กะเทาะเปลือก “การประท้วงฮ่องกง”- อ่านท่าที “จีน” กับอนาคตดินแดนเกาะแห่ง Greater Bay Area (2) - Forbes Thailand

กะเทาะเปลือก “การประท้วงฮ่องกง”- อ่านท่าที “จีน” กับอนาคตดินแดนเกาะแห่ง Greater Bay Area (2)

บนเวทีเสวนา “ฮ่องกง วันนี้...และ...อนาคต” จัดโดย FM 100.5 MCOT News Network ร่วมกับ สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ประเด็นสำคัญที่ทุกคนมุ่งประเด็นไปท่ามกลางการชุมนุมทางการเมืองคือ รัฐบาลจีนจะตอบโต้กับโจทย์เกาะฮ่องกงนี้อย่างไร จะมีการปราบปรามอย่างรุนแรงหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ที่จีนจะตัดขาดกับฮ่องกง และหากเป็นเช่นนั้น จีนจะสูญเสียทางเศรษฐกิจหรือไม่

ต่อประเด็นนี้ ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เท้าความย้อนถึงประวัติศาสตร์จีนก่อนว่า ก่อนที่จะถูกปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ จีนเคยผ่านพ้น “ศตวรรษแห่งความอัปยศ” จากความพ่ายแพ้ทั้งต่ออังกฤษ โซเวียด กระทั่งญี่ปุ่นซึ่งยุคนั้นจีนถือว่าเป็น ‘คนป่า’ จากที่ห่างไกล และการเสียเกาะฮ่องกงให้กับอังกฤษก็คือสัญลักษณ์ความอัปยศของจีนที่ยังเป็นแผลลึกถึงวันนี้ หลังจากการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจตามนโยบายของ Deng Xiaoping โดยใช้หลักการปกครองแบบ “1 ประเทศ 2 ระบบ” ประธานาธิบดี Deng ได้มองวิสัยทัศน์ประเทศจีนในปี 2049 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 100 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ ในปีนั้นเติ้งมองว่าจีนจะต้องบรรลุเป้าหมาย 3 ประการคือ ทันสมัย เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และเป็น “จีนเดียว” สองประการแรกนั้นคงไม่มีผู้ใดคัดค้านได้ว่าจีนทำสำเร็จแล้ว แต่การรวมประเทศให้เป็นจีนเดียวนั้นยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ยกตัวอย่างเช่นการรวมเอาทิเบตและมณฑล Xinjiang มาอยู่ในจีนผ่านการตัดถนน สร้างทางรถไฟ และลงทุนการค้า ซึ่งได้นำกลยุทธ์นี้มาใช้กับฮ่องกงด้วยผ่านการสร้างสะพานจูไห่ข้ามจาก Shenzhen และวางตัวฮ่องกงให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจจีนในเขต Greater Bay Area
5 สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ"สะพานฮ่องกง-มาเก๊า-จูไห่"
สะพานฮ่องกง มาเก๊า จูไห่ (PHOTO CREDIT: โพสต์ทูเดย์)
ดังนั้น จากนโยบายจีนเดียวภายใต้วิธีปกครอง 1 ประเทศ 2 ระบบ ซึ่งหมายถึงการปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์แต่แบ่งเขตเศรษฐกิจเป็นแบบสังคมนิยมหรือทุนนิยม ผนวกกับการที่ฮ่องกงคือสัญลักษณ์ความพ่ายแพ้ที่จีนได้รับชัยชนะกลับมา การที่รัฐบาลจีนจะยอมให้ฮ่องกงมีเอกราชนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าจะยอมถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนออกจากสภา แต่จีนจะไม่ประนีประนอมกับการแบ่งแยกดินแดนโดยเด็ดขาด ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน เสริมว่า จากมุมมองที่เขารับฟังจากเพื่อนสื่อมวลชนชาวจีน (หมายเหตุ: สื่อมวลชนจีนอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีนทั้งหมด) เชื่อว่าวิธีการของรัฐบาลกลางคือจะไม่ใช้ความรุนแรงในการปราบปราม เพราะหากกระทำเช่นนั้นจะทำให้ชาวฮ่องกงต่อต้านมากยิ่งขึ้น ดังนั้นม็อบชุมนุมน่าจะยืดเยื้อต่อไปและรัฐหวังว่าจะอ่อนแรงไปเอง ส่วนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รัฐบาลกลางจะยังคงให้ฮ่องกงเป็นฮับทางการเงินต่อไป เพียงแต่อาจจะไม่โดดเด่นเท่ากับในอดีต เพราะปัจจุบันจีนมี ‘ประตู’ ทางเศรษฐกิจมากมายจึงไม่ต้องพึ่งพิงเฉพาะฮ่องกงอีกแล้ว  

ฮ่องกงไม่มีอำนาจต่อรอง

ดูเหมือนว่า ความกังวลของเยาวชนฮ่องกงต่อฐานะทางเศรษฐกิจฮ่องกงเทียบกับจีนจะเป็นความจริงไม่มากก็น้อย (อ่าน กะเทาะเปลือกเบื้องหลัง “การประท้วงฮ่องกง” ฯ ตอน 1 ที่นี่) โดยผศ.ดร.ปิติกล่าวว่า ในเกมการเมืองและเศรษฐกิจยุคนี้ Shenzhen ซึ่งเป็นเมืองท่าของจีนตั้งประจันหน้ากับเกาะฮ่องกง ถูกวางตัวเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและการเงิน ปัจจุบันขนาดตลาดหุ้น Shenzhen มีขนาดใหญ่กว่าตลาดหุ้นฮ่องกงแล้วโดยภาคการเงินคิดเป็น 14.6% ของจีดีพี Shenzhen อีกทั้งความเป็นฮับขนส่งทางเรือของ Shenzhen ก็ได้แซงหน้าฮ่องกงไปเรียบร้อย หากฮ่องกงจะมีข้อดีกว่า Shenzhen ก็มีเพียงเรื่องระเบียบปฏิบัติของตลาดหุ้นฮ่องกงที่เป็นมิตรกับบริษัทต่างชาติและเป็นสากลมากกว่าเท่านั้น
shenzhen-port
ท่าเรือ Shenzhen (PHOTO CREDIT: newsecuritybeat.org)
ดังนั้น ผศ.ดร.ปิติจึงมองว่า ฮ่องกงมิได้มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับจีนมากนัก แต่จีนไม่อาจปล่อยฮ่องกงเป็นอิสระได้เพราะเหตุทางการเมืองดังกล่าว ในทางกลับกัน ฮ่องกงก็ยากที่จะตัดขาดกับจีน เพราะสาธารณูปโภคคือน้ำประปาและไฟฟ้ายังพึ่งพิงจีนถึง 70-80% และจุดอ่อนนี้อาจเป็น ‘ไม้ตาย’ ที่จีนจะใช้หากฮ่องกงขัดขืนไปมากกว่านี้  

จีน vs ตะวันตก : สามัคคีคือพลัง

อีกแง่มุมหนึ่งที่เวทีเสวนานี้พูดถึงความเกี่ยวข้องกับการประท้วงฮ่องกง คือเรื่องการแทรกแซงจากชาติตะวันตก โดยแต่เดิมนั้นจีนเผชิญสงครามการค้าที่เปิดศึกโดย Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อยู่แล้ว ซึ่ง วิบูลย์ คูสกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้มุมมองว่าสงครามการค้าคือโรคภัยที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อจีนเปิดเสรีทางเศรษฐกิจกลับไม่เกิดเสรีทางการเมืองติดตามมาอย่างที่สหรัฐฯ ตั้งธงไว้ เมื่อความเจริญรุ่งเรืองของจีนเกิดขึ้น สหรัฐฯ จึงมองเรื่องนี้เป็นภัยคุกคาม ด้าน ทวีสุข ธรรมศักดิ์ นักวิชาการและที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงินและการลงทุน DTGO คอร์ปอเรชั่น จำกัด (บริษัทในเครือตระกูลเจียรวนนท์) เสริมว่า เมื่อ Trump โจมตีจีนอย่างหนักทางเศรษฐกิจ และต่อด้วยการลุกฮือของชาวฮ่องกงถึงขนาดมีการชูธงชาติสหรัฐฯ ระหว่างการประท้วงเพื่อแสดงสัญญะว่าเอนเอียงไปสู่โลกตะวันตก สิ่งเหล่านี้สร้างพลวัตรทางการเมืองและเศรษฐกิจ คือทำให้คนจีนในจีนแผ่นดินใหญ่ยิ่งแสดง “ความรักชาติ” และสามัคคีกันยิ่งขึ้น  

หางเลขตกที่ไทยในภาคการท่องเที่ยว

ปิดท้ายถึงมุมมองของ สุรวัช อัครมาศ อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ในแง่มุมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวจากเหตุการณ์ประท้วงฮ่องกง นับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเยือนไทยในปีนี้ลดลง 3% ทั้งที่ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายยอดนิยมของคนจีน แต่ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวฮ่องกงกลับเพิ่มขึ้น “เมื่อเกิดปัญหากับฮ่องกง นักท่องเที่ยวจีนที่เคยไปฮ่องกงทำไมไม่เลือกมาเมืองไทยแทน สาเหตุเพราะ ‘ความรักชาติ’ จากการขัดแย้งกับประเทศตะวันตก คนจีนรู้สึกว่าเขาต้องรักษากันเอง ทำให้เขาเลือกไปท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไปไต้หวัน ซึ่งกระทบกับประเทศไทยแน่นอน” สุรวัชกล่าว แต่ในอีกแง่หนึ่งนั้น นักท่องเที่ยวฮ่องกงเข้ามามากขึ้นเพราะความเบื่อหน่ายต่อสถานการณ์ในประเทศ และมีความเป็นไปได้ว่าคนฮ่องกงบางส่วนที่มีกำลังทรัพย์จะเลือกย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากในไทย ด้วยไลฟ์สไตล์ที่ใกล้เคียงกันนั่นเอง