กะเทาะเปลือก “การประท้วงฮ่องกง”- อ่านท่าที “จีน” กับอนาคตดินแดนเกาะแห่ง Greater Bay Area (1) - Forbes Thailand

กะเทาะเปลือก “การประท้วงฮ่องกง”- อ่านท่าที “จีน” กับอนาคตดินแดนเกาะแห่ง Greater Bay Area (1)

การประท้วงของชาวฮ่องกงดำเนินต่อเนื่องเข้าสู่สัปดาห์ที่ 17 สัปดาห์ “วันชาติจีน” ที่กำลังจะมาถึง ในขณะที่ Carrie Lam ยอมถอยให้กับข้อเรียกร้องบางข้อของผู้ชุมนุม แต่บางข้อก็ไม่อาจประนีประนอมได้ ขณะที่ความรุนแรงในการประท้วงเริ่มคุกรุ่นขึ้นและเริ่มยกระดับไปแตะคำว่า “เอกราช” อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ชาวฮ่องกงโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวต้องลุกฮือในครั้งนี้ และท่าทีของรัฐบาลกลางแห่งประเทศจีนมองอย่างไร

เก็บข้อถกเถียงอันเข้มข้นจากบนเวทีเสวนา “ฮ่องกง วันนี้...และ...อนาคต” จัดโดย FM 100.5 MCOT News Network ร่วมกับ สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ณ วันที่ 27 กันยายน 2562 ท่ามกลางบรรยากาศอันเข้มข้นของการประท้วงฮ่องกงที่ดำเนินเข้าสู่สัปดาห์ที่ 17 และกำลังจะเข้าสู่โอกาสครบรอบ 70 ปีวันชาติจีนในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ สถานการณ์ทางการเมืองของฮ่องกงจะดุเดือดหรือคลี่คลายอย่างไรบ้าง เวทีนี้ได้รับเกียรติจาก Yang Xin อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย มากล่าวปาฐกถาด้วยตนเอง ซึ่งทำให้ได้เห็นมุมมองอันชัดเจนยิ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ต่อฮ่องกง โดย Xin กล่าวว่า ต้นเหตุของการประท้วงเริ่มต้นมาจากการหนีข้ามแดนของฆาตกรจากเกาะไต้หวันมาสู่ฮ่องกง ซึ่งจีนต้องการความร่วมมือในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อปราบปรามอาชญากรรม แต่ชาวฮ่องกงมีความกังวลและไม่เข้าใจระบบนี้ รวมถึงมีการปล่อยข่าวลือสร้างความเข้าใจผิด จึงทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วงที่เริ่มเกินขอบเขต มีการปิดล้อม กักขังหน่วงเหนี่ยว ทำลายสิ่งอำนวยความสะดวก ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ การเดินขบวนในเขตชุมชนและใช้ความรุนแรงนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย “ที่สำคัญคือมีผู้ชุมนุมบางกลุ่มเรียกร้องเอกราชให้กับฮ่องกงซึ่งถือว่าเกินขอบเขตหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบแล้ว ต่างชาติเริ่มเข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในของฮ่องกงอย่างเปิดเผย และสื่อมวลชนก็รายงานไม่ตรงกับความเป็นจริง” Xin กล่าว เขายังใช้โอกาสนี้ขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่สนับสนุนว่ากรณีฮ่องกงถือเป็นกิจการภายในของจีน และขอบคุณนักธุรกิจไทยที่ช่วยสนับสนุนจีนด้วย
Yang Xin อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย
Xin ยังกล่าวถึงแนวทางการจัดการของจีนไว้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลกลางจะยังคงสนับสนุน Carrie Lam เป็นผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงต่อไป และให้ Lam ปราบปรามความรุนแรง ควบคุมให้ชาวฮ่องกงปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงสนับสนุนให้ ‘ผู้รักชาติ’ ต่อต้านความรุนแรงเหล่านี้ด้วย “หลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ฮ่องกงมีอิสระทางเศรษฐกิจภายใต้ระบบปกครองที่สมบูรณ์นี้ จึงไม่ควรมีการท้าทายอำนาจรัฐส่วนกลาง การพัฒนาประชาธิปไตยของฮ่องกงต้องสอดคล้องกับฐานะทางการเมืองของฮ่องกงด้วย และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย” Xin กล่าว “การกระทำต่างๆ ที่เป็นการทำลายแนวทาง 1 ประเทศ 2 ระบบ จะไม่ได้รับอนุญาต และชาวจีนทั้งประเทศจะต่อต้าน หากสถานการณ์เกิดความวุ่นวายและอันตรายมากกว่านี้ รัฐบาลกลางจะไม่นิ่งเฉยดูดาย” อัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยยังย้ำด้วยว่า รัฐบาลกลางมั่นใจว่าจะสามารถสร้างความเจริญให้กับฮ่องกงได้ ฮ่องกงจะยังคงเป็นทุนนิยม เป็นฮับทางการเงิน การค้า ตามแนวคิด ‘ฮ่องกงหลังพิงปิตุภูมิ มุ่งหน้าสู่ทั่วโลก’ โดยให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างฮ่องกงกับจีนว่าสูงถึงปีละ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ มากกว่าการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เสียอีก รวมถึงรัฐบาลจีนให้คำมั่นว่าจะกำจัดความเหลื่อมล้ำในฮ่องกงให้ได้  

เจาะลึก ‘ความหวั่นกลัว’ ของเยาวชนฮ่องกง

นัยยะในปาฐกถาของ Xin สะท้อนให้เห็นว่ามีทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง คือการให้ความมั่นใจว่าฮ่องกงจะยังคงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจให้กับจีนและใช้ระบบทุนนิยม มิใช่สังคมนิยม แต่อีกมุมหนึ่งนั้น รัฐบาลกลางก็จะไม่อ่อนข้อให้กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำไปสู่การแบ่งแยกประเทศ ฟากชาวฮ่องกงนั้นไม่ไว้ใจการปกครองโดยจีนแผ่นดินใหญ่เพราะอะไร? บังอร ธรรมสอน ประธานสมาคมรวมไทยในฮ่องกง ผู้อาศัยอยู่ในฮ่องกงมาตั้งแต่ปี 1996 ฉายภาพใหญ่ให้เห็นว่า เหตุที่ทำให้คนฮ่องกงลุกฮือเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่ถ่างออก รายได้ของชนชั้นแรงงานไม่พอต่อการครองชีพ โดยเฉพาะประเด็นราคาอสังหาริมทรัพย์ จากภาพที่คนไทยอาจเคยเห็นที่อยู่อาศัยที่เรียกกันว่า “บ้านกรงหมา” นั้นมีอยู่จริง และชนชั้นแรงงานมีมุมมองต่อการปกครองของจีนว่าเลือกปฏิบัติโดยให้ประโยชน์กับชนชั้นสูงมากกว่าแรงงาน จึงทำให้พวกเขาร่วมชุมนุมในครั้งนี้
การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงเมือวันที่ 15 กันยายน 2019 มีผู้เข้าร่วมชุมนุมสะสมหลายล้านคน สถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นโดยผู้ชุมนุมเริ่มปาระเบิดขวดเข้าใส่สถานีตำรวจ และฟากตำรวจมีการใช้แก๊สน้ำตาและฉีดน้ำใส่ผู้ประท้วง (Photo by Philip FONG / AFP)
ด้าน ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน กล่าวว่า ตนขอสะท้อนความคิดเห็นจากเยาวชนฮ่องกงที่ร่วมขบวนประท้วงว่า อย่างที่เห็นว่าผู้ร่วมชุมนุม 60-70% เป็นเยาวชนและคนรุ่นใหม่วัย 16-35 ปี ที่เป็นเช่นนั้นเพราะวัยรุ่นฮ่องกงเห็นว่ารายได้ของพวกเขาอยู่ในระดับที่ไม่เพียงพอแม้แต่จะแยกครอบครัวจากพ่อแม่ เนื่องจากราคาอสังหาฯ ที่แพงระยับ และพวกเขายังมองว่า ตั้งแต่อังกฤษคืนเกาะฮ่องกงไปอยู่ภายใต้การปกครองของจีนในปี 1997 การลงทุนพัฒนาเกาะฮ่องกงจากรัฐบาลจีนนั้นไม่อาจเทียบเท่ากับการลงทุนในแผ่นดินใหญ่ได้เลย ซึ่งทำให้ชนชั้นแรงงานในฮ่องกงมีฐานะยากจนลงไป ขณะที่ชาวจีนร่ำรวยขึ้น แม้แต่ค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงก็ลดลงจนมีค่าน้อยกว่าเงินหยวน ทั้งหมดนี้ทำให้ชาวฮ่องกงรู้สึก ‘สูญเสียศักดิ์ศรี’ “เมื่อก่อนคนจีนย้ายมาเป็นแรงงานในเกาะฮ่องกง แต่วันนี้สลับกัน คนฮ่องกงต้องไปเป็นแรงงานในจีน คนจีนยังเข้ามาลงทุนในฮ่องกง ขณะที่คนฮ่องกงต้องกลายเป็นแรงงานให้กิจการของคนจีน” ชัยวัฒน์สะท้อนภาพที่ทำให้เยาวชนจีนรู้สึกว่าพวกเขาตกอยู่ในสภาพ ‘ไร้อนาคต’   อ่านต่อ กะเทาะเปลือก “การประท้วงฮ่องกง”- อ่านท่าที “จีน” กับอนาคตดินแดนเกาะแห่ง Greater Bay Area (2) ที่นี่