โอกาสสู่การเป็นสตาร์ทอัพระดับ “ยูนิคอร์น” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - Forbes Thailand

โอกาสสู่การเป็นสตาร์ทอัพระดับ “ยูนิคอร์น” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

4-5 ปีที่ผ่านมาเชื่อว่าหลายคนคงเห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสตาร์ทอัพที่สามารถเติบโตไปจนถึงระดับ “ยูนิคอร์น” หรือมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นั้นมีน้อยมาก จนต้องตั้งคำถามว่าโอกาสที่นักรบพันธุ์ใหม่จะก้าวไปได้ไกลนั้นมีมากน้อยแค่ไหน

ในงานสัมมนา T.O.P. 2019 - Togetherness of Possibilities โดยทรู ดิจิทัล พาร์ค ได้มีการสนทนาหัวข้อ Unicorn Opportunities in Southeast Asia ซึ่งมีการพูดถึงความน่าสนใจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอกาสสู่การเป็น “ยูนิคอร์น” ของสตาร์ทอัพในภูมิภาคนี้

Nicholas Nas ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการ Asia Partners บริษัทที่มุ่งมั่นลงทุนในสตาร์ทอัพเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า หากถามว่าทำไม ณ ขณะนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงน่าสนใจจากนักลงทุน ทั้งที่ภูมิภาคนี้มีการพัฒนาและสนใจการทำธุรกิจสตาร์ทอัพมาระยะหนึ่งแล้ว คำตอบคือภูมิภาคนี้กำลังอยู่ใน ยูนิคอร์นโซน ไปอีกมากกว่า 10 ปี

“หากดูจากข้อมูลสัดส่วนเม็ดเงินจากสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในจีดีพีของประเทศต่างๆ จะพบว่าหลายประเทศก้าวพ้นช่วงยูนิคอร์นไปแล้ว โดยสตาร์ทอัพจีนราว 70% สามารถเข้าตลาดและเติบโตไปเรียบร้อย ทั้งยังประสบความสำเร็จจากการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคที่ค่อนข้างสูง ขณะที่สตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่งเข้าสู่ช่วงของยูนิคอร์นเท่านั้น

“ที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพใหญ่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น Sea สตาร์ทอัพจากสิงคโปร์ที่สามารถระดมทุนจากการเปิด IPO ครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์ใน New York ได้เกือบ 1 พันล้านเหรียญ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สตาร์ทอัพในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ยังขาดแคลนเงินทุนในการดำเนินกิจการ ซึ่ง Asia Partners พร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การช่วยเหลือสตาร์ทอัพในภูมิภาคนี้”

Nicholas Nas ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการ Asia Partners
 

ธุรกิจประเภทไหนที่มีโอกาสเกิดในอุษาคเนย์

Nas ระบุว่า แน่นอนว่าสิ่งสำคัญในการก่อตั้งธุรกิจใหม่คือไอเดีย แต่ก็ต้องดูว่าธุรกิจของเรานั้นจะไปอยู่ในประเภทไหนด้วย โดย Nas ได้ใช้ทฤษฎีต้นบอนไซที่แบ่งโมเดลธุรกิจที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตออกเป็น 3 ประเภท คือ Global Network Effects, Unique Local Winners และ Local Network Effects

เขาระบุว่า ประเภทที่ 3 หรือ Local Network Effects เป็นประเภทที่สตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถปลุกปั้นไปได้มากกว่าประเภทอื่นๆ เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานท้องถิ่นได้ง่ายกว่า มีเอกลักษณ์ที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคในภูมิภาค โดยตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ได้แก่ Alibaba, Sea, Grab, Go-Jek เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม Nas กล่าวว่า สตาร์ทอัพบางรายมองว่าอุปสรรคที่ขัดขวางเส้นทางของพวกเขาในวันนี้คือการที่รัฐบาลไม่ได้ให้การช่วยเหลือหรือมีนโยบายที่เอื้อต่อการเติบโต แต่หากย้อนดูไป 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าธุรกิจใหญ่ๆ ของโลกก็เริ่มจากตัวพวกเขาเองทั้งนั้น

นอกจากนี้ สตาร์ทอัพบางรายยังไม่กล้าเดินเพราะบอกว่าตัวเองไม่มีเงินทุนก้อนใหญ่ แต่ที่จริงเงินก้อนใหญ่นั้นไม่ใช่ประเด็น อย่าง Jack Ma ก็ไม่ได้เริ่มต้นธุรกิจของเขาด้วยเงินจำนวนมาก แต่เริ่มจากไอเดีย

“ขณะเดียวกัน ปัจจุบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีการเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านสนามบิน ท่าเรือ ซึ่งธุรกิจจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับว่าสตาร์ทอัพจะนำไอเดียมาใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้อย่างไรมากกว่า เพราะโอกาสมีอยู่ทั่วๆ ไป แต่ถ้าปล่อยโอกาสไปก็น่าเสียดายที่บางทีคุณอาจสามารถเป็นผู้นำและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในภูมิภาคได้”

 

อย่าทำตามใครเพราะเห็นว่าตลาดยังเป็น Blue Ocean

Nas ระบุอีกว่า การนำโมเดลธุรกิจของบริษัทใหญ่ๆ มาประยุกต์ใช้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าลืมว่าในมหาสมุทรโลกธุรกิจอันกว้างใหญ่นี้ยังมีธุรกิจอีกมากมาย หลายธุรกิจยังอยู่ในตลาดที่เป็น Blue Ocean ที่รอให้ผู้ประกอบการก้าวเข้ามา แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะทำตามใครเพราะเห็นว่าเป็น Blue Ocean อยู่ อย่างสตาร์ทอัพให้เช่าจักรยานในจีนที่ทำตามกันเยอะจนสุดท้ายก็ล้มเหลวกันไปเป็นแถบ

“โอกาสรอบๆ ตัวคุณมีมากมาย อย่างดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ที่ตอนนี้ยังไม่มีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผมบอกได้เลยว่าจะเป็นธุรกิจที่ทำเงินได้มหาศาลและจะอยู่ไปได้อีกนาน เพราะโลกนี้ยังต้องใช้อินเทอร์เน็ตไปอีก หรือแม้แต่ระบบคลาวด์ก็ต้องมีสถานที่ให้ข้อมูลอยู่ซึ่งก็คือดาต้าเซ็นเตอร์นั่นเอง”

Nas ชี้ให้เห็นอีกว่า แม้จะไม่มีผู้ชนะระดับโลกในด้านแอพพลิเคชั่นแชต แต่ที่น่าสังเกตคือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับไม่มีแอพพลิเคชั่นประเภทนี้ของตัวเอง อาจเพราะความหลากหลายของภาษา นี่จึงเป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจเพราะยังมีโอกาสเติบโตได้ นอกจากนี้ มองว่าอีกธุรกิจที่น่าสนใจคือแพลตฟอร์มอี-บุ๊กที่รวบรวมวรรณกรรมในเอเชีย ซึ่งหาซื้อได้ยากในเว็บไซต์ของต่างประเทศ จึงมีโอกาสเติบโตได้แน่นอน

  อ่านเพิ่มเติม
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine