ออฟฟิศ Google ประเทศไทยบนอาคารปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ เพิ่งจะขยายพื้นที่สำนักงานในชั้น 14 และเพิ่มเติมบนชั้น 16 ส่วนใหญ่เพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นห้องประชุมรองรับทั้งการทำงานของพนักงาน และการจัดเวิร์กช็อปร่วมกับพันธมิตรภายนอก การขยายสำนักงานของ Google ประเทศไทยสะท้อนการให้ความสำคัญต่อตลาด และบุคคลที่เป็นแม่ทัพนำการลงหลักปักฐานของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกนี้คือ Ben King ผู้อำนวยการ Google ประเทศไทยหนุ่มออสเตรเลียวัย 35 ปี ซึ่งขึ้นรับตำแหน่งเมื่อ 3 ปีก่อน
“เราตื่นเต้นมากกับจุดที่เราอยู่ตอนนี้”
เป็นประโยคที่ King กล่าวบ่อยครั้งระหว่างที่พูดคุยกับ Forbes Thailand เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดย King เพิ่งประกาศพันธกิจ Google for Thailand ประกอบด้วย 4 เสาหลักที่ Google ต้องการจะพัฒนาสำหรับประเทศไทย ได้แก่ อินเทอร์เน็ตในราคาที่เข้าถึงได้, ให้ความรู้การใช้งานอินเทอร์เน็ต, ปรับคอนเทนต์และผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับท้องถิ่น และสุดท้ายคือการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและกลาง ( SMB: Small and Medium Business )
ประเทศไทยนั้นได้รับการประเมินว่าจะมีศักยภาพพัฒนาไปสู่มูลค่า 3.7 หมื่นล้านเหรียญได้ โดยในปี 2558 ประเทศไทยมีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล 5.8 พันล้านเหรียญแต่เมื่อสิ้นปี 2560 King กล่าวว่ามูลค่านี้ได้ทะลุ 1 หมื่นล้านเหรียญไปแล้ว
เขาแจกแจงว่า ปัจจัยต่างๆ ที่จะผลักดันให้เมืองไทยไปถึงตัวเลข 3.7 หมื่นล้านเหรียญนั้นถูกพัฒนาไปแล้วทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายโทรคมนาคมประสิทธิภาพสูง เงินทุนที่ไหลเข้าประเทศ ระบบการชำระเงินที่รัฐบาลอนุมัติการใช้งานระบบพร้อมเพย์ซึ่งทำให้การค้าออนไลน์สะดวกขึ้น รวมถึงระบบโลจิสติกส์ที่พัฒนาสูงมากจากการแข่งขันระหว่างบริษัทอี-คอมเมิร์ซรายสำคัญเช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ และล่าสุดคือ JD.com ซึ่งร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัล
อย่างไรก็ตามปัจจัยหนึ่งที่ยังมีช่องว่างอยู่คือเรื่องของ “ทักษะ” ทำให้ Google มองว่านี่คือพื้นที่หลักที่บริษัทจะมุ่งมั่นเข้าไปมีบทบาท “ทักษะของคนเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเราสามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้” King กล่าว
ติดอาวุธคนดิจิทัล
King บอกว่า แม้โครงสร้างพื้นฐานจะมีประสิทธิภาพครอบคลุมทั่วประเทศแต่ปัญหาคือราคาที่คนบางกลุ่มอาจจะเข้าไม่ถึงหรือถูกจำกัดการใช้งานดาต้า เนื่องจากใช้ระบบเติมเงิน ดังนั้น Google จึงพร้อมลงทุน Google Station ซึ่งเป็นสถานีปล่อยสัญญาณ Wi-Fi ฟรีในพื้นที่สาธารณะ ปัจจุบันเริ่มต้น 10 แห่งแรกไปแล้วโดยร่วมกับบริษัท กสท โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) (CAT) ประกอบไปด้วยจุดปล่อยสัญญาณในกรุงเทพฯ 8 แห่งและอีก 2 แห่งที่ จ.พิจิตร และ จ.เลย
เขาเลือกที่จะไม่ประกาศจำนวน Google Station ที่จะลงทุนเพิ่มต่อจากนี้ แต่ยืนยันว่า
“โอกาสมีมหาศาล ดังนั้นเราจะพิจารณาทำเลการตั้งสถานีให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้หลังจากเปิดตัวไปก็มีพื้นที่หลายแห่งติดต่อเข้ามาเพื่อให้เราเข้าไปติดตั้ง ซึ่งการพิจารณาที่ตั้งนั้นเราจะจัดสมดุลทั้งพื้นที่ที่มีจำนวนคนมาก และที่ที่เป็นชุมชนขนาดรองลงมารวมไปถึงในโครงการสมาร์ทซิตี้ต่างๆ ด้วย”
เมื่อผู้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ครอบคลุมมากขึ้นและไม่มีข้อจำกัด นำไปสู่จิ๊กซอว์ที่ 2 ของ Google คือการให้ความรู้ผู้ใช้งานและฝั่งผู้ผลิตคอนเทนต์บนโลกดิจิทัล โดยในมุมหนึ่ง Google ยื่นมือเข้าร่วมงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องการสร้างผู้จัดการชุมชน 3,000 คนเข้าไปสื่อสารกับคนในหมู่บ้าน 25,000 แห่งทั่วประเทศในการให้ความรู้ความเข้าใจการใช้งานดิจิทัล (Digital Literacy) ควบคู่ไปกับโครงการเน็ตประชารัฐของรัฐบาล
ปั้น YouTuber ให้ถึงดวงดาว
พันธกิจของ Google เกี่ยวกับการสร้างคอนเทนต์ท้องถิ่นนั้นเชื่อมโยงกับทุกผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่นที่ Google ประกาศสร้าง Maps สำหรับมอเตอร์ไซค์โดยเฉพาะ
หนึ่งในผลิตภัณฑ์สำคัญของ Google อย่าง YouTube ก็เชื่อมโยงกับพันธกิจนี้เช่นกัน King อธิบายว่ากุญแจสำคัญของการเติบโตคือการจัดสมดุลให้ทั้ง 3 กลุ่มในระบบนิเวศ YouTube คือ ผู้ใช้ (Users), ผู้สร้างคอนเทนต์ (Creators) และผู้ลงโฆษณา (Advertisers) ยังรู้สึกพอใจในการใช้แพลตฟอร์มนี้ ซึ่ง Google เชื่อว่าผู้ใช้งานจะพึงพอใจเมื่อได้รับคอนเทนต์ที่หลากหลายตรงใจ เมื่อค้นหาใน YouTube
นั่นหมายความว่า YouTube ต้องส่งเสริมให้เหล่าผู้สร้างคอนเทนต์สร้างเนื้อหาวิดีโอที่ครอบคลุมหลายหมวดไม่เฉพาะเพลงหรือความบันเทิง แต่ยังไปถึงรายการข่าว กีฬาไลฟ์สไตล์ ฯลฯ และเป็นเนื้อหาคุณภาพ
ซึ่งนอกจาก YouTube จะมีทีมงานช่วยเหลือให้คำแนะนำกับ Creators แล้ว ในบางปียังมีการจัด Pop-up Creator Studio ชั่วคราวเพื่อจัดโปรแกรม Next Up เชิญชวนผู้สร้างคอนเทนต์คลื่นลูกใหม่ที่มีสมาชิกติดตามใกล้เคียง 1 แสนราย เข้ามาใช้อุปกรณ์ของ Pop-up Creator Studio เพื่อพัฒนาให้พวกเขาเหล่านี้เป็นช่อง YouTube ระดับ Silver หรือช่องที่มีผู้ติดตามกว่า 1 แสนคน
เราถาม King ถึงการแข่งขันของแพลตฟอร์มรับชมวิดีโอที่ทวีคูณขึ้นจากช่องทางอื่นๆ ที่เข้ามา เช่น LineTV NetFlix iFlix หรือกระทั่ง Facebook เขายิ้มและบอกว่า “ตัวเลือกที่มากขึ้นเป็นสิ่งที่ดีต่อผู้ใช้”
โดยเขามองว่า YouTube ยังคงมีจุดแข็งเรื่องความหลากหลายของคอนเทนต์ดังกล่าว และการพัฒนาระบบ Machine Learning ที่ทำให้ผู้ใช้ได้ประสบการณ์ชมวิดีโอที่ตรงใจเฉพาะบุคคลมากที่สุด
ดึงธุรกิจขนาดย่อมสู่โลกดิจิทัล
ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMB) เป็นพันธกิจใหญ่หัวข้อหนึ่งที่ Google กำลังมุ่งไป โดย King ประเมินว่า SMB ในไทยมีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านราย และมูลค่ารวมคิดเป็น 40% ของจีดีพีประเทศ
อย่างไรก็ตาม SMB ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำการตลาดบนโลกดิจิทัลเต็มตัว ทำให้นี่คือน่านน้ำสำคัญที่ Google จะเข้าไปมีบทบาทผ่านเครื่องมือหลักคือ Google My Business (GMB)
GMB ทำให้ธุรกิจสามารถปักหมุด location บน Google Maps เพื่อใส่ข้อมูลเบื้องต้นของร้านค้า เช่น เวลาเปิด-ปิด เบอร์โทรศัพท์ได้ สามารถสร้างเว็บไซต์อย่างง่ายได้ฟรี และตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก (Insights) ว่าลูกค้าพบร้านค้าบนโลกดิจิทัลผ่านช่องทางใด รวมถึงล่าสุดนั้น Google ได้ปล่อยฟังก์ชั่น GMB Post ออกมา ที่ทำให้ร้านค้าสามารถอัปเดทข้อมูลของร้านแบบเรียลไทม์ได้ เช่น ร้านตัดผมระบุ post โปรโมชั่นของร้านไว้ เมื่อมีคนค้นหาร้านตัดผมในบริเวณที่ร้านตั้งอยู่ก็จะพบ post ดังกล่าว
“ความรู้ ทรัพยากรไม่เพียงพอ และมีงบต่ำ” คือปัจจัยหลักที่ King มองว่าเป็นอุปสรรคทำให้ SMB ยังไม่เข้าสู่โลกออนไลน์เต็มตัว
“สามสิ่งนี้เป็นความท้าทายที่เราพยายามแก้ปัญหา หนึ่งคือทำให้เครื่องมือใช้ง่ายที่สุด แม้คุณจะมีความรู้เรื่องดิจิทัลน้อยมากแต่ก็ยังเข้าสู่ออนไลน์ได้ สองคือ เราทำให้เครื่องมือใช้งานได้เร็ว ดังนั้นแม้คุณจะมีเวลาทดลองสิ่งใหม่น้อยก็ไม่ใช่ปัญหา และสุดท้าย เครื่องมือนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย แค่เพียงดาวน์โหลดแอพฯ มาก็ใช้งานได้ทั้งหมด”
King ตอบทุกคำถามของเราอย่างมั่นใจและรวดเร็ว เขาเรียนจบปริญญาตรีสาขาสื่อและการสื่อสารจาก University of Sydney ประเทศออสเตรเลีย และเริ่มงานด้านโฆษณากับ Microsoft Advertising ในออสเตรเลีย 5 ปี ก่อนที่เขาจะข้ามทะเลมาร่วมงานกับGoogle Asia Pacific ที่สิงคโปร์ โดยปรับเปลี่ยนมาทำงานขาย
“การโฆษณาต่อยอดไปสู่งานขายได้ แต่การขายใน Google ไม่เหมือนบริษัทอื่น เพราะต้องสื่อสารตรงไปที่ผู้บริหาร C-level เลยเพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีข้อมูลที่เราทำอยู่” King กล่าว
จากนั้นเขาเริ่มเข้าสู่การทำงานด้านพัฒนาธุรกิจกับ Google และเริ่มต้นไต่เต้าตำแหน่งผู้นำองค์กร ช่วงปี 2555-58 King ถูกส่งไปทำงานกับทีมในหลายประเทศ เช่นบังกลาเทศ ปากีสถาน อินโดนีเซีย ศรีลังกาและไทย ซึ่งเขามองว่านี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาได้รับเลือกเป็นผู้อำนวยการประเทศ
“การเปิดใจที่จะรับความเสี่ยงและความท้าทายน่าจะเป็นกุญแจสำคัญ ไม่กลัวที่จะล้มเหลวหรือต้องไปในประเทศที่แตกต่างประเทศใหม่ วัฒนธรรมใหม่ รวมถึงกล้าที่จะทำสิ่งที่ท้าทายในธุรกิจด้วย”
King ยังเสริมด้วยว่า เขายังเรียนรู้จาก Google ถึงความสำคัญของการมีทีมงานหลากหลายอยู่รอบตัว และเป็นคนพร้อมจะอภิปรายท้าทายความคิดกันเสมอ เพราะนั่นจะทำให้เกิดแนวทางที่ดีที่สุดในการทำงานขึ้นได้
นอกจากนั้นเขายังยึดหลักการตัดสินใจทางธุรกิจว่าต้องตอบโจทย์ 3 ข้อคือ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบริษัท ดีที่สุดสำหรับประเทศและดีที่สุดสำหรับผู้คน
“คุณอาจจะคิดว่ามันไม่มี solutions ที่สามารถไปด้วยกันได้กับทั้งสามกลุ่มนี้ หรือบางทีอาจจะตรงข้ามกันเลยด้วยซ้ำแต่จริงๆ แล้ว บ่อยครั้งที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผมเคยตัดสินใจผิดพลาดแต่เมื่อยึดพื้นฐานนี้ในการตัดสินใจ คุณจะอยู่ในจุดที่ดีกว่าที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ”
ภาพ : มังกร สรพล คลิกอ่าน “Ben King แห่ง Google ต่อจิ๊กซอว์ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลไทย” ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับเดือนตุลาคม 2561