โควิด-19 ทำช็อปออนไลน์ไทยพุ่ง 80% ลาซาด้า งัดสารพัดแผนหนุน SMEs - Forbes Thailand

โควิด-19 ทำช็อปออนไลน์ไทยพุ่ง 80% ลาซาด้า งัดสารพัดแผนหนุน SMEs

ลาซาด้า เผยห้างปิดจากโควิด-19 แต่ดีมานด์ยังมีอยู่ ทำช็อปออนไลน์ไทยเติบโต 80% ผุดสารพัดแผนสนับสนุน SMEs สู้วิกฤต

ภารดี สินธวณรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทำให้ห้างร้านต้องปิดดำเนินการลงชั่วคราว ผู้บริโภคจึงหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีการเติบโตสูงขึ้นถึง 80% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน

สำหรับในส่วนของลาซาด้า จำนวนนักช็อปที่ซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มลาซาด้าเพิ่มขึ้นกว่า 60% ทั้งยังพบว่าลูกค้าใช้เวลาเฉลี่ยในการใช้งานต่อครั้ง 11 นาที ซึ่งนานขึ้นถึง 11%

นอกจากนี้ยังพบว่า จำนวนผู้ขายบนลาซาด้าเพิ่มขึ้นกว่า 26,000 รายในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยปัจจุบันลาซาด้ามีผู้ขายที่เป็นร้านค้าและแบรนด์ทั้งหมดกว่า 200,000 ราย ส่งผลให้ภาพรวมความสำเร็จของลาซาด้าเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน

โดยยอดคำสั่งซื้อในลาซาด้าพุ่งขึ้น 100% และมูลค่าการซื้อ-ขายสินค้าสูงขึ้นถึง 130% เมื่อเทียบระหว่างต้นเดือนกุมภาพันธ์ และต้นเดือนเมษายน

“เรามองว่าสถิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ อย่างเช่น ยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จะกลายเป็น new normal ในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากการสถานการณ์นี้ได้ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป”

สำหรับสินค้าที่ขายดีในช่วงนี้ มีการปรับเปลี่ยนจากสินค้าแฟชั่น และสินค้ากลุ่มโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต มาเป็นสินค้ากลุ่มชุดอยู่บ้าน, สินค้าอุปโภคบริโภคอย่างสบู่ แชมพู, เครื่องฟอกอากาศ และอาหารเสริม ซึ่งตอบรับกับชีวิตความเป็นอยู่และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

(ซ้าย) ธนิดา ซุยวัฒนา, (ขวา) ภารดี สินธวณรงค์
 

เปิดแผนหนุนภาคธุรกิจให้ไปต่อได้

ธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารฝ่ายธุรกิจ กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 เราพบว่าความต้องการของผู้บริโภคยังมีอยู่ สะท้อนจากแคมเปญในช่วง Birthday ของลาซาด้าที่ยอดขายเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากแคมเปญเดียวกันในปีก่อน เราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อสนับสนุนให้แบรนด์ต่างๆ ยังดำเนินธุรกิจและเติบโตไปได้ จึงเปิดตัวมาตรการพิเศษที่จะเข้ามาช่วยเหลือและช่วยสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับธุรกิจ SMEs และแบรนด์ต่างๆ เพิ่มเติม ดังนี้

-O2O Promoter & Affiliate Program: จากการที่ห้างสรรพสินค้าที่ต้องหยุดให้บริการชั่วคราว ทำให้พนักงานจากร้านค้าต่างๆ ในห้างสรรพสินค้าไม่ได้รับค่าคอมมิชชั่นจากการขาย จึงเปิดโอกาสให้พนักงานเหล่านี้ได้เข้ามาขายของผ่านสื่อโซเชียลมีเดียของตนเอง โดยลาซาด้าจะทำการติด Tracking link ให้ และมีระบบตรวจสอบข้อมูลยอดขายจาก Link ของแต่ละคน

อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ใช้ฟังก์ชั่น  LazLive ไลฟ์สตรีมบนแอปพลิเคชันลาซาด้าฟรีอีกด้วย โดยพนักงานจะได้รับค่าคอมมิชชั่นจากแบรนด์และลาซาด้า

ทั้งนี้ ขณะนี้มีแบรนด์ชั้นนำบน LazMall ตอบรับเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 20 แบรนด์ อาทิ Samsung, OPPO, Vivo, L'Oréal, Garnier, Maybelline มีพนักงานขายเข้าร่วมโครงการมากถึง 15,000 คน ซึ่งจากการดำเนินงานในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สามารถสร้างจำนวนคนเข้าร้านค้าได้มากขึ้นกว่า 100% มีจำนวนลูกค้าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 37% และยอดขายโดยรวมพุ่งขึ้นกว่า 42%

-SME Stimulus Package: ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2563 มุ่งช่วยเหลือ SME ไทยกว่า 50,000 ราย ไม่ว่าจะเป็นผู้ขายเดิมหรือผู้ขายใหม่ ด้วยสิทธิประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ฟรี 0% ค่าคอมมิชชั่น และค่าธรรมเนียมการชำระเงิน โดยลาซาด้าเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด, เปิดร้านออนไลน์ได้รวดเร็วทันใจภายใน 3 นาที และสามารถเข้าถึงบริการสนับสนุนอื่นๆ เพิ่มเติมฟรี

รวมถึงใช้ประโยชน์จากทราฟฟิกและเครื่องมือทางการตลาดที่ลาซาด้ามอบให้โดยเฉพาะ อาทิ LazLive ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นไลฟ์สตรีมที่ลาซาด้าเปิดให้บริการมาราวปีครึ่ง เพื่อให้ผู้บริโภคมีความสนุกในการช็อปปิ้ง ซึ่งเป็นบริการที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ โดยมีคอนเทนต์ที่หลากหลายให้ได้รับชมกว่า 500 คอนเทนต์ต่อสัปดาห์

ปัจจุบันมีผู้ขายกว่า 2,500 รายลงทะเบียนทำคอนเทนต์ LazLive โดยผู้ขายมากกว่า 150 ราย ทำคอนเทนต์ผ่าน LazLive เป็นประจำทุกวัน ซึ่งลาซาด้ามอบคูปองส่วนลด 20% ให้ผู้ขายที่เริ่มไลฟ์สตรีมบน LazLive โดยปัจจุบันมีจำนวนยอดการรับชมรวมกว่า 10 ล้านครั้งใน 2 เดือนที่ผ่านมา และสามารถสร้างคำสั่งซื้อได้มากกว่า 20,000 รายการ

“LazLive ไม่เพียงแต่สนับสนุนผู้ขายเท่านั้น แต่ลาซาด้ายังมี LazTalent ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าทำไลฟ์สตรีมรีวิวสินค้าที่ชื่นชอบ และสามารถเปลี่ยนความชอบเป็นรายได้ในช่วงวิกฤตนี้ได้ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 240 รายที่หันมาสร้างคอนเทนต์มากกว่า 450 คอนเทนต์ต่อสัปดาห์” ธนิดากล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ลาซาด้าตั้งเป้าจำนวนผู้ขายและผู้บริโภคทำคอนเทนต์บน LazLive มากขึ้นเฉลี่ย 40% ต่อเดือน มีจำนวนคอนเทนต์เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า หรือประมาณ 1,800 คอนเทนต์ต่อสัปดาห์ และเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ SME ได้ถึง 20%

 

ออกแคมเปญสำหรับผู้บริโภค

ภารดี ระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้บริโภค ลาซาด้าได้ออกแคมเปญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าลดราคาพิเศษ, แคมเปญส่งฟรีตลอดเดือนเมษายน เมื่อซื้อสินค้า 3 ชิ้นขึ้นไป เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค

“เรายังยึดมั่นในความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงาน จึงมีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรักษามาตรฐานความสะอาดทั้งในคลังสินค้า รวมไปถึงพนักงานส่งสินค้าทุกคน โดยมีมาตรการวัดอุณหภูมิ, มอบหน้ากากและเจลแอลกอฮอล์ให้กับพนักงานด้วย” ภารดี กล่าว

 

แผนสนับสนุนสังคมไทยของ ลาซาด้า

ภารดีกล่าวว่า ลาซาด้าไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับผู้ค้าและลูกค้า แต่ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญและปัญหาต่างๆ ในสังคมไทย โดยลาซาด้าพร้อมให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ผ่านแคมเปญและกิจกรรมต่างๆ อาทิ

ลาซาด้ามอบเงินบริจาครวม 3 ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อการจัดซื้อเวชภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น

เปิดช่องทางการบริจาคออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มลาซาด้า เพื่อสนับสนุนองค์กรไม่แสวงกำไร ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และองค์กรสาธารณกุศลต่างๆ

แคมเปญ #LazHappyHeart สนันสนุนให้คนอยู่บ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม แต่ยังสามารถส่งต่อความรักให้แก่กันได้ ผ่านการโพสต์ภาพท่ามินิฮาร์ทขณะ Video Call กับเพื่อนๆ พร้อมติดแฮชแท็ก #LazHappyHeart ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram หรือ Twitter ระหว่างวันที่ 17 เมษายน - 1 พฤษภาคมนี้ ทุกๆ หนึ่งแฮชแท็ก ลาซาด้าจะนำเงินไปจัดซื้อของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เพื่อบริจาคให้คนไร้บ้านผ่านทางมูลนิธิอิสระชน และหากโพสต์ใดไอเดียโดนใจคณะกรรมการ รับเงิน 1,000 บาท จำนวน 3 รางวัล แจกรางวัลทุกสัปดาห์เข้าบัญชีลาซาด้าวอลเล็ต

   
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine