บลูบิค แนะองค์กรเร่งทำ “AI Transformation” - Forbes Thailand

บลูบิค แนะองค์กรเร่งทำ “AI Transformation”

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Jun 2021 | 12:01 PM
READ 3040

บลูบิค (Bluebik) แนะนำธุรกิจทำ “AI Transformation” ด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัลเชิงลึกภายในองค์กรแบบเรียลไทม์ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจากกระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจ

“AI Transformation” พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันหลายธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ซึ่งมีทั้งเรื่องการวางระบบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการทำธุรกิจบนโลกดิจิทัล พร้อมทั้งต่อยอดสร้างโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อขยายแหล่งรายได้และเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้าทั้งในแง่ฟังก์ชันและประสบการณ์การใช้งาน แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่ใช่ข้อได้เปรียบอีกต่อไปในอนาคตเมื่อทุกองค์กรสามารถทรานส์ฟอร์มตนเองได้สำเร็จ ทำให้ธุรกิจที่ต้องการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของกลุ่มอุตสาหกรรม นับจากนี้ต้องเริ่มสร้างความแตกต่างด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจได้ดีกว่ามนุษย์ มายกระดับกระบวนการทำงานที่มีดิจิทัลเป็นพื้นฐาน (AI Transformation) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล (Data Collection) การทำความสะอาดและกำจัดข้อมูลที่ไม่จำเป็น (Data Cleansing) และการแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลพร้อมสำหรับการใช้งาน (Data Digitization) เพื่อช่วยวางกลไกของระบบควบคุมอัตโนมัติ (Automation) ภายในองค์กรให้มีความฉลาดและเฉียบคมมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องตอบโต้หรือสั่งงานจากมนุษย์ในทุกครั้งที่มีการทำงาน โดยเฉพาะกระบวนการทำงานที่มีรูปแบบเดิมซ้ำๆ มีความเฉพาะเจาะจง หรือมีการกำหนดขั้นตอนและตัวแปรต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน “การแข่งขันในภาคธุรกิจทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มีความต้องการที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นการนำศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามายกระดับกระบวนการทำงานจะช่วยให้ธุรกิจสามารถทำความเข้าใจผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้ง นำมาซึ่งการวางกลยุทธ์และการตัดสินใจทางธุรกิจที่มีความแม่นยำสูงภายใต้การใช้งบประมาณที่ลดลง อาทิ การตัดสินใจว่าจะจำหน่ายสินค้าให้ลูกค้ากลุ่มใดจึงมีโอกาสปิดการขายได้มากที่สุด หรือหากมีลูกค้าที่คุณลักษณะแตกต่างกันแสดงความสนใจซื้อสินค้าในช่วงเวลาเดียวกัน พนักงานควรเลือกให้บริการลูกค้ารายใดก่อน นับเป็นการสร้างความได้เปรียบให้ธุรกิจเพื่อเอาชนะคู่แข่งในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน อีกทั้ง AI ยังสามารถประมวลผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานรูปแบบต่างๆ และคัดกรองเฉพาะข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับแต่ละแผนก เพื่อช่วยลดระยะเวลาการทำงานหรือพัฒนาโครงการใหม่ๆ” พชร กล่าว “AI Transformation” สำหรับองค์กรที่ต้องการก้าวไปสู่การเป็น Data-Driven Organization ที่ใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนธุรกิจและมีการวางผังโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการเชื่อมโยงและบริหารจัดการบิ๊กดาต้านั้น ต้องเร่งเสริมศักยภาพด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ภายในองค์กร (AI Transformation) เพื่อเพิ่มความแม่นยำและลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน โดยต้องดำเนินการ 5 ด้าน ดังนี้ 1.วางกลยุทธ์ด้านปัญญาประดิษฐ์ให้ชัดเจน (AI Strategy) และเชื่อมโยงกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ (Business Strategy) ซึ่งจะเป็นการกำหนดบทบาทว่าจะนำ AI เข้ามาปรับใช้กับกระบวนการทำงานใดที่จะสามารถสร้างมูลค่าได้มากที่สุด และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว 2.ออกแบบกรณีศึกษาที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นแกนหลักในการดำเนินงาน (AI Use Case) โดยพิจารณาว่าองค์กรมีรูปแบบธุรกิจอย่างไร แหล่งรายได้มาจากที่ใด มีต้นทุนการดำเนินงานเท่าใด และข้อมูลที่ได้จากแต่ละขั้นตอนการดำเนินงานอยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถนำมาวิเคราะห์ด้วย AI ได้หรือไม่ เพื่อหาความเป็นไปได้ในการริเริ่มกรณีศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ (Feasibility Assessment) ที่สามารถแก้ไขข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจได้จริง และเป็นช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ 3.วางโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Infrastructure) เพื่อรองรับกระบวนการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเหมาะสมกับวัตถุประสงค์การใช้งาน เนื่องจากจะช่วยให้การบริหารจัดการและพัฒนากรอบการดำเนินงานเกี่ยวกับ AI ในอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเพิ่มหรือขยายระบบได้อย่างยืดหยุ่นในระยะยาว 4.ปรับกระบวนการทำงานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Operations) ด้วยการวางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน AI ภายในองค์กรให้ชัดเจนและสรรหาบุคลากรเฉพาะทางเข้ามารับผิดชอบงาน เพื่อให้สามารถนำ AI ไปยกระดับการดำเนินงานได้จริง อาทิ การกำหนดหลักการด้านจริยธรรมและแนวทางปฏิบัติในการใช้ AI บนพื้นฐานของธรรมาภิบาล (Data Governance) และการผสานการทำงานของฝ่ายที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI – Data ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด (MLOps) 5.สร้างความตระหนักและปรับวัฒนธรรมองค์กร (AI Culture) เพื่อให้พนักงานเกิดทัศนคติว่าศาสตร์ด้านข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะยกระดับกระบวนการทำงานให้มีความแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้ทุกแผนกมีส่วนร่วมในการนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ด้วย AI มาปรับใช้กับการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ หรือการตัดสินใจทางธุรกิจ ควบคู่กับการกระตุ้นให้พนักงานเร่งพัฒนาทักษะของตนเอง (Reskill - Upskill) เพื่อปรับบทบาทมาเป็นผู้กำหนดนโยบายและควบคุมฟังก์ชันต่างๆ ของ AI “AI Transformation” การทำ AI Transformation นั้นมีความซับซ้อนและจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้องค์กรธุรกิจ บลูบิคสามารถพิจารณาแนวทางเพื่อให้การทำ  AI Transformation ให้ประสบความสำเร็จผ่านบริการ ดังนี้ 1.ออกแบบยุทธศาสตร์ (Strategic Planning) ในการนำปัญญาประดิษฐ์ไปประยุกต์ใช้อย่างสอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจผ่านการศึกษารูปแบบธุรกิจของลูกค้าอย่างละเอียด เพื่อมองหาโอกาสที่จะนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ ให้กับองค์กร 2.ขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานด้านปัญญาประดิษฐ์อย่างมีกลยุทธ์ (Strategic Implementation) จนสำเร็จลุล่วง โดยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล (Data Infrastructure) ให้สามารถจัดเก็บได้อย่างเป็นระบบและง่ายต่อการนำไปใช้งาน และสร้างแบบจำลองการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics Model) เพื่อให้เข้าใจว่าข้อมูลดังกล่าวจะสามารถสร้างความได้เปรียบให้องค์กรอย่างไรในอนาคต 3.ปรับปรุงและพัฒนาแผนการดำเนินงานด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยสนับสนุนให้องค์กรที่มีกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ชัดเจนแล้วสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ (Strategic Support) พร้อมทั้งดูแลและควบคุมการขับเคลื่อนแผนงานนั้นจนสำเร็จลุล่วง “การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้องค์กรเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริงและมองเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อาทิ แนวโน้มความสนใจของลูกค้าในผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในอนาคต ดยจากประสบการณ์ของบลูบิคที่ได้เข้าไปช่วยขับเคลื่อนแผนงานด้านปัญญาประดิษฐ์ให้กับองค์กรต่างๆ ทั้งระบบงานหน้าบ้าน (Front-office) และระบบงานหลังบ้าน (Back-office) พบว่าหลายองค์กรมีอัตราการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ 10 – 50% และสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีนัยสำคัญ จนนำมาซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ที่ยอดเยี่ยม” พชร ทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: สยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ ครบรอบ 1 ปี ปรับกลยุทธ์ตอบโจทย์ลูกค้าคนไทย
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine