กลายเป็นอีกหนึ่งข่าวที่น่าใจหาย เมื่อแอปพลิเคชั่นฟู้ดเดลิเวอรี่อย่าง foodpanda ประกาศยุติกิจการ รวมถึงปิดให้บริการแอปพลิเคชั่นในไทย ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2568 พร้อมกับประเด็นชวนคิดที่ว่า หรือสาเหตุมาจากที่ foodpanda ขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาหลายปี
ในประกาศของ foodpanda ที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 ระบุดังนี้
“foodpanda Thailand ขอแจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน foodpanda มีผลตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2568
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ขับเคลื่อนธุรกิจร่วมจัดส่งความสุข ผ่านทุกๆ ออเดอร์ให้แก่ลูกค้าทุกท่านในประเทศไทย เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับใช้ลูกค้าที่รักยิ่งของเรา และได้รับการสนับสนุนที่ดีมาโดยตลอดจากร้านค้า พาร์ทเนอร์ และไรเดอร์ทุกท่าน ที่ร่วมเป็นผู้ขับเคลื่อนความสำเร็จที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพตลาดในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ระยะยาวของฟู้ดแพนด้าอีกต่อไป
เรามีความเสียใจอย่างยิ่งที่การเดินทางของเราต้องสิ้นสุดลง และเราขอขอบพระคุณลูกค้าทุกๆ ท่านที่เชื่อมั่นในฟู้ดแพนด้าเสมอมา
ขอแสดงความนับถือ
ฟู้ดแพนด้า ประเทศไทย”

ขณะที่แถลงการณ์ที่แจ้งต่อสื่อมวลชน ระบุดังนี้ “การตัดสินใจครั้งนี้สอดคล้องกับแนวทางการปรับกลยุทธ์เชิงภูมิศาสตร์ของ Delivery Hero ซึ่งเคยดำเนินการมาแล้วในหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก กานา สโลวาเกีย และสโลวีเนีย โดยบริษัทจะมุ่งเน้นทรัพยากรไปยังตลาดอื่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) ที่มีศักยภาพในการเติบโตและผลตอบแทนที่สูงกว่า
“ทั้งนี้ ทีมงานระดับภูมิภาคที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งรับผิดชอบงานสนับสนุนด้านต่างๆ เช่น การตลาด และการบริหารทรัพยากรบุคคลสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะยังคงดำเนินงานตามปกติต่อไป”
สำหรับ foodpanda เป็นบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ปี 2555 หรือตั้งแต่ 13 ปีก่อน เรียกได้ว่าเป็นรายแรกๆ ในไทยเลยก็ว่าได้ และสามารถขยายฐานลูกค้าและการให้บริการจนครบ 77 จังหวัดทั่วไทยเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา
แต่ถึงอย่างนั้น ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่าย ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงในตลาดนี้ foodpanda ประสบภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง
โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานผลประกอบการ บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ จำกัด ในปี 2562-2566 ไว้ดังนี้
-ปี 2562 รายได้ 818,156,828 บาท ขาดทุน 1,264,503,583 บาท
-ปี 2563 รายได้ 4,375,128,919 บาท ขาดทุน 3,595,901,657 บาท
-ปี 2564 รายได้ 6,786,566,010 บาท ขาดทุน 4,721,599,978 บาท
-ปี 2565 รายได้ 3,628,053,048 บาท ขาดทุน 3,255,107,979 บาท
-ปี 2566 รายได้ 3,843,303,372 บาท ขาดทุน 522,486,848 บาท
หรือรวมแล้วในระยะเวลา 5 ปี ขาดทุนสะสมรวม 13,359,600,045 บาท และนั่นก็น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยุติกิจการในครั้งนี้
ย้อนฟัง ‘ยอด ชินสุภัคกุล’ นี่คือปีแห่งความจริงของตลาดฟู้ดเดลิเวอรีเมืองไทย
สมรภูมิตลาดฟู้ดเดลิเวอรีเมืองไทยในปี 2567 ยังคงร้อนแรงเช่นเคย ขณะที่รายใหญ่ๆ ต่างก็ยังคงงัดกลยุทธ์ใหม่ๆ มาสู้กันอย่างดุเดือด แต่บางรายกระแสเริ่มเงียบ ไปจนถึงข่าวใหญ่เป็นของ ‘โรบินฮู้ด’ ที่ประกาศปิดตัว ก่อนที่จะมีนายทุนซื้อกิจการไปทำต่อ
สถานการณ์ที่เห็นในปี 2567 นั้น ‘ยอด ชินสุภัคกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai มองว่านี่คือปีแห่งความจริงของตลาดฟู้ดเดลิเวอรีเมืองไทยแล้ว
“การมีผู้เล่นเปลี่ยนหน้าไป ทำให้เริ่มเห็นแล้วว่าสุดท้ายจะเหลือผู้เล่นกี่รายในตลาดระยะยาว ซึ่งตรงกับตลาดทั่วโลกที่สุดท้ายจะเหลือผู้เล่น 2-3 ราย เนื่องจากตลาดนี้เป็นตลาดที่ Volume สูง ต้องการการมี Economy of Scale และต้องการบริษัทที่ไซส์ขนาดหนึ่งในการโตได้แบบยั่งยืน ดังนั้นปีนี้เป็นความเป็นจริงว่าตลาดเป็นยังไง และใครจะอยู่ได้ในระยะยาว”
เขายังมองอีกว่าปี 2568 จะยิ่งชัดขึ้นกว่าเดิมว่าผู้เล่น 2 อันดับแรกจะเป็นอย่างไร และผู้เล่นที่เหลือจะเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในปี 2566 เคยมีข่าวต่างประเทศรายงานว่า Delivery Hero บริษัทแม่ของ foodpanda จากเบอร์ลิน เตรียมขายกิจการ foodpanda ในแถบอาเซียน โดยมีกระแสว่า Grab อาจเป็นผู้ซื้อกิจการต่อ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีความเคลื่อนไหว รวมถึงเคยมีกระแสว่า LINE MAN Wongnai จะซื้อกิจการต่อเช่นกัน แต่ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวแต่อย่างใด
ภาพ: AFP
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘ยอด’ มองตลาดฟู้ดเดลิเวอรีไทย ปีนี้เห็นชัดว่าใครจะอยู่ได้ยาว ส่วน ‘ไลน์แมน’ จำนวนธุรกรรมขึ้นอันดับ 1 แล้ว
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine