ไม่ไหวอีกราย! เชนฟาสต์แฟชั่นดังจากสหรัฐฯ Forever 21 เผยยื่นล้มละลายแล้ว เตรียมปิด 178 สาขา
Forever 21 แบรนด์เสื้อผ้าวัยรุ่นชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ว่า บริษัทได้ยื่นล้มละลายแบบ Chapter 11 แล้ว (การล้มละลายแบบ Chapter 11 เป็นการยื่นเพื่อฟื้นฟูกิจการ (Re-organization) โดยการขออำนาจศาลคุ้มครองการทวงหนี้จากเจ้าหน้าหนี้ และเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้)
เชนเสื้อผ้าดังกล่าวยังระบุอีกว่า บริษัทจะยื่นปิดสาขา 178 สาขา จากทั้งหมดที่อยู่มากกว่า 800 สาขา ขณะที่ประกาศที่แจ้งให้กับลูกค้าระบุว่า “บริษัทยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะปิดสาขาใดบ้างในสหรัฐฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับผลการเจรจากับผู้ให้เช่าที่ดิน”
“อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าสาขาจำนวนมากจะยังคงเปิดให้บริการตามปกติ และไม่คิดว่าจะมีการถอนตัวจากตลาดหลักๆ ในสหรัฐฯ” บริษัทระบุ
ทั้งนี้ ความสามารถในการถอนตัวจากการเป็นผู้เช่าและปิดสาขาด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลง ถือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญที่ค้าปลีกได้รับการกระบวนการล้มละลาย
Linda Chang รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุในแถลงการณ์ว่า การยื่นล้มละลายแบบ Chapter 11 นั้นเป็น “ก้าวที่สำคัญและจำเป็นในการรักษาความปลอดภัยให้กับอนาคตของบริษัทเรา ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถปรับโครงสร้างธุรกิจและเปลี่ยนแปลงโพสิชั่นของบริษัทได้”
Forever 21 ถือเป็นแบรนด์ค้าปลีกล่าสุดที่ประสบปัญหาที่มีสาเหตุมาจากการเติบโตของช็อปปิ้งออนไลน์ ที่ทำให้ทราฟิกการเข้าห้างสรรพสินค้าแบบเดิมลดลงอย่างมาก ซึ่งทำให้ผู้ค้าปลีกเจ้าเก่าหลายรายต้องแบกภาระหนี้สินและค่าเช่าที่สูง
ในหลายปีที่ผ่านมา แม้แต่ค้าปลีกที่กิจการแข็งแกร่งก็ได้ปิดสาขาไปหลายสาขา และบางรายก็วิกฤตจนมาถึงขั้นต้องยื่นล้มละลาย
“ผู้ค้าปลีกที่พึ่งพาการกู้ยืมเพื่อนำมาขยายการเติบโตของกิจการ มักต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการชะลอตัวของธุรกิจมากกว่า” Greg Portell หุ้นส่วนหลักใน A.T. Kearney บริษัทที่ปรึกษาด้านค้าปลีกและผู้บริโภค กล่าว
ขณะที่ข้อมูลจาก Coresight Research ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ ร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ ประกาศปิดตัวไปแล้วมากกว่า 8,200 สาขา มากกว่าปีก่อนที่ปิดตัวไปทั้งหมด 5,589 สาขา และคาดว่าจนถึงสิ้นปี 2019 จะมีการปิดตัวแตะ 12,000 สาขาเลยทีเดียว
สำหรับค้าปลีกแฟชั่นรายนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1984 โดยผู้อพยพชาวเกาหลี Do Won Chang และภรรยาของเขา Jin Sook ร้านแรกของพวกเขาเป็นเพียงร้านเล็กๆ ใน Los Angeles ก่อนจะขยายเชนออกไปอย่างรวดเร็วในห้างสรรพสินค้าชานเมือง โดยสินค้าเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นราคาไม่แพง เจาะกลุ่มสาวๆ วัยรุ่นและผู้หญิง จากนั้นก็กลายเป็นแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นที่สมบูรณ์แบบ ด้วยการอัพเดตเสื้อผ้าใหม่ๆ อยู่เสมอ
“เราได้รับสินค้าใหม่ทุกวัน ขณะที่ร้านอื่นในห้างมักได้รับสินค้าใหม่ 1 หรือ 2 วันต่อสัปดาห์ ดังนั้น บอกได้เลยว่าเรามีสไตล์ใหม่ล่าสุดเสมอ” ผู้จัดการสาขาแห่งหนึ่งกล่าวเมื่อปี 2001
ทั้งนี้ เชนค้าปลีกรายนี้มักสร้างสาขาที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ตัวอย่างคือสาขาในใจกลาง New York อย่าง Time Square เป็นสาขาที่มีถึง 4 ชั้น มีพื้นที่รวม 90,000 ตารางฟุต และมีห้องลองมากถึง 151 ห้อง และในขณะที่ค้าปลีกหลายรายต่างเริ่มหยุดขยายสาขาของตนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ฟาสต์แฟชั่นรายนี้ได้เปิดสาขาใหม่หลายแห่งในปี 2016
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าร้านค้าปลีกแบบเดิมที่เชี่ยวชาญในการขายเสื้อผ้าให้กับวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวต่างต้องดิ้นรนอย่างหนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากวัฏจักรแฟชั่นที่สั้นลงและการเปลี่ยนไปซื้อของบนโลกออนไลน์แทนห้างสรรพสินค้าของผู้ซื้อยุคใหม่
“ฟาสต์แฟชั่นและการเร่งความเร็วของซัพพลายเชนทำให้ความเสี่ยงของการทำธุรกิจนั้นรุนแรงมากขึ้น เพราะเจ้าของกิจการมีโอกาสอ่านเทรนด์ผิดพลาดเพิ่มขึ้นกว่าเดิม” Portell กล่าว
แบรนด์ค้าปลีกในสหรัฐฯ อย่าง Wet Seal, American Apparel และ Delia ต่างยื่นล้มละลายและปิดสาขาทั้งหมดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่แบรนด์ Aeropostale ได้ยื่นล้มละลายในปี 2016 และยังเปิดดำเนินการอยู่เพียงบางสาขาเท่านั้น ส่วนแบรนด์ Charlotte Russe ก็ได้ยื่นล้มละลายในปีนี้เช่นเดียวกัน
โดยค้าปลีกหลายรายต้องเผชิญกับปัญหาหลังจากถูกซื้อโดยบริษัทเอกชนหรือกองทุนเฮดจ์ฟันด์ซึ่งทำให้ประสบภาวะหนี้ แต่ฟาสต์แฟชั่นรายนี้นั้นแตกต่างเนื่องจากเจ้าของยังเป็นผู้ก่อตั้งอยู่
สำหรับสามีภรรยา Do Won Chang และ Jin Sook นั้น Forbes ระบุว่าความมั่งคั่งของพวกเขาอยู่ที่ 3 พันล้านเหรียญ ขณะที่บริษัทมียอดจำหน่ายปีละ 3.4 พันล้านเหรียญ และมีพนักงาน 30,000 คน
อ่านเพิ่มเติม แปลและเรียบเรียงจาก Forever 21 files for bankruptcy, intends to close up to 178 storesไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine