ส่องทางออกของ Uber แอพฯ ที่ละเมิดกฎหมายทั่วโลก - Forbes Thailand

ส่องทางออกของ Uber แอพฯ ที่ละเมิดกฎหมายทั่วโลก

หลังกรมการขนส่งทางบกมีการล่อจับ Uber และ GrabCar ในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อช่วงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2560 ติดตามมาด้วยการให้สัมภาษณ์ของ ณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐจะใช้ กฎหมายมาตรา44 เพื่อปิดการให้บริการของ Uber และ GrabCar ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ทั้งฝ่ายผู้โดยสารที่รู้สึกเสียดายหากทางเลือกการเดินทางจะถูกระงับบริการ และความหวาดกลัวของพาร์ทเนอร์ผู้ร่วมขับขี่กับ Uber ที่เลือกจะงดออกให้บริการในระยะนี้เนื่องจากหวั่นเกรงการถูกจับกุม สำหรับ Uber เป็นบริการ Ridesharing โดยบริษัทเทคโนโลยีจาก San Francisco ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ก่อตั้งคือ Travis Kalanick เริ่มต้นธุรกิจในปี 2009 ก่อนจะขยายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว รวมถึงประเทศไทยที่ Uber เข้ามาเปิดบริการในปี 2014 ในช่วงที่เริ่มเปิดตัวนั้นมีการให้สัมภาษณ์จาก ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก แล้วครั้งหนึ่งว่า Uber ถือเป็นบริการที่ผิดกฎหมาย ลักษณะการทำงานของธุรกิจ Uber เป็นการเรียกบริการรถแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ แต่รถแท็กซี่ที่ใช้บริการไม่ใช่รถแท็กซี่สาธารณะป้ายทะเบียนสีเหลืองตามปกติ หากแต่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลป้ายดำ และผู้ขับขี่เพียงถือใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลก็สามารถร่วมขับขี่กับ Uber ได้ โดยเมื่อเรียกรถของ Uber แล้ว ผู้ขับขี่จะต้องไม่ปฏิเสธผู้โดยสารไม่ว่าจะมีจุดหมายปลายทางที่ใด (ยกเว้นอยู่นอกเขตบริการ) หลังไปถึงจุดหมายแล้ว สามารถตัดค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิต/เดบิตที่ลงทะเบียนไว้ทันที และมีระบบให้คะแนนคนขับผู้ให้บริการ ซึ่งถ้าหากคะแนนผู้ขับลดระดับลงมาก Uber อาจพิจารณาระงับผู้ขับออกจากระบบ ด้านค่าโดยสารในกลุ่ม UberX ซึ่งเป็นรถยนต์ธรรมดา (เช่น Honda City, Mazda 2, Mitsubishi Attrage) ถือว่าใกล้เคียงกับแท็กซี่ปกติ ยกเว้นในพื้นที่ที่ดีมานด์ต่อรถ Uber สูงกว่าซัพพลาย ระบบจะปรับค่าโดยสารสูงขึ้นอัตโนมัติ ข้อดีของ Uber จึงเข้ามาทดแทนจุดอ่อนของรถแท็กซี่ทั่วไปหลายประการ อาทิ ไม่สามารถปฏิเสธผู้โดยสาร คิดค่าใช้จ่ายตามจริงไม่มีปัดเศษขึ้น สามารถร้องเรียนพฤติกรรมได้และมีระบบลงโทษที่เข้มงวด แต่แน่นอนว่า รูปแบบของ Uber เป็นการละเมิดกฎหมายตามพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ของไทย หลักๆ คือการห้ามมิให้นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ผิดประเภทคือนำมาบริการสาธารณะ และผู้ขับรถจะต้องมีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ นอกจากนี้ ตามปกติแล้วรถแท็กซี่จะต้องปฏิบัติตามประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติในรายละเอียดต่างๆ เช่น การแต่งกายต้องเป็นเสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว และติดชื่อนามสกุลที่อกเสื้อด้วย

ต่อต้านทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทยที่เกิดแรงต้านจากหน่วยราชการหรือผู้ขับรถแท็กซี่ดั้งเดิม เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลกแม้แต่ที่ประเทศต้นกำเนิดอย่างสหรัฐฯ ในช่วงแรกของการให้บริการเมื่อปี 2009-2014 หลายมลรัฐมีการฟ้องร้อง Uber ที่ละเมิดกฎหมายเนื่องจากผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตหรือขั้นตอนการตรวจสอบผู้ขับขี่ไม่รัดกุม ไม่ว่าจะเป็นรัฐ Illinois, Nevada, New York, Oregon ฯลฯ ถัดลงมาที่ทวีปอเมริกาใต้ The Guardian รายงานว่าเมื่อปี 2015 Eduardo Paes นายกเทศมนตรีเมือง Rio de Janeiro ประเทศบราซิล ได้ผ่านกฎหมายเพื่อยุติการให้บริการของ Uber หลังการประท้วงหลายครั้งของแท็กซี่ดั้งเดิม ซึ่งมองว่า Uber เป็นการบริการผิดกฎหมายและเอาเปรียบการแข่งขัน เพราะผู้ขับ Uber ไม่ได้จ่ายภาษี ไม่ถูกตรวจสอบโดยรัฐ และไม่เสียค่าธรรมเนียมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการขับรถสาธารณะ หรือประเทศใกล้เคียงไทยอย่างอินโดนีเซีย Jakarta Globe รายงานเมื่อปี 2014 ว่า หน่วยงานราชการมองว่า Uber ถือเป็นบริษัทให้บริการรถแท็กซี่ (แม้ว่า Uber มักจะนิยามตนเองว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยี) ดังนั้นรถที่เรียกผ่าน Uber จะต้องใช้ป้ายทะเบียนเหลืองหมายถึงเป็นรถสาธารณะ หลังจากนั้นเมื่อปีก่อน ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า คนขับรถแท็กซี่หลายพันคนรวมตัวกันหน้าอาคารรัฐสภาเพื่อประท้วง Uber และ Grab และมีการทุบทำลายรถยนต์หลายคันในบริเวณ เหตุการณ์ถูกต่อต้านและถูกตั้งข้อกล่าวหาจากรัฐยังเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ เช่น เบลเยียม เดนมาร์ก ออสเตรเลีย บัลแกเรีย คอสตาริกา ฮังการี ฯลฯ
(ขอบคุณภาพจาก: ไทยรัฐออนไลน์)
 

สู่การรอมชอมและร่วมมือ

สภาวะความโกลาหลหลัง Uber เปิดบริการที่ไม่เคยมีมาก่อนทำให้ละเมิดกฎหมายหลายประการและแย่งส่วนแบ่งตลาดจากแท็กซี่ดั้งเดิม เริ่มคลี่คลายลงบ้างในช่วงปี 2016 เดือนมิถุนายน 2016 เว็บไซต์ Syracuse.com รายงานว่า The Senate Insurance Committee ของรัฐ New York มีการผ่านกฎหมายควบคุมให้บริษัทเครือข่ายการขนส่งต้องทำประกันอุบัติเหตุวงเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อมีการรับผู้โดยสาร ขณะที่เว็บไซต์ philly.com รายงานว่ารัฐ Philadelphia มีการผ่านกฎหมายให้ Uber และ Lyft (บริการเรียกรถลักษณะเดียวกัน) สามารถให้บริการอย่างถูกกฎหมายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 แต่จะต้องเสียภาษี 1.4% ในทุกๆ เที่ยวบริการ เพื่อนบ้านของไทยอย่างประเทศมาเลเซีย เว็บไซต์ Techinasia.com เปิดเผยเมื่อเดือนสิงหาคม 2016 ว่า กรมการขนส่งทางบกของมาเลเซียเตรียมจะปฏิรูปกฎหมายเพื่อควบคุมบริการเรียกรถอิเล็กทรอนิกส์ โดยคนขับรถจะต้องมีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในปี 2014 ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศแรกในเอเชียที่อ้าแขนต้อนรับบริการเรียกรถเช่นนี้ แต่ผู้ขับจะต้องมีใบอนุญาต และบริษัทเรียกรถไม่สามารถปรับราคาขึ้นมากกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ จะเห็นได้ว่า ยังไม่มีประเทศใดหรือรัฐใดที่อนุญาตให้ Uber เปิดบริการแบบเสรี แต่มีการแก้กฎหมายหรือออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อควบคุมบริการโดยเฉพาะ เนื่องจากรัฐยังมีหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนและดูแลไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในทางธุรกิจ แต่จำเป็นที่ต้องปรับตัวตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเข้ามาสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้บริการ
(ขอบคุณภาพจาก: Posttoday)
  ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ความพยายามที่จะก้าวทันเทคโนโลยีของรัฐเกิดขึ้นเมื่อปี 2014 รัฐเคยมีแนวคิดที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นลักษณะเดียวกับ Uber แต่ใช้ผู้ขับแท็กซี่ปกติ แต่ปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้นจริง ถัดมาในปี 2015 แอพพลิเคชั่น GoBike ซึ่งใช้เรียกรถวินมอเตอร์ไซค์จากผู้พัฒนาที่มีรัฐร่วมสนับสนุนก็เกิดขึ้น และเปิดบริการจริงในปี 2016 จนถึงปัจจุบัน ฝ่ายภาคเอกชน มีความพยายามที่จะเรียกร้องให้รัฐหันมองทางเลือกอีกหนึ่งช่องทางที่ไม่ใช่เพียงเปิดเสรีหรือยกเลิกแอพพลิเคชั่น นั่นคือการ “เจอกันครึ่งทาง” กับบรรดาเทคโนโลยีเรียกรถแท็กซี่ ทำให้มีผู้ใช้บริการคือ John Collins เริ่มเรื่องรณรงค์บนเว็บไซต์ change.org เพื่อให้ปรับแก้กฎหมายให้เอื้ออำนวยต่อ Uber และ GrabCar โดยมีผู้ลงชื่อแล้วกว่า 8,000 รายชื่อ รวมถึง Uber Thailand เองเริ่มเคลื่อนไหวล่ารายชื่อให้รัฐบาลรองรับบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) แล้ว