กสิกรฯ ชี้ฤดูทุเรียนไทยปี 67 ผลผลิตอาจลดลง 18% แม้ราคาพุ่ง 22% แต่รายได้คนปลูกเพิ่มแค่ 0.3% - Forbes Thailand

กสิกรฯ ชี้ฤดูทุเรียนไทยปี 67 ผลผลิตอาจลดลง 18% แม้ราคาพุ่ง 22% แต่รายได้คนปลูกเพิ่มแค่ 0.3%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดฤดูทุเรียนไทยปี 67 นี้ ผลผลิตรวมอาจลดลง 18%YoY สาเหตุเพราะความร้อนแล้งจากเอลนีโญ ซึ่งนับเป็นผลผลิตทุเรียนที่ลดลงมากที่สุดในรอบ 15 ปี แต่รายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในฤดูปี 2567 อาจเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% แม้ราคาจะพุ่งสูงถึง 22%YoY


    ฤดูทุเรียนของไทยมักจะอยู่ในช่วงเดือน เม.ย.-ส.ค. ในช่วงเวลานี้จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดในสัดส่วนสูงกว่า 86% ของผลผลิตทุเรียนทั้งปี และหากเจาะลึกว่าทุเรียนมาจากไหนพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้รวมกว่า 95% ของผลผลิตทุเรียนทั้งประเทศ

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ฤดูทุเรียนอยู่ใน เม.ย.-ส.ค. 2567 นี้คาดว่ามีผลผลิตรวมลดลง 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) สาเหตุเพราะต้นทุเรียนทั้งภาคตะวันออก และภาคใต้ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่น้อยลง

    ทั้งนี้ ภาคตะวันออก ที่มักจะมีผลผลิตทุเรียนออกมาในเดือน เม.ย แต่ในช่วงราว 4 เดือนแรกของปีนี้ต้องเผชิญเอลนีโญซึ่งก่อให้เกิดความร้อนแล้ง จึงทำให้ทุเรียนติดดอกออกผลน้อยลง และผลทุเรียนมีน้ำหนักเบา แม้เดือน พ.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปริมาณฝนมากขึ้น แต่ภาพรวมทั้งปีคาดว่าจะภาคตะวันออกจะมีผลผลิตทุเรียน 0.65 ล้านตัน ลดลง 14%YoY

    ขณะที่ ภาคใต้ ที่ทุเรียนจะออกสู่ตลาดตั้งแต่ มิ.ย. ยังมีแนวโน้มว่าผลผลิตจะเสียหายมากขึ้นอีก จากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากต้องเผชิญปริมาณฝนที่ลดลงจากปีก่อนตลอดช่วงการเจริญเติบโตของทุเรียนตั้งแต่ระยะติดดอกออกผล และยังถูกซ้ำเติมด้วยฝนทิ้งช่วงใน ก.ค.ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเป็นระยะเก็บเกี่ยว ทำให้โดยรวมแล้วทั้งฤดูทุเรียนภาคใต้ปี 2567 อาจมีผลผลิตลดลงแรงถึง 25%YoY หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดราว 0.31 ล้านตัน

    ดังนั้น ในภาพรวมผลผลิตทุเรียนรวมในฤดูปี 2567 (ทั้ง 2 ภาค) อาจลดลง 18%YoY หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดรวมราว 0.96 ล้านตัน นับเป็นผลผลิตทุเรียนที่ลดลงมากที่สุดในรอบ 15 ปี


    อย่างไรก็ตาม ขณะที่ราคาเฉลี่ยทุเรียนปีนี้อาจปรับสูงขึ้น 22%YoY แภาพรวมรายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในฤดูปี 2567 อาจเพิ่มขึ้นได้เพียง 0.3% จากผลผลิตรวมที่ลดลง 18%YoY

    - รายได้เกษตรกรภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น 4%YoY

    - รายได้เกษตรกรภาคใต้ลดลง 8%YoY

    ทั้งนี้ เป็นรายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่ยังไม่หักต้นทุนการผลิต โดยมีต้นทุนการผลิตที่สำคัญในการจัดหาน้ำช่วงเอลนีโญ เช่น ต้นทุนการซื้อน้ำมารดต้นทุเรียน เครื่องปั๊มน้ำ/เครื่องสูบน้ำ/สปริงเกอร์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ซึ่งหากนับรวมต้นทุนการผลิตด้วย ก็จะทำให้รายได้เกษตรกรสุทธิของผู้ปลูกทุเรียนเผชิญแรงกดดันมากยิ่งขึ้น



Photo by Hasbi Kurnia, Alexey Demidov on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กรณีศึกษา UOB แก้ปัญหาผลกระทบการโอนย้ายจากซิตี้แบงก์ เพิ่ม Call Center - เคลียร์ค่าปรับ เพียงพอ?

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine