สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวร้อนในวงการหุ้นคงหนีไม่พ้น บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG ที่ออกมารายงานว่าเจอ ‘รายการต้องสงสัย’ ทั้งมีคำสั่งซื้อออกไปแต่ไม่มีหลักฐานว่าได้รับของที่สั่ง ไปจนถึงการให้เงินกู้กับบริษัทในเครือตระกูลวนาสินของหมอบุญ มูลค่ารวมหลักร้อยล้านบาท ทำให้ราคาหุ้นของ THG ปรับตัวลดลงกว่า 20% ในช่วงที่ผ่านมา
THG กับรายการต้องสงสัยมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท
ย้อนไปวันที่ 20 ก.ย. หลังจากตลาดหุ้นปิดทำการ ทาง บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เจ้าของเครือโรงพยาบาลธนบุรีได้ส่งรายงานมาที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าตรวจพบ ‘รายการอันควรสงสัย’ ของ 2 บริษัทย่อย ได้แก่
1) บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด หรือ THB (THG ถือหุ้น 83.03% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ THB)
2) บริษัท ที เอช เฮลท์ จำกัด หรือ THH (THG ถือหุ้น 51.22% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ THH)
ในรายงานพบว่า มีรายการที่น่าสงสัยเกี่ยวกับ 2 บริษัทย่อยนี้โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
- เงินกู้ให้ บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด หรือ RTD
นับตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2565 ถึงปี 2566 บริษัทย่อยทั้ง THB และ THH ให้กู้ยืมเงินแก่ บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด หรือ RTD ซึ่งเป็นบริษัทที่มีกลุ่มครอบครัววนาสินเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (40.80% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ RTD) รวมทั้งสิ้น 6 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวม 145 ล้านบาท
- เงินกู้ให้ บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด
ในปี 2566 ทาง THB ให้กู้ยืมเงินแก่ บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ RTD เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (กลุ่มครอบครัววนาสิน และ RTD ถือหุ้น 36.1% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด) รวมทั้งสิ้น 1 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวม 10 ล้านบาท
- คำสั่งซื้อที่ไม่รับมอบสินค้าจริง
ในปี 2566 THH สั่งซื้อสินค้าจาก Scientific Software Solutions บริษัทมีการจดทะเบียนจัดตั้งในสิงคโปร์ ที่ตั้งขึ้นในปีเดียวกัน แต่ไม่มีการรับมอบสินค้าจริง รวม 2 รายการ คิดเป็นยอดเงิน 55 ล้านบาท
(ณ ปัจจุบัน ยอดหนี้คงค้างของรายการทั้งหมดนี้อยู่ที่ 105 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น)
ทางบริษัท THG ได้รายงานว่าข้อมูลเหล่านี้ได้ส่งเรื่องเข้ามาที่คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทฯ เมื่อ 23 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยการทำรายการที่น่าสงสัยทั้งหมดนี้ กระทำโดยฝ่ายบริหารบางส่วนของบริษัทย่อย ซึ่งเป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ ไม่ได้ทำตามระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของบริษัท THG
จากข่าวเหล่านี้ผลกระทบที่เห็นชัดเจนคือ เช้าวันที่ 23 ก.ย. 2567 หุ้นของ THG ร่วงลงแรงจากวันก่อนหน้าที่ราคา 25.25 บาท/หุ้น โดยระหว่างวันมาเจอจุดต่ำสุดที่ 19.10 บาทต่อหุ้น ถือว่าร่วงลงกว่า 24.3% แต่ภายในสัปดาห์เดียวกันก็กลับมาทะลุ 20 บาทต่อหุ้นได้
THG ใต้ร่ม 'รพ.รามคำแหง-ตระกูลวนาสิน' จะเดินหน้าต่ออย่างไร
ที่ผ่านมา THG เจ้าของเครือโรงพยาบาลธนบุรี มีผู้ก่อตั้งคือ นายแพทย์บุญ วนาสิน (หมอบุญ) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการ และประธานกรรมการของ THG ก่อนจะลาออกช่วงเดือน ส.ค. 2665 โดยมีการแต่งตั้ง นางจารุวรรณ วนาสิน (ภรรยาของหมอบุญ) ขึ้นเป็นกรรมการทดแทน และประธานกรรมการ (มีผล 27 ส.ค. 2565)
แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์การตรวจพบรายการที่น่าสงสัยในปี 2567 นี้ กลับพบว่า (25 ก.ย. 67) THG ได้พิจารณาและมีมติอนุมัติแต่งตั้ง นายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ (ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท กิตติมศักดิ์ของโรงพยาบาลรามคำแหง) ขึ้นเป็นประธานกรรมการบริษัท THG แทน นางจารุวรรณ วนาสิน ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทอยู่
แน่นอนว่าฝั่งโรงพยาบาลรามคำแหง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ THG โดยอยู่อันดับที่ 1 ซึ่งถือหุ้นอยู่ 24.59% ส่วนกลุ่มครอบครัววนาสิน มีการถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมรวม 21.51% ใน THG (ถือผ่าน RTD)
ขณะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในคณะกรรมการฯ ของ THG ตัวองค์กรก็ประกาศเร่งมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น สอบสวนข้อเท็จจริง สั่งโยกย้ายบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทำรายการอันควรสงสัยนี้ ฯลฯ
ในส่วนการเงิน THG อยู่ระหว่างวิเคราะห์ผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน รวมถึงความเสี่ยงในด้านต่างๆ และมีการแจ้งเรื่องนี้กับผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ แล้วตั้งแต่ 13 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา ซึ่งหากมีผลกระทบจะแจ้งในงบการเงินรวมของไตรมาส 3 ที่กำลังจะจัดทำ และเปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบต่อไป
ตลท. ติดตามใกล้ชิด นักวิเคราะห์มอง Q3/67 THG อาจขาดทุน
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ โฆษกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงกรณี THG ว่า การตรวจสอบในเชิงลึกกรณีที่เกิดขึ้น ต้องเป็นบริษัทฯ เพราะบริษัทเป็นผู้เสียหายซึ่งมีหน้าที่ต้องไปแจ้งความดำเนินการ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัท
“ตลท. เป็นผู้รับข้อมูลเหมือนผู้ลงทุนทั่วไป ดังนั้นเมื่อข้อมูลที่ชี้แจงไม่ชัดเจน เราต้องติดตามเพื่อให้ชัดเจน สิ่งที่เราต้องทำคือ ให้บริษัทยืนยันออกมาว่าอะไรคือจริง อะไรคือเท็จ หากผู้มีอำนาจในการเปิดเผยสารสนเทศของบริษัทยืนยันมา ต้องเชื่อถือตามนั้น หากเขาเปิดเผยไม่ถูกต้องถือว่ามีความผิดต่อกฎหมายหลักทรัพย์” รองรักษ์ กล่าว
ทั้งนี้ หากมีความเสียหายเกิดขึ้น ตลท. คงเข้าไปดูในงบการเงินว่า ไตรมาส 3/67 (คาดว่า พ.ย. 67) มีการสะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือไม่ มีหมายเหตุกรณีเหล่านี้อย่างไร หากพบว่ามีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ และตลท. ต้องเข้าไปดูในรายละเอียด เช่น ผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตอย่างไร
ขณะที่ ‘มินทรา รัตยาภาส’ นักวิเคราะห์อาวุโส กลุ่มการแพทย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี เล่าถึงผลกระทบจากกรณี ‘รายการควรต้องสงสัย’ มองว่าเป็นปัจจัยลบที่เกิดจากปัญหาการควบคุมภายในบริษัท THG อาจมีผลต่อภาพลักษณ์และอันดับเครดิตขององค์กร ส่วนผลกระทบในเชิงมูลค่าจากความเสียหายที่เกิดขึ้น อาจเป็นการตั้งสำรองหนี้ในไตรมาส 3 ปี 2567 คือเงินต้นและดอกเบี้ยราว 110 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม THG อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจ 2 ส่วนที่ยังขาดทุนอยู่ คือ โรงพยาบาลบำรุงเมืองและ Jin wellbeing (ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ) ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุน และเป็นต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งจะเป็นตัวฉุดภาพรวมรายได้ให้เติบโตช้า ในไตรมาส 3/67 มีโอกาสขาดทุน ทั้งนี้ บล.กรุงศรีปรับคาดการณ์กำไรสุทธิของ THG ปี 2567 ลดลง 69% มาอยู่ที่ 122 ล้านบาท
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : รพ. บำรุงราษฎร์ รีแบรนด์ ‘ศูนย์สุขภาพฯ VitalLife’ ในรอบ 24 ปี รุกขยายกลุ่มต่างชาติ คาดรายได้ปี 67 โตเกิน 10%
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine