โควิด-19 อาจเป็นแค่ปัจจัยเร่งให้ Hertz เป็นอีกบริษัทที่ประกาศล้มละลาย - Forbes Thailand

โควิด-19 อาจเป็นแค่ปัจจัยเร่งให้ Hertz เป็นอีกบริษัทที่ประกาศล้มละลาย

หลังจากอยู่ในธุรกิจมากว่า 100 ปี บริษัทผู้ให้บริการรถเช่า Hertz ก็ได้ยื่นล้มละลาย นับเป็นรายล่าสุดที่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังก่อนหน้านี้บริษัทในสหรัฐอเมริกาอย่าง J.C. Penney, J. Crew, Neiman Marcus, Gold’s Gym, Pier 1 และเครือหนังสือพิมพ์ McClatchy ต่างยื่นขอพิทักษ์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

โดย Hertz ให้บริการเช่ารถยนต์มาตั้งแต่ปี 1918 และรอดจากเหตุการณ์ต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression), การหยุดผลิตรถในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และภาวะน้ำมันขึ้นราคาหลายต่อหลายครั้ง แต่วิกฤตโควิด-19 สร้างบาดแผลลึกและแรงให้บริษัทให้เช่ารถยนต์รายนี้อีกครั้ง

ทั้งนี้ การประกาศล้มละลายดังกล่าว Hertz กล่าวว่าบริษัทตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจไปพร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างหนี้ และสร้างสถานะการเงินที่ดีครั้งใหม่ให้กับบริษัท

อย่างไรก็ตาม แม้มันง่ายที่จะบอกว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นความโชคร้ายของบริษัท เช่นเดียวกับที่บริษัทอื่นๆ ต้องบาดเจ็บล้มตายเพราะผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า แต่ในความเป็นจริงเรื่องราวของ Hertz แตกต่างออกไป

ความล้มเหลวของ Hertz รวมถึงบริษัทอื่นๆ ส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุความเฉื่อยและความทะนงตนของตัวเอง รวมถึงการที่พวกเขาไม่รับรู้ถึงเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และปฏิเสธที่จะปรับรูปแบบธุรกิจของตนให้เข้ากับเทรนด์ใหม่ๆ

Wall Street Journal รายงานว่า Hertz Global Holdings Inc. หนึ่งในผู้ให้บริการรถเช่ารายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ได้ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลล้มละลายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยมีหนี้สินราว 1.9 หมื่นล้านเหรียญ และรถยนต์ราว 700,000 คันที่ให้บริการไม่ได้เนื่องจากไวรัสโคโรน่า

แต่ในความเป็นจริงบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2019 ขาดทุนไปถึง 58 ล้านเหรียญ เป็นการขาดทุนที่ลดลงจากในปี 2018 ที่ขาดทุนไป 225 ล้านเหรียญ ขณะที่ในไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุนไปถึง 356 ล้านเหรียญ

ย้อนไปในเดือนมีนาคม ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ส่งให้ Hertz ปลดพนักงานไป 12,000 คน และจะให้พักงานชั่วคราวอีก 4,000 คน ซึ่งคิดเป็น 25% ของพนักงานทั้งหมด

การดำเนินธุรกิจรถเช่านั้นมีการเดินทางเป็นปัจจัยหลัก ไม่ว่าจะเป็นการเช่ารถไปเที่ยวช่วงวันหยุดของครอบครัว, นักธุรกิจที่บินไปพบลูกค้า ก็จะใช้บริการเช่ารถจากสนามบินไปใช้ในช่วงระหว่างเยือนประเทศนั้นๆ ซึ่งเมื่อการเดินทางทางอากาศแทบจะหยุดชะงัก ความต้องการเช่ารถจึงลดลงไปอย่างมาก

จริงอยู่ที่ COVID-19 สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงให้กับ Hertz เช่นเดียวกับธุรกิจน้อยใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง แต่บริษัทเก่าแก่แห่งสหรัฐฯ รายนี้ก็บาดเจ็บมานานก่อนที่เราจะได้ยินคำว่าโคโรน่าไวรัสเสียอีก

Hertz นั้นอยู่ในตลาดรถเช่าที่มีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว แต่เมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง Uber และ Lyft เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง จึงไม่แปลกที่ธุรกิจรถเช่าแบบเดิมๆ จะถูกโจมตี

ความง่ายของการใช้แอปเรียกรถ ที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องไปกรอกสัญญาฉบับยาว รอรถและขับออกไปยังสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยด้วยตัวเอง เพียงแค่เปิดแอปแล้วกดเรียกคนขับให้พาไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าประสบการณ์ใหม่เหล่านี้สร้างความสะดวกสบายให้ลูกค้าได้มากกว่า และกระทบต่อธุรกิจรถเช่าแบบเดิมๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหาบางอย่างของ Hertz ก็มาจากการทำร้ายตนเอง โดยบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1918 รายนี้เพิ่งมีการปรับโครงสร้างการทำงานครั้งใหญ่ซึ่งเปลี่ยนซีอีโอไปแล้วถึง 4 คน

ทั้งนี้ การล้มละลายของ Hertz อาจสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เพราะเป็นไปได้ว่าบริษัทอาจปลดพนักงานเพิ่มในอนาคตอีก นอกเหนือจาก 16,000 คนที่ปลดออกและให้พักงานไปแล้ว ขณะเดียวกันก็ยังมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าบริษัทจะลดชั่วโมงการทำงานของพนักงานที่เหลือ ส่วนคนที่ให้พักงานชั่วคราวก็จะไม่ถูกเรียกกลับมาทำงานอีก

สำหรับ Hertz นั้นซื้อและเช่ารถมาจาก General Motors และผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ วิกฤตของ Hertz จึงสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อผู้ผลิตรถยนต์และซัพพลายเออร์ไปด้วย

โดย Hertz จะถูกบังคับให้ขายรถยนต์ และสิ่งนี้จะสร้างแรงกดดันให้กับตลาดรถยนต์มือสองไปด้วย ผู้คนที่กำลังตัดสินใจว่าจะขายรถยนต์ของตัวเองเพื่อนำเงินมาใช้เนื่องจากต้องตกงาน ก็อาจขายไม่ได้ราคาเท่าแต่ก่อน เพราะมีรถยนต์มือสองในตลาดมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม หลายคนสันนิษฐานว่า Hertz น่าจะได้รับโอกาสที่จะรอดชีวิต จาก Chapter 11 ที่จะทำให้ Hertz ได้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้

ขณะที่ Hertz กล่าวว่ากระบวนการล้มละลายจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างหนี้ที่จะทำให้บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดในของเราในอนาคต แม้กว่าจะไปถึงวันนั้นก็อาจต้องใช้เวลายาวนาน เนื่องจากต้องต้องอาศัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย

  ที่มา  
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine