษาแก่ผู้มีบุตรยากและการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนแบบพิเศษ การแช่แข็งไข่ ฝากไข่ อสุจิ และตัวอ่อน เพื่อโอกาสในการเติมเต็มความฝันของการมีบุตรในอนาคต 

    นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ โดยให้บริการแก่ผู้มีบุตรยากมากกว่า 15 ปี มีสถิติในการเก็บไข่ตั้งแต่ปี 2561 ถึงไตรมาสที่ 2/2566 กว่า 7,236 รอบ (OPU Cycle) ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เช่น การนำเทคโนโลยีคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนทั้ง 24 โครโมโซมด้วยเทคนิค PGT-A มาใช้เป็นแห่งแรกในไทย เป็นต้น รวมทั้งแพทย์และและบุคลากรของกลุ่มบริษัทฯ มีความชำนาญและประสบการณ์เฉลี่ยมากกว่า 15 ปี รวมถึงมีนักวิทยาศาสตร์ของเพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากยุโรป (ESHRE) เป็นแห่งแรกของไทย จึงมีอัตราความสำเร็จการตั้งครรภ์โดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 75

    ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ ให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธีปฏิสนธิแบบเจาะจง (ICSI) ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน และวิธีฉีดน้ำเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก (IUI) การย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูก บริการแช่แข็งเก็บรักษาเซลล์ไข่ อสุจิ และตัวอ่อน รวมถึงการเก็บอสุจิและคัดอสุจิด้วยวิธีที่ทันสมัย โดยให้บริการผ่านสาขาทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ สาขาอัมรินทร์ พลาซ่า, รามอินทรา,  ภูเก็ต ขอนแก่นและศรีราชา มีสัดส่วนลูกค้าชาวไทยร้อยละ 54 และต่างชาติร้อยละ 46 

    ปัจจุบัน บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัท ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 99.99 และร้อยละ 80 ตามลำดับ ได้แก่ บริษัท เน็ก เจนเนอร์เรชั่น จีโนมิค จำกัด (NGG) ดำเนินธุรกิจด้านการตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนและทารกในครรภ์และการให้บริการ ด้านห้องปฏิบัติการทางด้านพันธุศาสตร์ต่าง ๆ และ บริษัท เซฟ เวลเนส จำกัด (SWC) ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านผิวหนังและความงามภายใต้ชื่อ “เดอะฟาวเทน เวลเนส เซ็นเตอร์” อย่างครบวงจรตั้งแต่ก่อนและหลังคลอดบุตร 



    ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SAFE กล่าวต่อว่า SAFE วางกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจสู่ผู้นำด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากและด้านวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนและเวลเนสในระดับเอเชีย ได้แก่ 

1. การขยายศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตรและห้องปฏิบัติการเจริญพันธุ์ ไปยังโรงพยาบาลพันธมิตรที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ภายในสถานพยาบาลคู่ค้า ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ทั้งในรูปแบบพันธมิตรทางการค้า การร่วมลงทุน รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ 

2. เลือกใช้เทคโนโลยีในการรักษาที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรในการให้บริการ 

3. สื่อสารและสร้างแบรนด์ “SAFE FERTILITY” ในฐานะผู้นำทางด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากและด้านวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนในเอเชียในเชิงรุกมากขึ้น เช่น ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ไปยังผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ, การทำตลาดดิจิทัล (Digital Marketing)  เป็นต้น  

4. ขยายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเพิ่มรายได้และผลกำไร 


    ชนิดา พัธโนทัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีการเงิน กล่าวว่า แม้ในช่วงที่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดโรคระบาด COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกแต่กลุ่มบริษัทฯ ก็สามารถรักษาการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีรายได้รวมในปี 2563-2565 เท่ากับ 529.77 ล้านบาท 561.96 ล้านบาท 729.32 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 42.16 ล้านบาท 78.23 ล้านบาท 161.73 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนงวด 6 เดือนแรกปี 2566 มีรายได้รวม 409.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 87.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.52 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    ดาริน กาญจนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออพท์เอเชีย แคปิตอล จำกัด  ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า SAFE ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ฯ จากสำนักงาน ก.ล.ต. ปัจจุบันแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) มีผลใช้บังคับแล้ว โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 76,748,600 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25.25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ โดยการเสนอขายแบ่งเป็น 1. หุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม จำนวนไม่เกิน 52,800,800 หุ้น 2. หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวนไม่เกิน 23,947,800 หุ้น 

    พิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ล่าสุดได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคา 21 บาทต่อหุ้น และจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในวันที่ 25-27 ตุลาคม 2566 คาดว่าจะสามารถนำหุ้น SAFE เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยราคา IPO ดังกล่าวมีความเหมาะสม สะท้อนความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำรักษาผู้มีบุตรยากและด้านวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนและเวลเนสในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ SAFE มีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนนั้น ใช้เป็นเงินลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต รวมถึงเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการขยายสาขา และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ



อ่านเพิ่มเติม : ภาวะสงคราม-เฟดขึ้นดอกเบี้ยกดดันตลาด

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine