ส่องผลกระทบนโยบายภาษี Trump ฝั่ง ttb ชี้บาทผันผวนขึ้น กสิกรเผยไทยต้องเพิ่มนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ - Forbes Thailand

ส่องผลกระทบนโยบายภาษี Trump ฝั่ง ttb ชี้บาทผันผวนขึ้น กสิกรเผยไทยต้องเพิ่มนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ

เมื่อ Donald Trump กลับมาพร้อมผลักดันนโยบายใหญ่อย่าง America First จึงต้องเดินหน้าใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์สูงสุด ล่าสุดจึงประกาศจะจึ้นภาษีการนำเข้ากับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ แม้จะเริ่มต้นที่จีน แคนาดา และ เม็กซิโก แต่ไทยก็จำต้องเจอผลกระทบไปด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม


ttb analytics ย้ำนโยบาย Trump เพิ่มความเสี่ยงให้ไทย-บาทจะผันผวนแรงขึ้น

    ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) เปิดเผยว่า จากพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่เปราะบาง โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่ฝั่งการนำเข้าได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนราคาถูก ส่งผลต่อดุลการค้า และภาคการผลิตของไทย ไปจนถึงภาคการท่องเที่ยวไทยยังคงไม่ฟื้นตัวแตะระดับก่อนเกิด COVID-19 ภาพนี้จึงส่งผลต่อสัดส่วน ดุลบัญชีเดินสะพัด (CA : Current Account) ต่อ GDP ของไทยในช่วงหลังให้ต่ำลงจากในอดีต

    ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากนโยบายของทรัมป์ เนื่องจากมีการเกินดุลกับสหรัฐฯ ในอันดับที่ 12 (ปี 2566) และกลุ่มสินค้าที่ขาดดุลกับสหรัฐฯ หลายหมวดมีความเกี่ยวข้องกับจีนสูง นอกจากนี้ผลกระทบสำคัญคือ นโยบายกีดกันทางการค้ารอบใหม่นี้จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ทางการเงินโลกอย่างมีนัย โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนที่คาดว่าจะเห็นตลอดทั้งปี 2568

    ดังนั้น ค่าเงินบาทปี 2568 จะผันผวนสูงขึ้นกว่าช่วงหลังวิกฤต COVID-19 ที่สูงอยู่ก่อนแล้ว สะท้อนได้จากช่วงเปิดปี 2568 ค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 34.80 บาท/เหรียญสหรัฐ ก่อนทยอยกลับแข็งค่าแตะระดับต่ำสุด 33.60 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน (33.66 บาท/เหรียญสหรัฐ ณ 6 ก.พ.68) ซึ่งค่าเงินบาทยังมีความผันผวนที่สูงขึ้นจาก

    1) ความเสี่ยงของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายกับสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนจาก “ลบน้อย” เป็น “ลบมาก” ทำให้ค่าเงินบาทอาจกระทบมากกว่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายฯ สูงกว่าไทย

    2) ความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งสัดส่วนการค้าไทย-จีน และการท่องเที่ยวที่มีชาวจีนมีสัดส่วน 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้เงินบาท ถือเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่มีความสัมพันธ์ (Correlation) กับสกุลเงินหยวนสูง ดังนั้นหากเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเปราะบาง และเจอผลกระทบจากนโยบาย Trump ย่อมกระทบเงินบาทต่อเนื่อง

    3) ศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางมากขึ้นจากนโยบายกีดกันทางการค้าที่กำลังเกิดขึ้น

    อย่างไรก็ตามท่ามกลางความเสี่ยง และความผันผวนที่สูงขึ้น ttb analytics จึงแนะนำให้ภาคธุรกิจ ส่งออก นำเข้า
ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือผู้ที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

กสิกรไทย เผยอาจไทยต้องเปิดตลาดฝั่งธุรกิจ-นำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

    นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยจะเจอผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 10 ของโลก ดังนั้นกลยุทธ์การรับมือของไทย อาจต้องเปิดตลาดให้กับธุรกิจสหรัฐฯ มากขึ้น หรือเพิ่มการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพื่อลดการได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ นอกจากนี้ หากผลกระทบจากสงครามการค้าขยายวงกว้าง ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจจะไม่สามารถลดดอกเบี้ยเพิ่ม จากที่คาดว่าจะลดลง 2 ครั้งในปีนี้

    “นโยบายทรัมป์ 2.0 จะเน้น การสร้างความมั่นคง ทางด้านเศรษฐกิจ และการทหาร ให้กับสหรัฐฯ เป็นหลัก เราจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่สหรัฐฯ จะใช้ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของตนเองเป็นเครื่องมือต่อรอง ให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อย่างมากที่สุด” นายบุรินทร์ กล่าว



ภาพ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี, History in HD on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : วันแรกก็ป่วนแล้ว! สรุปคำสั่งที่ Donald Trump ลงนาม หลังคืนตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine