การปฏิรูปด้านดิจิทัล (Digital transformation) เป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วนสำหรับผู้บริหารในองค์กรธุรกิจและภาครัฐทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก บอสตัน คอสซัลติ้ง กรุ๊ป (BCG) ศึกษาวุฒิภาวะด้านดิจิทัลระดับโลกกว่า 8,500 บริษัท พบว่ากลุ่มผู้นำด้านดิจิทัล (Digital Champion) มีผลประกอบการเติบโตขึ้น 1.8 เท่า ขณะที่ไทยยังก้าวไม่ถึง
Benjamin Fingerle บริษัท เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (BCG) กล่าวว่า BCG ได้ทำการศึกษาวุฒิภาวะด้านดิจิทัลระดับโลกโดย บอสตัน คอสซัลติ้ง กรุ๊ป (BCG) ที่ใช้เครื่องมือ Digital Acceleration Index (DAI) ซึ่ง BCG ออกแบบมาเพื่อประเมินวุฒิภาวะด้านดิจิทัล (Digital Maturity) ของภาคธุรกิจ โดยมีบริษัทจากทุกอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาคของโลกเข้าร่วมการสำรวจกว่า 8,500 บริษัท ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มผู้นำด้านดิจิทัล (Digital Champion) ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่แนวหน้าในด้านการปฏิรูปด้านดิจิทัล มีผลประกอบการประจำปีเติบโตขึ้น 1.8 เท่า และมูลค่าสุทธิของกิจการเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า เมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ที่เป็นผู้ตามหลังในด้านการปฏิรูปด้านดิจิทัล สำหรับประเทศไทย BCG ได้ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association : TMA) เพื่อทำการศึกษาว่าองค์กรในประเทศไทยอยู่ในจุดใดของกระบวนการนี้ และอะไรคือปัจจัยที่ช่วยเร่งให้การปฏิรูปด้านดิจิทัลในภาคเศรษฐกิจของประเทศไทยเกิดขึ้น “การปฏิรูปด้านดิจิทัลไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ มาใช้งาน แต่ยังครอบคลุมถึงกระบวนการใหม่ วิธีการในการทำงานใหม่ โครงสร้างองค์กรและขีดความสามารถแบบใหม่ รวมถึงองค์ประกอบวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานในโมเดลธุรกิจเดิมที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย กระบวนการนี้ต้องอาศัยเวลา ความทุ่มเทและทรัพยากรมากมาย” Benjamin ระบุ ไทยเพิ่งเริ่มปฏิรูปดิจิทัล ด้วยเครื่องมือ DAI ของ BCG ได้มีการสำรวจวุฒิภาวะทางดิจิทัลของบริษัทในประเทศไทยกว่า 60 แห่ง ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมหลักต่างๆ ตั้งแต่ธุรกิจการธนาคารไปจนถึงอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์เปรียบเทียบผลที่ได้กับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันในระดับภูมิภาคและระดับโลก ผลการศึกษาพบว่าร้อยละ 42 ของบริษัทในประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิรูปด้านดิจิทัล และดำเนินการด้านดิจิทัลแบบแยกส่วนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาพบว่า บริษัทต่าง ๆ กำลังก้าวไปสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ เห็นได้จากบริษัทในประเทศไทยส่วนใหญ่ได้คะแนนค่อนข้างสูงในมิติของกลยุทธ์ด้านดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันในต่างประเทศที่ไม่แค่มองว่าดิจิทัลเป็นเพียง "การทดลอง” ที่แยกออกมาจากตัวธุรกิจ หากได้นำดิจิทัลมาผนวกไว้เพื่อขับเคลื่อนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลยุทธ์ธุรกิจโดยรวม “สะท้อนให้เห็นว่าแม้บริษัทในประเทศไทยโดยทั่วไปอาจเป็นเพียง “ผู้เริ่มต้นด้านดิจิทัล (Digital Starters)” แต่บริษัทเหล่านี้มีกลยุทธ์ดิจิทัลที่เหมาะสม และมีแผนการดำเนินการเพื่อเริ่มปลดล็อคมูลค่าที่จะเกิดขึ้นมหาศาลจากดิจิทัล เมื่อการดำเนินการกลยุทธ์เหล่านี้ถึงจุดที่จะขยายผลสู่วงกว้างได้” ทั้งนี้ มีตัวอย่างของบริษัทไทยที่ก้าวไปถึงขั้นดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจการเงินและเฮลธ์แคร์ ซึ่งการศึกษาครั้งนี้พบว่าเป็นกลุ่มผู้นำ ที่มีขีดความสามารถเทียบเคียงกับผู้เล่นในอุตสาหกรรมเดียวกันในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งในการจัดงาน Thailand Digital Excellent and Awards 2020 โดย TMA เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีสี่บริษัทที่ได้รับรางวัล Thailand Digital Excellence Awards ได้แก่ บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล Digital Business Model Innovation ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล Digital Technology & Artificial Intelligence ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล Digital Culture & Talent และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้รับรางวัล Digitally Optimized Operations เป็นต้น โควิดหนุนการปฏิรูปด้านดิจิทัล Benjamin กล่าวว่า แม้จะมีตัวอย่างหลายบริษัทที่มีความโดดเด่นในการปฏิรูปด้านดิจิทัล แต่ผลการศึกษาได้เผยให้เห็นสิ่งที่ขาดไปในหลายมิติในการดำเนินการด้านดิจิทัล ซึ่งมีความสำคัญต่อการบรรลุวุฒิภาวะทางดิจิทัลดังนี้ ผลการศึกษาพบว่ามีบริษัทในประเทศไทยน้อยกว่าหนึ่งในสาม (32%) ที่มีการจัดสรรอย่างน้อยร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับเรื่องดิจิทัล ขณะที่ค่าเฉลี่ยของบริษัททั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 75 และร้อยละ 86 ในกลุ่มผู้นำด้านดิจิทัล นอกจากนี้ยังพบว่ามีบริษัทไทยเพียงร้อยละ 23 เท่านั้นที่มอบหมายให้พนักงานอย่างน้อยร้อยละ 10 ขององค์กรทำงานด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ เมื่อเทียบกับร้อยละ 65 และร้อยละ 79 ของค่าเฉลี่ยทั่วโลกและกลุ่มผู้นำด้านดิจิทัลตามลำดับ Benjamin กล่าวว่า การดำเนินการด้านดิจิทัลในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากพนักงานที่มีศักยภาพสูงเป็นรากฐานสำคัญของความสำเร็จในการดำเนินการกลยุทธ์ดิจิทัลทั้งหมดขององค์กร รวมทั้งยังพบว่าการบูรณาการข้อมูลเข้าเป็นหนึ่งเดียว (Unified data models) และการแปลงขั้นตอนการทำงานให้เป็นดิจิทัลยังไม่ได้รับงบประมาณอย่างเพียงพอ อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ยังไม่ได้รับความใส่ใจและงบประมาณสนับสนุนเท่าที่ควรคือการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล ทั้งที่สิ่งนี้จะช่วยให้บริษัทมีโอกาสในการหาพันธมิตรเพื่อการสร้างตลาดที่ใหญ่พอและเอื้อต่อการต่อยอดนวัตกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดการดำเนินการแบบ win-win-win ให้แก่บริษัทและลูกค้า บริษัทในประเทศไทยอยู่ในจุดที่ใกล้จะสามารถใช้ประโยชน์จากการปฏิรูปด้านดิจิทัลได้อย่างมหาศาล โดยการตัดสินใจลงทุนด้านดิจิทัลอย่างจริงจังคือสิ่งจำเป็นในการก้าวผ่านจุดเปลี่ยนที่สำคัญนี้ ผลการศึกษาที่พบว่าผู้บริหารราวร้อยละ 80 มองว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 จะนำไปสู่ความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูปด้านดิจิทัล “BCG หวังจะได้เห็นบริษัทต่าง ๆ ดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อเร่งรัดการดำเนินการด้านดิจิทัลของตน โดยมีองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ล้วนมีความกระตือรือร้นที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากท้ายที่สุดแล้วการปฏิรูปด้านดิจิทัลอย่างรวดเร็วจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก” Benjamin กล่าว อ่านเพิ่มเติม: โอกาสจากโควิด-19 ดันกำไร TU ทะลุ 2 พันล้านไม่พลาดบทความด้านกลยุทธ์องค์กรและธุรกิจ ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine และ ทวิตเตอร์ Forbes Thailand