ดีป้า ผนึกพันธมิตร เปิดโครงการประชันไอเดียพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของเหล่าสตาร์ทอัพ - Forbes Thailand

ดีป้า ผนึกพันธมิตร เปิดโครงการประชันไอเดียพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของเหล่าสตาร์ทอัพ

ดีป้า ผนึกฮับบา, เทคซอส, Techstars จัดโครงการ Asean Startup Hackathon เวทีประชันไอเดียเมืองอัจฉริยะของเหล่าสตาร์ทอัพ

ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (depa) เปิดเผยว่า ดีป้าได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่างบริษัท ฮับบา จำกัด และบริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด รวมถึง Techstars จัดโครงการพัฒนาและส่งเสริมสตาร์ทอัพอาเซียน Asean Startup Hackathon ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลระดับนานาชาติ Digital Thailand Big Bang 2019 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2562 ที่ไบเทค บางนา

“ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอาเซียนในปีนี้ และดีป้าก็มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าภาพอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง ในโครงการ Asean Startup Hackathon ปีนี้นอกจากมีการแข่งขันเพื่อการพัฒนา (Hackthon) แล้วยังมีการจัดร่วมกับโครงการ Depa Accelerator Program ด้วย ซึ่งโจทย์ในปีนี้เป็นเรื่องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพราะการพัฒนาเมืองได้ต้องอาศัยการมีโซลูชั่นที่ดีที่เกิดขึ้นจากสตาร์ทอัพที่มีไอเดีย และสร้างโซลูชั่นมาตอบสนองเมือง ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 1 ล้านบาท”

ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร

ดร.ชินาวุธ กล่าวว่า กิจกรรมนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างไอเดีย จึงอยากเชิญชวนสตาร์ทอัพให้มาร่วมพัฒนาเมืองเพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โอกาสไม่ได้มีแค่เพียงชัยชนะ แต่ยังมีโอกาสต่อยอดเข้าสู่โครงการ Depa Accelerator Program Batch 2 ซึ่งถือเป็นโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านสมาร์ทซิตี้รายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ สตาร์ทอัพยังมีโอกาสในการได้ทดสอบไอเดียของตนในพื้นที่เมืองจริงๆ ได้ ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยาก

ชาล เจริญพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮับบา จำกัด กล่าวว่า สตาร์ทอัพมีส่วนช่วยในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ได้ค่อนข้างมาก เพราะเข้าใจเทคโนโลยีเป็นอย่างดี แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครทำมากนักเพราะไม่มีพื้นที่ให้ได้ทดสอบโปรดักต์ อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วผลกระทบทางสังคมก็จะผลักดันให้สตาร์ทอัพหันมาทำเรื่องนี้

“สมาร์ทซิตี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสตาร์ทอัพ โดยภาครัฐจะมีส่วนช่วยพัฒนาเรื่องผังเมือง, การปรับปรุงกฎหมาย และการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ในเมืองให้เกิดแพลตฟอร์มที่สตาร์ทอัพสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้”

ชาล เจริญพันธ์

ชาล ระบุว่า สิ่งที่โครงการในปีนี้ต้องการคือสตาร์ทอัพที่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาให้เมืองสมาร์ทมากขึ้น โดยมุ่งเน้นนวัตกรรม 3 ด้าน คือ พลังงาน, คมนาคม และการอยู่อาศัย ในแต่ละทีมอยากให้มีสมาชิก 4-6 คนจากหลากหลายด้าน ไม่จำกัดสัญชาติ โดยในการ pitch สามารถเลือกใช้ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้

“กิจกรรมที่เกิดขึ้นในโครงการนอกจากมีการพบปะ สัมมนา เวิร์คช็อป ยังมีการโค้ชแบบ 1 ต่อ 1 จากเมนทอร์และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเรามีเครือข่ายจาก Techstars ที่ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านสมาร์ทซิตี้เข้ามาในงานนี้โดยเฉพาะ ผู้ชนะโครงการ Hackathon ยังมีโอกาสนำไอเดียไปต่อยอดในโครงการบ่มเพาะที่มีระยะเวลานาน 4 เดือน ซึ่งจะได้มีโอกาสเวิร์คช็อปกับเมืองที่มีปัญหานี้ และทำคอนเซปท์เพื่อนำไปทดสอบในโครงสร้างของเมืองนั้นจริงๆ ซึ่งอาจมีโอกาสต่อยอดไปสู่ธุรกิจจริงๆ ได้”

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด กล่าวว่า หลายคนอาจมีคำถามว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้เห็นกิจกรรมของสตาร์ทอัพเยอะมาก แต่ทำไมไม่เห็นสตาร์ทอัพรายที่เติบโตเหมือนในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ อันที่จริงไทยมีคนเก่งมากมาย แต่ขาดแพลตฟอร์มและเครือข่ายในการผลักดันให้บริษัทเติบโต

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ

“ดีป้าและเราต่างเห็นปัญหานี้ จึงสร้างโครงการ Asean Startup Hackathon เพื่อเป็นพื้นที่ให้สตาร์ทอัพสามารถเชื่อมถึงเครือข่ายที่เรามี ซึ่งโครงการนี้ในปีที่ผ่านมาก็มีสตาร์ทอัพที่สามารถขยายธุรกิจไปในต่างประเทศได้ เช่น Tellscore, อรินแคร์ ทำให้เห็นว่าการร่วมมือกันนั้นทำให้สตาร์ทอัพเติบโตได้”

อรนุช กล่าวอีกว่า สำหรับในปีนี้ที่โจทย์คือเรื่องสมาร์ทซิตี้ ถือเป็นโอกาสดีสำหรับสตาร์ทอัพมากๆ เพราะหากไม่มีภาครัฐสตาร์ทอัพก็คงไม่สามารถขับเคลื่อนไอเดียให้เกิดขึ้นจริง ไม่สามารถลงไปทดสอบโปรดักต์ในพื้นที่ต่างๆ ได้ ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นส่วนที่ทำให้สตาร์ทอัพจะได้เข้าถึงลูกค้าหรือคนที่เข้ามาใช้โซลูชั่นของเขาจริงๆ ซึ่งอาจทำให้เขาขยายฐานผู้ใช้งาน ทั้งยังเป็นจุดสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพรู้ว่าตนเองเติบโตได้หรือไม่

สำหรับรายละเอียดกิจกรรมที่เปิดรับสมัครในโครงการนี้ แบ่งออกเป็น กิจกรรมการแข่งขันเพื่อการพัฒนา (Hackathon) เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา สตาร์ทอัพ รวมทีมกันเพื่อพัฒนานวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ โดยผู้สมัครอาจมีสินค้าหรือบริการต้นแบบ หรือแม้แต่ไอเดียนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะก็สามารถสมัครได้ โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่ 11-21 ต.ค. 2562

ส่วนอีกกิจกรรมคือ กิจกรรมพัฒนาแนวคิดต่อยอดเป็นธุรกิจจากกิจกรรมการแข่งขันเพื่อการพัฒนา (Depa Smart City Accelerator Program) เป็นกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ และผลักดันผู้ประกอบการที่มีไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะ และดำเนินโครงการอยู่ในสถานะที่พร้อมพัฒนาต่อยอด ซึ่งการเข้าร่วมโครงการนี้ สตาร์ทอัพสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางสู่ความสำเร็จในอนาคต โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่ 15 ต.ค. – 15 พ.ย. 2562 โดยทั้ง 2 กิจกรรมสมัครได้ที่ https://techsauce.co/depa-accelerator

  อ่านเพิ่มเติม  
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine