AIS Play, JOOX, LINE TV, ทรูไอดี, viu และ YouTube ต่างมีฐานผู้ใช้ที่แข็งแรงของตนเอง "แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง" เหล่านี้จะก้าวต่อไปในทิศทางไหนท่ามกลางการแข่งขันของปี 2562
บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเวทีเสวนา
Streaming platform PLAY on-stage ในงานประกาศรางวัล Thailand Zocial Awards 2019 โดยมีผู้ร่วมเสวนาจาก 6 ค่ายแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งทั้งคอนเทนต์วิดีโอและดนตรี ได้แก่ AIS Play, JOOX, LINE TV, ทรูไอดี, viu และ YouTube ร่วมแสดงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและทิศทางอนาคตของแต่ละแพลตฟอร์ม ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่ทวีคูณขึ้นในสมรภูมิสตรีมมิ่งคอนเทนต์
AIS Play เตรียมเปิดประตูรับลูกค้านอกเครือข่าย
เริ่มด้วยแพลตฟอร์ม AIS Play โดย
ศิวพร เพ่งผล หัวหน้าแผนกงานบริหารวิดีโอและบรอดคาสต์
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า AIS Play และ Playbox มีจุดแข็งที่ความแข็งแรงจากระบบเครือข่ายและการชำระเงินที่มีอยู่เดิม ปัจจุบัน AIS Play มีลูกค้าทั้งหมด 1.7 ล้านรายที่เข้ามารับชมคอนเทนต์
โดยความก้าวหน้าในช่วงที่ผ่านมาคือ AIS Play มีการจับมือกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอื่นๆ เช่น VIU, Netflix, HOOQ เข้ามาร่วมฉายคอนเทนต์ผ่านทาง AIS Play ได้โดยตรง ซึ่งแพลตฟอร์มอื่นจะได้รับประโยชน์คือการใช้ระบบชำระเงินร่วมไปกับ AIS
ส่วนทิศทางของ AIS Play ปีนี้ จะแก้ปัญหาเรื่องการใช้งาน ทั้งปัญหาระบบค้นหา (search) ในแอพพลิเคชั่นที่ยังทำได้ไม่ดีพอ รวมถึงปัญหาคุณภาพเครือข่ายที่ยอมรับว่ายังไม่เสถียร
ด้านกลยุทธ์การเติบโตหลักๆ แบ่งเป็น 3 ส่วน หนึ่งคือจะยังคงใช้วิธีจับมือพาร์ทเนอร์ให้เข้ามาฉายคอนเทนต์ผ่าน AIS Play มากขึ้น สองจะมีการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับลงโฆษณา และสาม
จากเดิมที่ลูกค้าเครือข่ายมือถืออื่นจะไม่สามารถสมัครสมาชิกเพื่อชมคอนเทนต์พรีเมียมบน AIS Play ได้ ปีนี้จะเริ่มเปิดให้ลูกค้าเครือข่ายอื่นสามารถสมัครได้แล้ว เนื่องจากจะมีคอนเทนต์เด่นคือ
Game of Thrones season 8 จาก HBO ออกฉายบน AIS Play จึงเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมากทั้งในและนอกเครือข่าย AIS
JOOX ชูคอนเซปท์โลกแห่งดนตรี
พัชราพร ขวัญเจริญทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด
บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด รับหน้าที่ฉายภาพของ JOOX แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งดนตรีหนึ่งเดียวบนเวทีวันนี้
พัชราพรกล่าวถึงปีที่ผ่านมาของ JOOX ได้รับผลตอบรับที่ดี ปัจจุบันมี active user 10 ล้านคน และส่วนใหญ่ 79% คือกลุ่มคนวัย 18-34 ปี และ 55% ของผู้ใช้ยังเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อดูยอดการฟังเพลงแยกตามหมวดเพลงแล้ว กลุ่มหนึ่งที่กำลังมาแรงคือเพลงลูกทุ่งซึ่งปรับเพิ่มสัดส่วนจาก 10% ของการฟังทั้งหมดในปี 2560 มาเป็น 11% ในปี 2561 อีกทั้งโดยรวมแล้ว JOOX เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ฟังมักจะเลือกฟังเพลงไทยเป็นส่วนใหญ่ จึงเห็นโอกาสในการขยายตลาดต่างจังหวัด
ตัวอย่างการรุกต่างจังหวัดปีนี้ JOOX มีการจัดรายการ “เอะอะมะทัวร์” เพื่อสัมภาษณ์พูดคุยกับเหล่าศิลปินลูกทุ่ง เป็นการกระตุ้นคนฟังเพลงลูกทุ่งให้สนใจ JOOX มากขึ้น
นอกจากนี้ อีกหนึ่งทิศทางสำคัญคือฟีเจอร์คาราโอเกะที่ JOOX เปิดตัวไปเมื่อปีก่อน ปีนี้จะมีการเพิ่มลูกเล่นใหม่คือผู้ใช้สามารถอัดวิดีโอตนเองขณะร้องคาราโอเกะได้ และมีลูกเล่นที่สามารถร้องเพลงคู่ (duet) กับศิลปินที่ตนชื่นชอบได้ด้วย
“ปีนี้ก็จะต่อยอดว่าเราไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มฟังเพลงแต่เป็นทุกอย่างที่เกี่ยวกับเพลง” พัชราพรกล่าว
LINE TV ตั้งธงเข้าถึงคนทั้งประเทศภายใน 3 ปี
มาถึงแพลตฟอร์มรีรันคอนเทนต์จากโทรทัศน์อันดับ 1 ในไทยอย่าง LINE TV
กวิน ตั้งอุทัยศักดิ์ ผู้อำนวยการธุรกิจคอนเทนต์
LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทย 49% ดูโทรทัศน์ผ่านโทรศัพท์มือถือแล้ว เนื่องจากคนจำนวนมากต้องการดูรายการในเวลาที่ตนสะดวก
กวินฉายภาพว่า สำหรับคอนเทนต์ดูฟรีที่คนไทยต้องการ 47% ยังตอบว่าต้องการละครดราม่าและซีรีย์ไทย อีก 39% เป็นดนตรี และ 33% ตอบว่าเกมโชว์ นั่นหมายความว่า คนไทยยังต้องการดูคอนเทนต์ฟรีแบบเดียวกับที่เคยดูในโทรทัศน์ดั้งเดิม ประกอบกับเดโมกราฟิกของ LINE TV แสดงให้เห็นว่า ผู้ชม 57% ยังอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล วิสัยทัศน์ของบริษัทจึงต้องการจะเจาะไปในกลุ่มต่างจังหวัดให้มากกว่าเดิม
“สิ่งที่สำคัญตอนนี้คือเราเป็นโทรทัศน์ออนไลน์อันดับ 1 ก็จริง แต่เราอยากจะไปให้ถึงจุดที่เข้าถึงทุกคนในประเทศภายใน 3 ปีข้างหน้า” กวินกล่าวและเสริมว่า การเข้าถึงคนดูของ LINE TV คิดเป็น 60% เมื่อเทียบกับยอดเข้าถึงคนดูของโทรทัศน์ดั้งเดิม ดังนั้นจึงยังมีพื้นที่ให้ไปต่อ
ที่ผ่านมาคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มนี้อาจเริ่มต้นจากคอนเทนต์คนเมือง แต่ช่วงหลังเริ่มมีคอนเทนต์จากช่องวันซึ่งเจาะกลุ่มแมสเข้ามาเสริม ในปีนี้ LINE TV จะยิ่งรุกตลาดแมสด้วยคอนเทนต์ของ
ช่อง 8 ซึ่งไม่เคยมีการฉายออนไลน์ที่ไหนมาก่อน เชื่อว่าความแข็งแรงของซีรีส์อินเดียจากช่อง 8 จะช่วยเพิ่มจำนวนคนดูต่างจังหวัดได้
ทรูไอดี เดินหน้าสู้ตลาดของเถื่อน
อีกหนึ่งแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่เกิดจากการให้สิทธิพิเศษลูกค้าเดิม
สรรเสริญ สมัยสุต กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ทรู ดิจิตอล แอนด์ มีเดีย แพลตฟอร์ม จำกัด กล่าวถึงจุดต่างของทรูไอดีว่า เป้าหมายของแพลตฟอร์มนี้คือการสู้กับตลาดใต้ดิน วางกลยุทธ์เพื่อทำให้คอนเทนต์ผิดลิขสิทธิ์เข้ามาอยู่ในระบบลิขสิทธิ์ และผู้ชมยังได้ชมฟรีเหมือนกัน อีกส่วนหนึ่งคือ ทรูไอดีเป็นบริการที่เน้น web-based คือเน้นการใช้งานบนเว็บไซต์มากกว่าแอพฯ ซึ่งเหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคต่างจังหวัดอันเป็นฐานผู้ชมหลัก
สรรเสริญเปิดเผยว่า ปัจจุบันทรูไอดีมีฐานผู้ใช้ 10.2 ล้านคนต่อเดือน และมีคนเข้าสตรีมพร้อมๆ กัน (concurrent user) 4-5 แสนคน ในขณะที่มียอดดาวน์โหลดแอพฯ ทรูไอดีแล้ว 5.8 ล้านครั้ง
ในปีที่ผ่านมา ทรูไอดีมีการปรับเพิ่มสิทธิพิเศษเพื่อดึงคนเข้ามาใช้งาน คือการให้ทรูพอยท์เมื่อเข้ามารับชมคอนเทนต์ผ่านทรูไอดี และสามารถนำทรูพอยท์ที่ได้ไปแลกใช้ในเซเว่นอีเลฟเว่นหรือร้านค้าที่ร่วมรายการอื่นๆ ได้
“หลังจากทำอย่างนี้ก็จะเป็นการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ใช้ไม่ใช่แค่ดูของแท้เป็น แต่ยังรู้จักวิธีการใช้เทคโนโลยี การใช้อีคอมเมิร์ซ มันคือการ synergy กันระหว่างในเครือเราด้วย” สรรเสริญกล่าว
ส่วนทิศทางของปีนี้ ทรูไอดีจะเริ่มนำคอนเทนต์ไทยที่มีคุณภาพเข้ามาฉายมากขึ้น นอกจากที่มีการฉายฟรีทีวีอยู่แล้ว
“ถ้าเปรียบเป็นศูนย์การค้า เราเหมือนลงทุนส่วนมอลล์ไปหมดแล้ว เรามีร้านคือพวกคอนเทนต์ฮอลลีวูด ฟุตบอล คอนเทนต์ระดับโลกเข้ามาแล้ว ทีนี้ส่วนพลาซ่าที่เราจะให้คนไทยที่ทำคอนเทนต์คุณภาพแล้วไม่มีที่ลง สามารถมาลงแล้วมีรายได้ผ่านแพลตฟอร์มของเรา”
VIU บุกออริจินอลคอนเทนต์
สำหรับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่มี “Hero Content” คือซีรีส์เกาหลีอย่าง VIU (วิว)
สรวิศศ์ จินตสุนทรอุไร ผู้อำนวยการฝ่ายขาย
บริษัท พีซีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย) จำกัด หรือ PCCW จากฮ่องกง กล่าวถึงแพลตฟอร์ม VIU ว่าเข้ามาบุกตลาดเมืองไทยแล้ว 20 เดือน โดยที่แพลตฟอร์มนี้มีการบริการไปแล้ว 17 ประเทศ เน้นหนักในกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และตะวันออกกลาง
ลักษณะของ VIU เดโมกราฟิกมีความชัดเจนในการเจาะกลุ่มเฉพาะคือ 85% ของผู้ชมเป็นเพศหญิง อย่างไรก็ตาม อีก 15% ที่เป็นสัดส่วนกลุ่มผู้ชายนั้นเริ่มขยับขึ้นมาหลังจากที่ VIU มีการฉายคอนเทนต์รายการ
Produce 48 ไปเมื่อปีก่อน ทั้งนี้ สรวิศศ์มองว่า VIU สามารถเติบโตได้ดีนั้นมาจากกลยุทธ์การทำกิจกรรมร่วมกับแฟนคลับศิลปินดาราเกาหลี เช่น พาบินลัดฟ้าเข้าเยี่ยมชมการถ่ายทำรายการถึงประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้กลุ่มผู้ชมแข็งแรงมากขึ้น
ด้านแผนงานอนาคต
ปีนี้ VIU เริ่มมีการทำออริจินอลคอนเทนต์ของตัวเอง เริ่มจากละคร “โฮะแฟมิลี่” ที่อยู่ระหว่างฉาย และยังมีแผนที่จะจัดสร้างเพิ่มอีก 2-3 เรื่อง ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถตอบรับโฆษณาได้มากขึ้นผ่านการ tie-in เข้าไปในละคร
YouTube จับจังหวะต่างจังหวัดบูม
ปิดท้ายกันที่แพลตฟอร์มวิดีโอขวัญใจนักสร้างคอนเทนต์สมัครเล่น
มุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจบันเทิง
YouTube ประเทศไทย เปิดเผยถึงงานวิจัยของ YouTube พบว่า 92% ของผู้ใช้ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะใช้บริการ YouTube ด้วย ประกอบกับอันดับมิวสิกวิดีโอที่มีการรับชมสูงสุดบนแพลตฟอร์มนี้ในปี 2561 นั้น 7 ใน 10 อันดับเป็นเพลงลูกทุ่ง
รวมถึงบริษัทสังเกตเห็นว่าผู้ผลิตคอนเทนต์หลายรายเริ่มมีการเปิดช่องที่เป็นภาษาถิ่นหรือเป็นคอนเทนต์เกี่ยวกับการเกษตรสูงขึ้น YouTube จึงมองว่า
ฐานคนดูของบริษัทกำลังเปลี่ยนจากคนเมืองไปสู่คนต่างจังหวัดมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นปีนี้ YouTube จะมีการส่งเสริมผู้ผลิตคอนเทนต์ในต่างจังหวัดหรือที่ใช้ภาษาถิ่นให้มากขึ้น
นอกจากนี้ YouTube ยังต้องการพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคม โดยขยับจากเดิมที่คนส่วนใหญ่เข้ามาชมแพลตฟอร์มนี้เพื่อดูคอนเทนต์แบบ ‘lean back’ หรือคอนเทนต์แบบบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ YouTube ต้องการส่งเสริมให้แพลตฟอร์มนี้มีคอนเทนต์ประเภท ‘lean-in’ หรือเป็นความรู้ เนื้อหา How-to ที่มีประโยชน์สูงขึ้นกว่าเดิม