มหาเศรษฐีผู้อพยพแห่ง Forbes 400 Thomas Peterffy และ สามี-ภรรยา ผู้ก่อตั้ง Forever 21 - Forbes Thailand

มหาเศรษฐีผู้อพยพแห่ง Forbes 400 Thomas Peterffy และ สามี-ภรรยา ผู้ก่อตั้ง Forever 21

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Jan 2017 | 11:16 AM
READ 3150

Thomas Peterffy เกิด ณ ห้องชั้นใต้ดินของโรงพยาบาล ใน Budapest เมื่อวันที่ 30 กันยายน 1944 แม่ของเขาถูกเคลื่อนย้ายไปที่นั่นหลังจากกองทัพโซเวียตเปิดปฏิบัติการการโจมตีทางอากาศ หลังโซเวียตปลดปล่อยฮังการีจากการปกครองของกองทัพนาซี ฮังการีกลับกลายมาตกอยู่ภายใต้อาณัติของเผด็จการในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งก็คือ การปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ Peterffy และครอบครัวซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูลชั้นสูงสูญสิ้นทุกอย่าง “พวกเราประหนึ่งเหมือนนักโทษ” เขากล่าว

ในฐานะเด็กหนุ่ม Peterffy มีความฝันที่จะเป็นอิสระจากชีวิตที่เสมือนอยู่ในคุกที่นั่นด้วยการมุ่งหน้าสู่อเมริกาในวัย 20 ปี เขาวางแผนเพื่อหลบหนีในเวลานั้นชาวฮังกาเรียนสามารถยื่นขอวีซ่าระยะสั้นเพื่อไปเยี่ยมญาติในเยอรมนีตะวันตกซึ่งเขาได้ใช้เรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์เช่นเดียวกับผู้อพยพเข้าอเมริกาอย่างผิดกฎหมายหลายล้านคนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อวีซ่าหมดอายุลงเขาไม่ได้เดินทางกลับประเทศบ้านเกิด แต่มุ่งหน้าสู่ประเทศอเมริกา เที่ยวบินของ Peterffy ลงแตะพื้นที่สนามบินนานาชาติ John F. Kennedy ใน New York เมื่อเดือนธันวาคม 1965 เขาทั้งไม่มีเงินติดตัวและพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ มีเพียงกระเป๋าเดินทางใบเดียวที่ใส่เสื้อผ้า หนังสือคู่มือการสำรวจและรังวัดไม้บรรทัดและภาพวาดของบรรพบุรุษ เขาเดินทางไปยัง Spanish Harlem ซึ่งเป็นย่านที่ผู้อพยพชาวฮังกาเรียนตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนขนาดเล็ก เขาอาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ที่เก่าทรุดโทรมและย้ายหลักแหล่งไปเรื่อย เขามีความสุขแต่ก็มีความหวาดกลัวอยู่ลึกๆ “มันเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจากบ้านจากเมือง ทิ้งวัฒนธรรมและภาษาที่ใช้สื่อสาร” เขากล่าว “แต่ผมเชื่อว่าในอเมริกา ผู้ที่ทุ่มเททำงานหนักจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าคุณค่าของคนวัดกันที่ความสามารถและความมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ ดินแดนนี้คือสวรรค์แห่งโอกาสที่ไร้ข้อจำกัด” แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เขาได้งานในตำแหน่งพนักงานเขียนแบบของบริษัทผู้ให้บริการด้านงานสำรวจแห่งหนึ่ง ตอนที่บริษัทลงทุนซื้อคอมพิวเตอร์ “ไม่มีใครรู้ว่าจะใช้งานอย่างไร ผมจึงอาสาเป็นผู้ทดลอง” เขากล่าว เขาเชี่ยวชาญอย่างรวดเร็วและหลังจากนั้นไม่นานก็ได้งานใหม่เป็นนักเขียนโปรแกรมให้กับบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินขนาดเล็กแห่งหนึ่งซึ่งเขาได้พัฒนาระบบซื้อขายผ่านโปรแกรมอัตโนมัติขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1970 Peterffy สะสมเงินได้ประมาณ 2 แสนเหรียญและตัดสินใจเปิดบริษัทซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการใช้ระบบซื้อขายหุ้นแบบอิเล็กทรอนิกส์ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์จะพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัลเสียอีก ในช่วงทศวรรษที่ 1990 เขาเริ่มหันทิศมาสู่การเป็นผู้ให้บริการฝั่งซื้อขายหลักทรัพย์ โดยก่อตั้ง Interactive Brokers Group ซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านเหรียญ ในปัจจุบัน Peterffy วัย 72 ปีมีมูลค่าทรัพย์สินราว 1.26 หมื่นล้านเหรียญ Thomas Peterffy คือหนึ่งในแบบอย่างผู้ประสบความสำเร็จจากการเดินตามความฝันแบบ American Dream เช่นเดียวกับ Sergey Brin ผู้ก่อตั้ง Google (มูลค่าทรัพย์สิน 3.75 หมื่นล้านเหรียญ), Pierre Omidyar ผู้ก่อตั้ง eBay (8.1 พันล้านเหรียญ) และ Elon Musk ผู้ก่อตั้ง Tesla และ SpaceX (1.16 หมื่นล้านเหรียญ) ไปจนถึง Rupert Murdoch, George Soros, Jerry Yang, Micky Arison, Patrick Soon-Shiong, Jan Koum, Jeff Skoll, Jorge Perez, Peter Thiel รวมถึงอีกหลายสิบคนที่อพยพไปยังสหรัฐฯ ที่ได้รับสิทธิ์เป็นพลเมืองอเมริกันและก้าวเข้าสู่ทำเนียบมหาเศรษฐี Forbes 400 ผู้ครองตำแหน่ง 42 รายในทำเนียบ การจัดอันดับ Forbes 400 ตกเป็นของชาวอพยพที่ได้เปลี่ยนสถานะเป็นคนอเมริกัน จำนวนดังกล่าวคิดเป็น 10.5% จากผู้ติดอันดับทั้งหมด ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับข้อมูลที่ชี้ว่าผู้อพยพมีสัดส่วนเพียง 6% จากจำนวนประชากรในสหรัฐฯ (หากนับรวมผู้ที่ไม่ได้ถือสัญชาติอเมริกัน 13% ของประชากรที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ เกิดในต่างประเทศ ทั้งนี้ มหาเศรษฐีซึ่งไม่ได้ถือสัญชาติอเมริกันก็ติดอันดับด้วยเช่นกัน อย่างเช่น Hamdi Ulukaya เจ้าของธุรกิจโยเกิร์ตและ Adam Neumann ผู้ก่อตั้ง WeWork เนื่องจากเล่มพาสปอร์ตระบุว่าพวกเขาถือสัญชาติต่างถิ่น ทำให้พวกเขาอยู่ในข่ายพิจารณาจัดอันดับ 400 มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของอเมริกา แต่พวกเขายังคงดำเนินธุรกิจและสร้างงานในสหรัฐฯ) ด้าน Do Won Chang และ Jin Sook ภรรยาของเขาลงแตะผืนแผ่นดินสหรัฐฯ ณ ท่าอากาศยาน LAX ในวันเสาร์หนึ่งของปี 1981 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เกาหลีใต้ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ด้วยความรู้เพียงชั้นมัธยมปลาย เขาลงมือหางานจากประกาศรับสมัครงานตามหน้าหนังสือพิมพ์ทันที เขาได้ไปสัมภาษณ์งานที่ร้านกาแฟในท้องถิ่นแห่งหนึ่งและเริ่มทำงานในเช้าวันจันทร์โดยรับหน้าที่ล้างจานและเตรียมอาหาร “ผมได้รับค่าแรงในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ…ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ” ดังนั้นเขาจึงทำงานเพิ่มอีกวันละ 8 ชั่วโมงที่ปั๊มน้ำมันและเริ่มธุรกิจบริการทำความสะอาดสำนักงานแห่งเล็กๆ ซึ่งกว่างานจะเลิกก็ปาเข้าไปเที่ยงคืน ส่วนทางด้าน Jin Sook ทำงานในร้านเสริมสวยขณะกำลังทำหน้าที่เติมน้ำมัน Chang สังเกตเห็นว่าลูกค้าที่ทำธุรกิจเสื้อผ้าส่วนใหญ่ขับรถหรูดูดี สิ่งนี้สร้างแรงบันดาลใจให้เขาสมัครเข้าทำงานในร้านจำหน่ายเสื้อผ้า หลังจากนั้น 3 ปีเมื่อเขาและ Jin Sook รวบรวมเงินได้ 11,000 เหรียญ พวกเขาตัดสินใจเปิดร้านเสื้อผ้าแฟชั่นขนาดพื้นที่ 900 ตารางฟุตและตั้งชื่อร้านว่า Fashion 21 ยอดขายในปีแรกแตะ 700,000 เหรียญ สองสามีภรรยาเริ่มขยายกิจการโดยเปิดสาขาใหม่ทุก 6 เดือนและท้ายที่สุดได้เปลี่ยนชื่อเครือธุรกิจเป็น Forever 21 ปัจจุบันพวกเขามีมูลค่าทรัพย์สินราว 3 พันล้านเหรียญ “ผมมาที่นี่แบบแทบจะตัวเปล่า” Chang กล่าว “ผมซาบซึ้งในบุญคุณของประเทศอเมริกาเสมอสำหรับโอกาสที่มอบให้กับผม”
Forbes 400 ชี้ ฝันชาวอเมริกัน ยังดีอยู่ มหาเศรษฐีผู้อพยพแห่ง Forbes 400 Romesh Wadhwani และ Douglas Leone
คลิ๊กเพื่ออ่าน "Forbes 400 ชี้ฝันชาวอเมริกัน ยังดีอยู่" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2559