แพ็คสินค้าที่เรียงตั้งสูงขึ้นมากว่าผู้คนในศูนย์คัดแยกที่ใหญ่ที่สุดของ Ninja Van ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือ Jurong ของสิงคโปร์ กำลังจะถูกทยอยจัดส่งให้กับผู้รับ หลังผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง Shopee เพิ่งจัดแคมเปญช็อปปิ้งออนไลน์ 9/9 ซึ่งทุบสถิติด้วยยอดสั่งซื้อกว่า 17 ล้านออร์เดอร์ในวันเดียว และบริษัทโลจิสติกส์รายนี้ได้กลายเป็นผู้จัดส่งให้กับออร์เดอร์ส่วนใหญ่
“เราใช้เวลาหลายเดือนเพื่อเตรียมพื้นที่รองรับความจุออร์เดอร์เหล่านี้ ทั้งยังตรวจสอบให้มั่นใจว่าเราได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานให้ดีขึ้น และมีคนส่งของเพียงพอ” Lai Chang Wen ผู้ก่อตั้ง Ninja Van วัย 32 ปีกล่าว
ปัจจุบัน โลจิสติกส์น้องใหม่รายนี้ส่งพัสดุราว 1 ล้านชิ้นทั่วภูมิภาค มีพนักงานส่งของที่เป็นพนักงานประจำราว 20,000 คน โดย “นินจา” คือคำที่ใช้เรียกพนักงานของเขา ทั้งนี้ ยอดขายของบริษัทในปี 2017 เติบโตขึ้น 9% จากปีก่อนหน้ามาสู่ 13 ล้านเหรียญสหรัฐ และ Lai ชายหนุ่มสิงคโปร์รายนี้ก็ถูกจัดอันดับให้อยู่ในทำเนียบ Forbes 30 Under 20 Asia ในปี 2016
สตาร์ทอัพด้านการขนส่งรายนี้สามารถระดมทุนไปได้แล้ว 140 ล้านเหรียญ จากกลุ่มนักลงทุนซึ่งรวมถึง B Capital และ Grab
“พวกเขาเป็นผู้นำในกลุ่ม last-mile delivery (last-mile delivery คือการขนส่งสินค้าจากร้านค้าสู่ที่อยู่ปลายทางของลูกค้าโดยตรง) เราเชื่อมั่นในพวกเขา เราเชื่อว่าพวกเขาให้บริการที่ดีที่สุดในอัตราการจัดส่งนี้ ทุกความสำเร็จที่เขาได้รับเกิดจากการใช้เทคโนโลยี ซึ่งช่วยเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าได้” Eduardo Saverin ผู้ร่วมก่อตั้ง B Capital ทั้งยังเป็นหนึ่งในกรรมการของบริษัท (และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook) กล่าว
Lai ร่วมก่อตั้งบริษัทโลจิสติกส์นี้ในปี 2014 หลังจากทำงานในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า Barclays และมาเปิด Marcella ร้านตัดเสื้อผ้าผู้ชายในสิงคโปร์ ที่ทำให้เขาได้พบกับ Lim Kuo-Yi หุ้นส่วนผู้จัดการของ Monk’s Hill Venture ซึ่ง Lim จำ Lai ได้ระหว่างการมา pitch ขอเงินลงทุนร้านเสื้อของ Lai แต่ที่ทำให้ Lim ทึ่งก็คือการนำเสนอโซลูชั่นในการจัดส่งสินค้าของเขาต่างหาก
และโซลูชั่นนั้นก็กลายมาเป็น Ninja Van ในวันนี้ บนโจทย์ที่พวกเขาวางไว้คือการนำเสนอหนทางที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดส่งสินค้าของพวกเขาจากการขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ ที่กำลังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้
ข้อมูลจาก Bain, Google และ Temasek ระบุว่า ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 150 ล้านคนซื้อและขายของออนไลน์ โดยตัวเลขนี้มากกว่าตัวเลขในปี 2015 ถึง 3 เท่า “สิ่งที่สตาร์ทอัพรายนี้ได้แสดงให้เห็นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คือความสามารถในการขยายธุรกิจ 3 เท่าต่อปี” Lim กล่าว
ทั้งนี้ Ninja Van คือหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ด้วยการส่งสินค้าให้กับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โดยผู้เล่นรายอื่นๆ ได้แก่ Lalamove, GoGoVan, UrbanFox หรืออย่างในไทยก็คือ Kerry
Lai กล่าวว่า การแข่งขันด้านราคา, ความเร็ว และความน่าเชื่อถือนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แต่บริษัทของเขายังทำงานร่วมกับ SMEs เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขาได้เปิดตัวโปรแกรมที่ชื่อว่า Ninja Academy ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะมีการสอนผู้ประกอบการเกี่ยวกับโซเชียลมาร์เก็ตติ้ง, การจัดการสินค้าในคลัง, การจัดซื้อ และกลยุทธ์การขาย
สตาร์ทอัพรายนี้ยังวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อค้นหาประสิทธิภาพที่ซ่อนอยู่ อย่างเช่น เมื่อผู้ประกอบการหลายคนกำลังจะซื้อสินค้าเดียวกัน บริษัทสามารถเป็นตัวแทนในการซื้อสินค้าจำนวนมากในราคาที่ต่ำกว่า โดยเป็นการซื้อในนามลูกค้าหลายราย เช่นเดียวกับกรณีของการซื้อพื้นที่ในการจัดส่งสินค้าด้วย “เราเป็นผู้ซื้อ (พื้นที่) รายใหญ่ที่สุดในการส่งสินค้าทางอากาศในอินโดนีเซีย” Lai กล่าว
ทั้งนี้ การลงทุนใน Ninja Van ของ Grab นั้นมีการพูดคุยอย่างต่อเนื่องถึงการทำงานร่วมกัน “เรายังคงหาวิธีที่จะทำงานร่วมกัน” Lai ผู้ที่เมื่อ 4 ปีก่อนได้เข้าไปพูดคุยกับ Anthony Tan ผู้ร่วมก่อตั้ง Grab เกี่ยวกับการทำงานร่วมกันของพวกเขาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น
แต่ท้ายที่สุด ทั้งสองบริษัทก็ตัดสินใจที่จะทำงานแยกกัน เพราะดูแล้วต่างคนต่างอยู่จะมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ก็มีการพัฒนาความร่วมมือด้วยกัน โดยลูกค้า Grab สามารถเข้าถึงบริการของ Ninja Van ในรูปแบบการส่งพัสดุด่วนบนแอปพลิเคชั่น Grab หรือที่เรียกว่า GrabExpress โดยให้บริการแล้วในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงเวียดนามเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน Lai ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย (ที่ซึ่งบริษัทของเขาเริ่มให้บริการในปี 2015) เขากล่าวว่า “ภูมิทัศน์ตอนนี้เรียกได้ว่าน่าตื่นเต้นมาก เพราะร้านค้าเล็กๆ จำนวนมากต่างขยายช่องทางการตลาดของตัวเอง” Lai กล่าว อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่แท้จริงของเขา คือไปไกลมากกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “การไหลเวียนของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมีเพิ่มขึ้นทั่วโลก และแน่นอนว่า สหรัฐอเมริกาคือเป้าหมายของเรา”
แปลและเรียบเรียงจาก Keeping Up With E-commerce: Last Mile Delivery Service Deploys 'Ninjas' In Online Shopping Boom Photo Credit: Sean Lee/Forbes Asia