งานวิจัยจาก Google, Temasek และ Bain & Company เผย เศรษฐกิจดิจิทัล ของไทยมีมูลค่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญ ใหญ่อันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เติบโตเฉลี่ย 29%
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันโลกดิจิทัลได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องต่อชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การเสพข่าวสาร, การเรียกรถ, การสั่งอาหาร, การซื้อของออนไลน์ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ เศรษฐกิจดิจิทัล หรือมูลค่าเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีดิจิทัลเติบโตขึ้นทั่วโลก
ที่น่าสนใจคือ แม้เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทยจะยังไม่ได้มีมูลค่ามหาศาลเหมือนฝั่งสหรัฐอเมริกาและจีน แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมากลับมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดย Google และ Temasek ซึ่งทำการวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่ผลการวิจัยครั้งแรกในปี 2559 ในปีนี้ได้นำเสนอผลการวิจัยอีกครั้ง โดยมี Bain & Company เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะพันธมิตรวิจัยหลักด้วย
คนไทยใช้เน็ตผ่านมือถือมากสุดในโลก
เอพริล ศรีวิกรม์ รักษาการผู้จัดการส่วนภูมิภาค Google ประเทศไทย เผยถึงงานวิจัยครั้งนี้ โดยระบุว่า ปัจจุบันประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึง 360 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 260 ล้านคน ซึ่ง 90% ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ และเป็นภูมิภาคที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือมากที่สุดในโลก
ขณะที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมากกว่า 47 ล้านคนในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีจำนวน 38 ล้านคน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยจำนวนเวลาที่ใช้งานอยู่ที่ 5.13 ชั่วโมง/วัน ขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 3.13 ชั่วโมง/วันเท่านั้น
ทั้งนี้ ที่น่าสังเกตคือ 4 อันดับแรกของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมากที่สุดในโลกอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตามลำดับ
อี-คอมเมิร์ซ - บริการเรียกรถ ปัจจัยหนุน "เศรษฐกิจดิจิทัล"
งานวิจัยยังระบุอีกว่า ครึ่งหนึ่งของประชากร 360 ล้านคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เป็นกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value: GMV) ในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้ จากปี 2558 ที่อยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านเหรียญ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านเหรียญในปี 2568 (ปีที่แล้วคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านเหรียญในปี 2568)
การเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ไม่ใช่เพียงแค่จำนวนผู้ใช้บริการใน 4 เซกเตอร์ที่งานวิจัยโฟกัส (อี-คอมเมิร์ซ, สื่อออนไลน์, บริการเรียกรถออนไลน์ และท่องเที่ยวออนไลน์) เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่จำนวนการใช้บริการยังเติบโตแบบก้าวกระโดด
ตัวอย่างคือ จำนวนแอคทีฟยูสเซอร์ของบริการอี-คอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้ที่เพิ่มขึ้นจาก 49 ล้านรายในปี 2558 เป็น 150 ล้านรายในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ขณะที่แอคทีฟยูสเซอร์ของบริการเรียกรถเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านรายในปีนี้ จากปี 2558 ที่อยู่ที่ 8 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า
“สองเซกเตอร์นี้เป็นเซกเตอร์สำคัญที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง และเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ จึงมีการปรับประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้น ทั้งนี้ หลังจากยูสเซอร์เริ่มรู้จักการใช้งานอี-คอมเมิร์ซและบริการเรียกรถแล้ว เรียกได้ว่าทั้งสองบริการกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะคนเมืองที่สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้” เอพริล กล่าว
เอพริล กล่าวอีกว่า การเติบโตของบริการเรียกรถนั้นเห็นในเมืองที่มีปัญหาเรื่องการจราจร มลพิษ ราคารถยนต์ นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากบริการรับ-ส่งอาหารที่คนใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่นเดียวกับบริการอี-คอมเมิร์ซ ที่ผู้บริโภคเปลี่ยนจากการซื้อของชิ้นใหญ่มาเป็นซื้อของในชีวิตประจำวัน รวมถึงการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ที่ทำให้สามารถส่งของได้ภายใน 2 วันหรือในวันที่สั่ง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้อี-คอมเมิร์ซเติบโต
งานวิจัยยังพบอีกว่า ในเมืองใหญ่ 7 เมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรคิดเป็น 15% ของประชากรทั้งหมด มีสัดส่วนการใช้จ่ายสูงถึง 52% ของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลส่วนใหญ่เริ่มต้นขึ้นในเมืองใหญ่ก่อน
โดยคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีการจับจ่ายใช้สอยผ่านอี-คอมเมิร์ซมากกว่าคนนอกเมืองใหญ่ถึง 4 เท่า และในระดับภูมิภาค คนในเมืองใหญ่ใช้จ่ายมากกว่าคนนอกพื้นที่เมืองใหญ่ถึง 6 เท่า อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลนอกเมืองใหญ่ในภูมิภาคนี้จะเติบโตได้รวดเร็วกว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในเมืองถึง 2 เท่าภายในปี 2568 ซึ่งเป็นผลมาจาก engagement ที่เพิ่มขึ้นของคนกลุ่มนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดงานและโอกาสใหม่ๆ ตลอดจนความต้องการด้านการศึกษาและการฝึกอบรมที่สูงขึ้น
ข้อมูลจากงานวิจัยระบุอีกว่า ปัจจุบันยอดมูลค่าสินค้ารวม หรือ GMV ในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้คิดเป็น 3.7% ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาที่ในปี 2559 อยู่ที่ 6.5% แสดงให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตอีกมหาศาล
โดยประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอัตราการเติบของเศรษฐกิจดิจิทัลมาก ได้แก่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (ระหว่างปี 2558-2562) อยู่ที่ 29% ปัจจุบันมีมูลค่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค และคาดว่าจะเติบโตทะลุ 5 หมื่นล้านเหรียญในปี 2568
เจาะลึกการเติบโต 4 เซกเตอร์หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล
อี-คอมเมิร์ซถือเป็นภาคส่วนที่มีการเติบโตมากที่สุดในภูมิภาครวมถึงไทย โดยในประเทศไทยมีการเติบโตเฉลี่ย 54% ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งจะมีมูลค่าแตะ 5 พันล้านเหรียญในปีนี้ และ 1.8 หมื่นล้านเหรียญในปี 2568 โดยการเติบโตนี้เป็นผลมาจากการจัดช้อปปิ้งเฟสติวัลบ่อยครั้ง ซึ่งพบว่ายอดค้นหาเกี่ยวกับคูปองส่วนลดและ voucher ใน Google เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2019
นอกจากนี้แอพพลิเคชั่นอี-คอมเมิร์ซยังเพิ่มกลยุทธ์เอนเตอร์เทนเมนต์บนแอพฯ ไม่ว่าจะเป็นการไลฟ์สตรีมมิ่งจากบล็อกเกอร์และผู้ขาย ทำให้ผู้ซื้อได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ขายได้ ขณะที่ผู้ขายเองยังมีการพัฒนามากขึ้นทั้งในเรื่องคุณภาพสินค้า การให้ข้อมูล และบริการ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทอี-คอมเมิร์ซก็ทำงานร่วมกับผู้ขายมากขึ้นเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ เนื่องจากแรงกดดันที่บริษัทต้องการเพิ่มรายได้ของธุรกิจตนเอง
อีกภาคธุรกิจที่มีการเติบโตน่าสนใจคือบริการเรียกรถออนไลน์ (Ride Hailing) โดยในไทยมีมูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญในปีนี้ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 36% ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการขยายบริการไปสู่บริการเดลิเวรี่และบริการทางการเงิน โดยเฉพาะบริการเดลิเวรี่ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญ โดยพบว่ายอดค้นหาใน Google เกี่ยวกับบริการนี้เพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า
แรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตของบริการรับ-ส่งอาหารมาจากกลยุทธ์ Loyalty & Rewards ของผู้ให้บริการ ที่ทำให้ยูสเซอร์ที่ไม่เคยใช้ก็หันมาใช้ และยูสเซอร์ที่ใช้บริการอยู่แล้วก็ใช้บ่อยขึ้น
ขณะที่สื่อออนไลน์ (โฆษณา เกม บริการติดตามเพลงและวิดีโอ) ในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 39% คาดว่ามีมูลค่า 3 พันล้านเหรียญในปีนี้ และทะลุ 7 พันล้านเหรียญในปี 2568 ซึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการใช้โซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มวิดีโอที่สูงมาก รวมถึงการมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ท้องถิ่น ซึ่งไทยมีผู้ผลิตคอนเทนต์ที่มีทักษะสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเซกเตอร์นี้ได้เป็นอย่างดี
สุดท้ายคือการท่องเที่ยวออนไลน์ (ธุรกิจจองโรงแรม ที่พัก และเที่ยวบิน) ยังคงเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดและอิ่มตัวมากที่สุดในไทย โดยมูลค่าตลาด (Gross Booking Value) ในปี 2562 อยู่ที่ 7.2 พันล้านเหรียญ อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 17% โดยการค้นหาเกี่ยวกับโรงแรมราคาประหยัด (budget hotel) ใน Google เติบโตขึ้นถึง 9 เท่าจากปีก่อน รวมถึงการค้นหาการเช่าที่พัก (แนว Airbnb) เติบโตมากขึ้นถึง 3 เท่า ซึ่งหากมาตรการที่ควบคุมในบางพื้นที่ผ่อนคลายมากกว่านี้ ก็จะช่วยให้การเติบโตเพิ่มขึ้นไปอีก
ยิ่งอยู่บนแอพฯ นาน โอกาสขายได้ก็มาก
งานวิจัยเผยว่า บริษัทใหญ่ๆ ต่างพยายามให้ผู้ใช้ใช้เวลาอยู่บนแอพฯ นานขึ้น เพราะเชื่อว่ายิ่งใช้เวลาบนแอพฯ มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสขายได้มากขึ้น โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต่างไปจากภูมิภาคอื่น ทำให้บริษัทต่างๆ พยายามออกแบบแพลตฟอร์มให้ยูสเซอร์อยู่บนแพลตฟอร์มของตนให้นานที่สุด ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่น ผู้ให้บริการมักพยายามออกแบบแพลตฟอร์มใช้งานง่าย อยู่ในแอพฯ น้อย แต่ใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว
เหตุดังกล่าวทำให้ทุกธุรกิจได้ขยายบริการของตนไปยังธุรกิจใกล้เคียงมากขึ้น เช่น จากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ก็ขยายไปสู่ธุรกิจสตรีมมิ่ง, เกม, ข่าวสาร, โฆษณา, ท่องเที่ยว และการเงิน เป็นต้น ซึ่งผลดีต่อผู้บริโภคคือทำให้เกิดการแข่งขัน ผู้เล่นต่างพยายามพัฒนาตัวเอง แพลตฟอร์มมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และผู้บริโภคก็มีตัวเลือกมากขึ้นด้วย
ความท้าทายต่อระบบนิเวศ
แม้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค การขนส่ง และการชำระเงินออนไลน์จะพัฒนาไปไกลและมีการเติบโตในทิศทางที่ดี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงน่ากังวลในภูมิภาคนี้คือเม็ดเงินลงทุนในสตาร์ทอัพและความสามารถของคน
โดยเม็ดเงินลงทุนยังไหลเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แต่สตาร์ทอัพไทยยังคงขาดเงินทุนในการจัดตั้งธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะในระยะ Later-Stage ซึ่งเป็นหลังจากผ่านพ้นระยะเริ่มต้นไปแล้ว โดย 5 ปีที่ผ่านมามีการลงทุน 2.4 หมื่นล้านเหรียญในสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียง 11 บริษัทเท่านั้น และมีการลงทุนเพียง 5 ล้านเหรียญ ในสตาร์ทอัพกว่า 70 รายที่กำลังพยายามก้าวไปสู่ระดับยูนิคอร์น
ความท้าทายที่สำคัญที่สุดต่อระบบนิเวศของเศรษฐกิจดิจิทัลคือความสามารถหรือ talent ของคนในภูมิภาค ซึ่งเริ่มเห็นหลายบริษัทก้าวเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มทักษะความสามารถด้านดิจิทัลของพนักงานระดับมืออาชีพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้คือผู้ก่อตั้งหลายรายที่เป็นคนในภูมิภาคนี้แต่ไปสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศอื่น ยังเล็งเห็นศักยภาพของภูมิภาคและกลับมาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อ่านเพิ่มเติม- เจาะลึกผลวิจัย Google ปรับคาดการณ์ “เศรษฐกิจดิจิทัลไทย” ขึ้นเป็น 4.3 หมื่นล้านเหรียญ
- เศรษฐกิจบนฐาน Digital Economy
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine