ARV เร่งแผนสเกลอัพธุรกิจ ประเดิมชิงตลาดโดรนหมื่นล้าน - Forbes Thailand

ARV เร่งแผนสเกลอัพธุรกิจ ประเดิมชิงตลาดโดรนหมื่นล้าน

ARV สตาร์ทอัพ บริษัทลูก ปตท.สผ. เร่งแผนสร้างการเติบโตกลุ่มธุรกิจหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ สร้างแหล่งรายได้ใหม่กลุ่มปตท. ปี 2565 ปั้นทีม 400 คน ขยาย 4 กลุ่มธุรกิจ ประเดิมเปิดตัว Horrus โดรนอัตโนมัติ รุกตลาดหมื่นล้าน พุ่งเป้าสู่ยูนิคอร์น

บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV ในเครือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ผู้พัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ของไทย วางแผนธุรกิจปี 2565 เร่งสร้างธุรกิจเติบโต (สเกลอัพ) ตั้ง 4 บริษัทย่อย ขยายทีมงานเป็น 400 คน ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV เปิดเผยว่า ในปี 2565 บริษัทวางแผนขยายธุรกิจด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ให้เติบโต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทในกลุ่ม ปตท. เป็นแหล่งรายได้ใหม่นอกกลุ่มพลังงาน และมีเป้าหมายเพื่อสร้างสตาร์ทอัพยูนิคอร์น โดยมีแผนขยายธุรกิจใน 3 มิติ ได้แก่ บุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน และการขยายธุรกิจใหม่ สำหรับการขยายมิติด้านบุคลากร ในปี 2565 จะเพิ่มทีมงานจากปัจจุบันมี 240 คน เพิ่มเป็น 400 คน มิติด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้ลงทุนก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา ในพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ วังจันทร์ วัลเล่ย์ จ.ระยอง และมิติที่สาม คือการขยายธุรกิจใหม่ ซึ่งจะมีการตั้งบริษัทย่อย 4 บริษัท ได้แก่ 1.ROVULA สำรวจตรวจสอบและซ่อมแซมอุปกรณ์ใต้ทะเล 2.Varuna สำรวจพื้นที่เกษตรและป่าไม้ ประมวลผลด้วย AI และการจัดการอย่างยั่งยืน 3.Skyller ตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มเทคโนโลยี AI 4.Cariva เครือข่ายด้านสุขภาพ พัฒนาเทคโนโลยี AI และ IOT ที่มุ่งแสวงหาการลงทุนร่วมกับพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น “เออาร์วี อยู่ระหว่างการพัฒนาธุรกิจ ในด้านต่างๆ นอกเหนือจากกลุ่มพลังงาน ทั้งในด้านการเกษตร เฮลธ์แคร์ ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ เพื่อสเกลอัพธุรกิจให้เติบโต สามารถปลดล็อกไปสู่ยูนิคอร์นได้” ธนากล่าว

รุกตลาดโดรนหมื่นล้าน

ล่าสุด เออาร์วี ได้เปิดตัว “Horrus: Fully Automated Drone Solution” เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ที่สามารถทำงานได้ด้วยการขับเคลื่อนตัวเองอย่างเป็นอิสระ (Unmanned Aerial Vehicle) อย่างสมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดเดิมๆ ที่เกิดขึ้นจากปัญหาการใช้งานโดรนในอุตสาหกรรมต่างๆ
ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV
ธนา กล่าวว่า เทคโนโลยีโดรน หรืออากาศยานไร้คนขับเป็นเทคโนโลยีที่มีความโดดเด่น และนำมาประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรมที่หลากหลายและแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันตลาดโดรนในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 380 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท แต่ข้อจำกัดสำคัญของการบินโดรน คือจะต้องถูกควบคุมโดยนักบิน UAV ที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการบิน ซึ่งมีจำนวนบุคลาน้อย ไม่เพียงพอ และใช้ต้นทุนสูง เออาร์วี จึงพัฒนา “Horrus: Thailand First Fully Automated Drone Solution” ปลดล็อกข้อจำกัด และปฏิบัติงานอัตโนมัติ 100 เปอร์เซ็นต์ มีระบบเชื่อมต่อข้อมูล ระบบไฟฟ้า ระบบนำร่อง โดยทดลองใช้งานที่วังจันทร์ วัลเล่ย์ จ.ระยอง และเตรียมต่อยอดนำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน ก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค โทรคมนาคม การเกษตร  ขนส่ง การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ และบรรเทาสาธารณภัยในอนาคต ด้าน ภาคภูมิ เกรียงโกมล Robotic Team Lead ของเออาร์วี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยข้อจำกัดด้านบุคลากร ที่มีไม่เพียงพอ และมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้การสเกลอัพในธุรกิจโดรนมีข้อจำกัด จึงคิดหาโซลูชัน จะที่ขยายธุรกิจได้ โดยจุดเด่นของเทคโนโลยี Horrus คือสามารถปล่อยให้โดรนปฏิบัติการแบบอัตโนมัติได้ ควบคุมการทำงานอิสระ 100 เปอร์เซ็นต์ รายแรกและรายเดียวของประเทศ เทคโนโลยี “Horrus: Fully Automated Drone Solution” มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ 1. โดรนไร้คนขับ แบบ 4 ใบพัด บินต่อเนื่องได้ประมาณ 30 นาที ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง 2. แพลตฟอร์ม ควบคุมการทำงานจากระยะไกลเพื่อควบคุม Horrus และ 3. Ground control station เป็นฐานในการรับคำสั่งการบิน และชาร์จไฟ ในการปฏิบัติภารกิจ ซึ่งเมื่อ 3 ส่วนนี้ทำงานร่วมกัน ผู้ใช้งาน (User) Horrus จะสามารถตั้งโปรแกรมการปฏิบัติภารกิจล่วงหน้าได้จากผ่านการควบคุมระยะไกล เช่น การใช้โดรนตรวจสอบแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล ปกติถ้าใช้พนักงาน จะต้องใช้เวลา 8 ชั่วโมง แต่หากใช้โดรนจะใช้เวลา 5 – 10 นาที สามารถบรรุเป้าหมายการทำงานได้เช่นกัน ธนา กล่าวว่า มูลค่าตลาดโดรนมีความน่าสนใจ สำหรับประเทศไทย มีโอกาสที่จะเติบโตสูง เออาร์วี มองว่าไทยมีโอกาสในการนำโดรนมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ปัจจุบัน เราใช้งานแค่ในส่วนธุรกิจ B2B แต่ยังมีโอกาสทางธุรกิจ B2C ด้วย เช่น บริการขนส่ง เดลิเวอรี่ โลจิสติกส์ ที่ปัจจุบันยังต้องปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย หากสามารถปลดล็อกได้ ตลาดโดรนมีโอกาสเติบโตสูงอย่างแน่นอน อ่านเพิ่มเติม: อภิรักษ์ โกษะโยธิน พา V Foods เข้าตลาดฯ หยั่งรากธุรกิจอาหารจากพืช
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine