สำรวจ 'จักรวาลสินทรัพย์ดิจิทัล' ฉบับอัปเดตและถูกต้องตามกฎหมายไทย - Forbes Thailand

สำรวจ 'จักรวาลสินทรัพย์ดิจิทัล' ฉบับอัปเดตและถูกต้องตามกฎหมายไทย

ในยุคปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้เป็นเพียงแค่ “ของใหม่” หรือ “กระแส” แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก จะเห็นได้จากการถูกนำไปใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และหลายประเทศมีการออกกฎหมายรองรับและกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) อีกทั้งยังนำไปใช้ในชีวิตจริง เช่น โทเคนดิจิทัลที่ถูกนำมาใช้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการระดมทุนหรือการให้สิทธิเข้าถึงบริการต่าง ๆ เป็นต้น


     ในฝั่งของการพัฒนานวัตกรรม การเติบโตของแนวคิดเรื่องอินเทอร์เน็ตแบบกระจายศูนย์ (Web3) และการเงินไร้ตัวกลาง (DeFi) ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เปิดกว้างและเชื่อว่าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในประเด็นด้านความโปร่งใสได้ ดังนั้น การเข้าใจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างถูกต้องจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการลงทุน แต่เป็นทักษะสำคัญของคนยุคนี้ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์และเติบโตไปกับโลกเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างแท้จริง 

    ในบทความนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะพาผู้อ่านมาเจาะลึกจักรวาลสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน


สินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายไทย

    หากกล่าวถึงสินทรัพย์ดิจิทัลตามบริบทของประเทศไทย พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กิจการที่มีศักยภาพมีเครื่องมือในการระดมทุนที่หลากหลาย และเพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจและกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอประกอบการตัดสินใจ เกิดความโปร่งใส และป้องกันมิให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจนไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งรองรับการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

    “สินทรัพย์ดิจิทัล” (Digital Asset) ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ จะแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ซึ่งมีลักษณะและการกำกับดูแลที่แตกต่างกัน ได้แก่

    (1) คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และหมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดเพิ่มเติม

    (2) โทเคนดิจิทัล (Digital Token) หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ เรียกว่า “Investment Token” หรือกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ ที่เรียกว่า “Utility Token”

    Utility Token* แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 Utility Token ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภคและใช้แทนใบรับรอง หรือแทนเอกสารสิทธิใด ๆ และกลุ่มที่ 2 Utility Token ที่มีลักษณะอื่น นอกเหนือจากกลุ่มที่ 1 เช่น Native Token, Governance Token, โทเคนดิจิทัลของโครงการ DeFi/CeFi และ Exchange Token เป็นต้น

    ในส่วนของ Utility Token ทั้ง 2 กลุ่ม จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

    - Utility Token พร้อมใช้ : เป็นโทเคนที่พร้อมจะให้ผู้ถือสามารถใช้สิทธิแลกสินค้าหรือใช้บริการได้

    - Utility Token ไม่พร้อมใช้ : เป็นโทเคนที่ยังไม่พร้อมให้ใช้สิทธิแลกหรือใช้ประโยชน์สินค้าหรือบริการนั้น ต้องรอใช้สิทธิในอนาคต เพราะจะต้องนำเงินที่ได้จากการขาย Utility Token ไปสร้างหรือจะต้องพัฒนาสินค้าหรือบริการ ให้เสร็จก่อน    

     ในแง่ของการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ได้กำหนดให้ ก.ล.ต. กำกับดูแลการออกเสนอขาย “Investment Token” “Utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 ที่ต้องการ list ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล”และ “Utility Token ไม่พร้อมใช้” เนื่องจากมีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนเช่นเดียวกับหลักทรัพย์ ยกตัวอย่างโทเคนดิจิทัลในกลุ่มนี้ เช่น Project-based ICO และ Real estate-backed ICO



    ขณะที่การออกเสนอขายคริปโทเคอร์เรนซีที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยไม่ได้มีโครงการหรือกิจการใด ๆ รองรับ ก.ล.ต. ไม่ได้กำกับดูแลการออกเสนอขายคริปโทเคอร์เรนซีในลักษณะดังกล่าว แต่จะกำกับดูแลการทำหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล 

    ทั้งนี้ เนื่องจากคริปโทเคอร์เรนซีซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและความผันผวนของมูลค่าสูง ก.ล.ต. จึงกำกับดูแลโดยให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องทำความรู้จักลูกค้าผ่านกระบวนการทำ Know Your Customer/Customer Due Diligence ประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงจัดอบรมความรู้เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีหรือการทดสอบความรู้ให้ลูกค้า

    อีกประเด็นที่มีความเกี่ยวเนื่องกันและหลายคนสงสัยคือ การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ (MOP) ต้องขอบอกว่า ในปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้มีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการเป็นการทั่วไปในลักษณะเดียวกับเงินบาท และ ก.ล.ต. ไม่มีนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็น MOP นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังมีกฎเกณฑ์ที่ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็น MOP ด้วย


ไขข้อสงสัย G-Token กับการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล

    เล่ามาถึงตรงนี้ ขอขยับเข้ามาถึงข่าวใหญ่ในระยะที่ผ่านมา ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token) หรือ G-Token และอนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ซึ่งกระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เป็นผู้ออกและกำหนดลักษณะของ G-Token โดยจะมีการระบุสิทธิของผู้ถือ G-Token ในการได้รับเงินต้นและผลตอบแทนตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด และเป็นกู้เงินโดยวิธีการอื่นใดตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 

    ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำกับดูแล ก.ล.ต. จึงกำหนดให้ G-Token เป็นโทเคนดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเงื่อนไขในการกำหนดสิทธิที่เกี่ยวข้อง และส่วนของการออกเสนอขาย G-Token จะเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยประชาชนและผู้ลงทุนสามารถจะจองซื้อ G-Token ในตลาดแรก และกระทรวงการคลังจะเป็นผู้จัดสรรตามเงื่อนไขที่กำหนด อีกทั้งยังสามารถซื้อขาย G-Token ในตลาดรองผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ได้

    ทั้งนี้ ในส่วนของการออกหลักเกณฑ์รองรับที่เกี่ยวข้อง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ G-Token เรียบร้อยแล้ว ทั้งเรื่องการเสนอขายในตลาดแรกและการให้บริการ G-Token ที่เกี่ยวข้องในตลาดรอง เช่น การกำหนดลักษณะของ G-Token การยกเว้นการขออนุญาตเสนอขาย G-Token และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ G-Token สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เป็นต้น หลังจากนี้จะมีการออกประกาศที่เกี่ยวข้องและหากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมก็จะขอนำมาเล่าอัปเดตกันในโอกาสต่อไป

    ก.ล.ต. มุ่งเน้นการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลและกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจให้มีความเหมาะสมตามลักษณะและความเสี่ยง (same activity, same risk, same regulatory outcome) เพื่อให้สอดคล้องกับพลวัตของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการระดมทุนและการลงทุน ตลอดจนส่งเสริมระบบนิเวศของผลิตภัณฑ์และการให้บริการให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยมีการกำกับดูแลอย่างเท่าเทียมและมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเพียงพอเหมาะสม



เรื่องก.ล.ต., ออกแบบภาพปกโดย ธัญวดี นิรุติ



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : บัญชีม้าในโลกคริปโต : ความเสี่ยงทางกฎหมายที่คุณอาจไม่รู้ตัว

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine