ราคากาแฟโรบัสต้าของตลาดฟิวเจอร์สในลอนดอนแตะระดับสูงสุดใหม่ในช่วงปลายเดือนเมษายน โดยแตะระดับ 4,500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน แม้ว่าตลาดจะสงบนิ่งลงแล้ว แต่ราคาก็ยังคงสูงกว่าช่วงปลายปีที่แล้วมาก
เหตุผลที่ทำให้กาแฟแพงขึ้นมีหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือเวียดนามซึ่งเป็นผู้ผลิตเมล็ดกาแฟรายใหญ่อันดับสองของโลก และเป็นผู้ผลิตโรบัสต้ารายใหญ่ที่สุดโลก แต่เกษตรกรจำนวนมากในประเทศกลับหันมาสนใจปลูกทุเรียนแทน ทำให้ปริมาณการผลิตกาแฟลดลง
ทั้งนี้ ทุเรียนซึ่งได้รับฉายาว่า “ราชาแห่งผลไม้” ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การส่งออกของเวียดนามไปจีนมีมูลค่าทะลุ 2,000 ล้านเหรียญในปี 2023 เพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าจากปีก่อนหน้า และคาดว่าจะเติบโตต่ออีกในปีนี้
การเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนทำให้พื้นที่ปลูกกาแฟลดลง ส่งผลให้ซัพพลายกาแฟลดลงไปด้วย
แต่สาเหตุที่ทำให้ชาวเวียดนามปลูกกาแฟลดลง ไม่ใช่แค่เพราะทุเรียนขายดีกว่า แต่เป็นเพราะกาแฟก็ปลูกได้ยากขึ้น จากสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญ
ถามว่าการผลิตกาแฟของเวียดนามเปลี่ยนไปอย่างไร องค์การกาแฟระหว่างประเทศรายงานว่า ระหว่างเดือนตุลาคม 2022 - กันยายน 2023 เวียดนามผลิตกาแฟได้ทั้งสิ้น 29.2 ล้านถุง แต่ละถุงมีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม ซึ่งลดลง 9.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน
“มันร้อนเกินไปและมีน้ำไม่เพียงพอ กาแฟจึงเติบโตได้ไม่ดี” Ngoc ผู้ขายเมล็ดกาแฟในเมืองโฮจิมินห์ของเวียดนาม กล่าว โดยเธอมีสัญญากับฟาร์มแห่งหนึ่งในจังหวัด Dak Nong แต่ต้นกาแฟที่นั่นเหี่ยวเฉาเนื่องจากภัยแล้งเป็นเวลานาน
ราคาเมล็ดกาแฟที่แพงขึ้นในเวียดนาม ยังส่งผลกระทบไปถึงร้านกาแฟท้องถิ่นที่ต้นทุนแพงขึ้น
“ปัจจัยต่างๆ ส่งผลกระทบอย่างหนักจนทำให้เมล็ดกาแฟและไข่มีราคาแพงขึ้น” Nguyen Huong Giang จากร้าน Cafe Giang ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม กล่าว
คาเฟ่แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1946 และเป็นที่รู้จักในฐานะต้นกำเนิดของกาแฟไข่ ซึ่งเป็นเมนูกาแฟพิเศษในท้องถิ่นที่ทำจากกาแฟโรบัสต้าและวิปปิ้งไข่ แต่ต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้คาเฟ่แห่งนี้เกิดความตึงเครียดทางการเงินอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม คาเฟ่แห่งนี้กล่าวว่าจะไม่ขึ้นราคา โดยจะยังตรึงราคาเดิมไว้คือแก้วละ 35,000 ดองเวียดนาม (ประมาณ 50 บาท) ซึ่งเป็นราคาประมาณครึ่งหนึ่งของราคากาแฟ Starbucks หนึ่งแก้ว
“เราไม่สามารถขึ้นราคาได้ง่ายๆ เมื่อเราคิดถึงขาประจำที่มาตั้งแต่สมัยปู่ของฉัน” Giang กล่าว โดยคาเฟ่แห่งนี้ยังมีขายขนมอบและเมล็ดกาแฟ เพื่อรับมือกับปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กาแฟมีราคาแพงขึ้น ก็คือดีมานด์การบริโภคที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผลิตเมล็ดกาแฟได้น้อยลงนั่นเอง
ทั้งนี้ บริษัทใหญ่ๆ ในยุโรปและสหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนเมล็ดกาแฟจากพันธุ์อาราบิก้าระดับไฮเอนด์ ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ไปเป็นพันธุ์โรบัสต้าที่มีราคาไม่แพงนัก เพื่อตอบสนองต่อต้นทุนการขนส่งและเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น
ปัจจัยเชิงโครงสร้างเช่นการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนมีส่วนที่ทำให้กาแฟเป็นที่ต้องการมากขึ้นเช่นกัน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 ถึงกันยายน 2023 การบริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนทั้งสิ้น 44.5 ล้านถุง มากกว่าหนึ่งในสี่ของการบริโภคทั่วโลก และเพิ่มขึ้น 12% ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่การบริโภคทั่วโลกโดยรวมเพิ่มขึ้นเพียง 1% เท่านั้น
ในเวียดนาม กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ชายและผู้หญิงทุกวัยจะนั่งจิบกาแฟคุยกันบนทางเท้า แม้ว่ากล่าวกันว่าประเทศนี้เริ่มปลูกกาแฟในช่วงยุคอาณานิคมฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 แต่เครื่องดื่มดังกล่าวก็เพิ่งมาเริ่มได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อเศรษฐกิจของเวียดนามเริ่มพัฒนาขึ้นนั่นเอง
นอกจากนี้ แต่เดิมการบริโภคกาแฟในเวียดนามเคยเป็นเมล็ดกาแฟคุณภาพต่ำเป็นส่วนใหญ่ซึ่งไม่เหมาะสำหรับการส่งออก แต่ด้วยการแพร่กระจายของ Starbucks และร้านกาแฟอื่นๆ ทำให้ความต้องการเมล็ดกาแฟคุณภาพสูงในเวียดนามก็เพิ่มขึ้นด้วย
แปลและเรียบเรียงจาก Coffee prices soar as Vietnam farmers switch to durian
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อดีตซีอีโอ Starbucks เตือน บริษัทต้องหันมาโฟกัสที่ ‘กาแฟ‘ หลังยอดขายร่วง
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine