ในยุคที่ใคร ๆ ก็อยากลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล การเปิดบัญชีคริปโตดูจะเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก และบางครั้งก็เป็นแค่ “การช่วยเพื่อน” เปิดบัญชีอีกหนึ่งบัญชีเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่า การให้ผู้อื่นใช้บัญชีเทรดคริปโตในชื่อของคุณ โดยที่ไม่ได้ใช้งานเอง อาจทำให้คุณกลายเป็น "บัญชีม้า" โดยไม่รู้ตัว และเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย
บทความนี้จะพามาทำความเข้าใจว่า “บัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล” คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงควรระวังเป็นพิเศษ และการเดินหน้าสกัดกั้นช่องทางบัญชีม้าเหล่านี้ของภาครัฐ
ในอดีตคนไทยเราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า “หน้าม้า” หรือคนที่ซื้อสินค้าแล้วใช้กลวิธีทำให้คนอื่นๆ หลงเชื่อว่าสินค้านั้นดีหรือจูงใจคนอื่นให้ซื้อสินค้าตาม ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ “บัญชีม้า” เป็นชื่อที่หลายคนคงได้ยินบ่อยมากขึ้น ทั้งจากข่าวการเปิดโปงขบวนการบัญชีม้าและการจับกุมผู้กระทำผิดที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แท้จริงแล้วบัญชีม้าเป็นบัญชีที่ใช้ชื่อบุคคลอื่นในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย
แต่โดยหลักแล้ว “บัญชีม้า” เกิดขึ้นเพื่อมุ่งจะปกปิดตัวตนที่แท้จริงของผู้ใช้เงินหรือผู้กระทำผิด โดยเฉพาะในกิจกรรมผิดกฎหมาย เช่น แชร์ลูกโซ่ การฟอกเงิน อาชญากรรมออนไลน์ การพนัน และยาเสพติด เพื่อหลบเลี่ยงการถูกตรวจสอบจากภาครัฐหรือจากธนาคารพาณิชย์
จากปัญหาที่เกิดขึ้นหน่วยงานภาครัฐของไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะได้มีการออกมาตรการเพื่อป้องกันและเร่งสกัดกั้นการใช้บัญชีม้าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการรับจ้างเปิดบัญชีม้า เดินหน้าป้องกันและปราบปรามการใช้บัญชีม้าต่อเนื่อง รวมถึงเร่งออกมาตรการและกฎเกณฑ์ให้ฝั่งภาคเอกชนอย่างธนาคารและสถาบันการเงินปรับปรุงกระบวนการต่างๆ รวมถึงตรวจสอบประวัติผู้เปิดบัญชีให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันการเปิดบัญชีโดยใช้ข้อมูลปลอมหรือข้อมูลของผู้อื่น
ขณะเดียวกันเมื่อการปรามปรามเข้มข้นยิ่งขึ้นก็ทำให้แก๊งมิจฉาชีพหรือขบวนการบัญชีม้าเหล่านี้ปรับเปลี่ยนวิธีการหรือหาช่องทางใหม่ๆ ในการโยกย้ายเงินที่ได้จากการกระทำความผิด ซึ่งในฝั่งของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเป็นจำนวนมากก็ตกเป็นหนึ่งในเป้าหมายของมิจฉาชีพที่หันมาใช้ช่องทางนี้มากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมิจฉาชีพอาศัยหลากหลายกลวิธี ทั้งการให้บุคคลอื่นเปิดบัญชีผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) โดยอาจเป็นการว่าจ้างหรือลวงให้บุคคลเปิดบัญชีบนแพลตฟอร์มหรือ Exchange และส่งต่อบัญชีให้ผู้อื่นใช้ การรับโอนสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วกระจายต่อ ซึ่งมิจฉาชีพอาจใช้บัญชีม้ารับโอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกขโมยมา แล้วกระจายไปยังกระเป๋าเงินอื่นๆ เพื่อให้ยากในการติดตาม การแลกเปลี่ยนเงินที่ได้จากการกระทำความผิดมาเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านการทำธุรกรรมแบบ Peer-to-Peer (P2P) ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรงผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการอื่นๆ ที่มิจฉาชีพนำมาใช้ก่ออาชญากรรมบนบล็อกเชน (crypto-related illicit activity) เช่น เทคนิค mixing / tumbling / chain hopping ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มิจฉาชีพหรือผู้ต้องการปกปิดตัวตนใช้เพื่อล้างร่องรอยธุรกรรมบนบล็อกเชน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความสามารถในการติดตามที่อยู่หรือแหล่งที่มาของสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านั้น
เดินหน้าสกัดบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล
เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568 พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) และพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 (พ.ร.ก. อาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ) ที่แก้ไขปรับปรุงได้มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งได้เพิ่มความชัดเจนของกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยกระดับมาตรการป้องกันการใช้แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศเป็นช่องทางฟอกเงิน เพื่อยกระดับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและบัญชีม้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สำหรับมาตรการจัดการบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล ประการแรก กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล การคัดกรอง และระงับธุรกรรมหรือบัญชีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในลักษณะเดียวกับธนาคารพาณิชย์ รวมถึงอยู่ภายใต้กลไกการคืนเงินแก่ผู้เสียหายซึ่งจะทำให้ผู้เสียหายได้รับเงินคืนรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet) ที่เกี่ยวข้องอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (blacklist) และห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทำธุรกรรมกับบุคคลที่มีรายชื่อหรือกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว
ประการที่สอง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และโทรคมนาคม ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มีความรับผิดชอบร่วมในความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหากมิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด
และประการที่สาม การกำหนดความผิดสำหรับเจ้าของบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้รับจ้างเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และเปิดบัญชีกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลก็จะได้รับโทษในระดับเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่เป็นมาตรการป้องกันการใช้แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศเป็นช่องทางฟอกเงิน โดยกำหนดมาตรการยับยั้งและป้องกันไม่ให้แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบ Peer-to-peer (P2P) ในต่างประเทศ ซึ่งเข้าข่ายเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่นๆ ในต่างประเทศ เข้ามาชักชวนการให้บริการ (solicit) กับผู้ลงทุนในประเทศ รวมถึงกำหนดให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) สามารถดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเทศที่มีพฤติกรรมการชักชวนหรือโฆษณาการให้บริการ (solicit) กับผู้ลงทุนในประเทศไทย ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
รู้เท่าทัน - ป้องกันการตกเป็นบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล
สำหรับทริกง่ายๆ ที่จะช่วยปกป้องตัวเองจากกับดักบัญชีม้าได้อย่างมีสติ แบบง่ายๆ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมดิจิทัลโดยไม่รู้ตัว เพราะบางคนอาจจะมองแค่เป็นการช่วยเพื่อนเปิดบัญชี หรือรับจ้างเปิดบัญชีแลกค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย โดยไม่คิดมาก แต่รู้หรือไม่ว่า พฤติกรรมเล็กๆ เหล่านี้ อาจทำให้คุณกลายเป็น “บัญชีม้า” บนโลกคริปโต ที่อาจนำไปสู่ปัญหาทางกฎหมายได้
1. อย่าให้ใครใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือบัญชีเทรดคริปโตแทนตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรู้จัก หรือคนในโลกออนไลน์ที่ดูน่าไว้ใจ การให้คนอื่นยืมชื่อเปิดบัญชี หรือ “โอนเหรียญให้หน่อย เดี๋ยวแบ่งให้” คือสัญญาณเตือนภัย
2. ตรวจสอบบัญชีของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ถ้ามีธุรกรรมที่คุณไม่ได้ทำ หรือมียอดเข้าออกผิดปกติ แนะนำให้รีบติดต่อผู้ให้บริการทันที และควรตั้งรหัสผ่านที่ซับซ้อนหรือใช้ 2FA ที่เป็นการยืนยันตัวตน 2 ชั้น (Two-Factor Authentication) เพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยของบัญชีและป้องกันบัญชีถูกใช้โดยผู้อื่น
3. รู้กฎหมาย รู้สิทธิ รู้โทษ การตกเป็นบัญชีม้าอาจทำให้เข้าข่ายการร่วมฟอกเงินหรือสนับสนุนอาชญากรรมดิจิทัล แม้จะอ้างว่า “ไม่รู้” ก็ไม่ถือเป็นข้อแก้ตัวได้
4. คิดก่อนช่วยใครเปิดบัญชี ยุคนี้ “ช่วยเพื่อน” อาจเปลี่ยนชีวิตได้ ถ้าเพื่อนเอาบัญชีของคุณไปใช้ในทางที่ผิด
5. เลือกใช้แพลตฟอร์มที่ได้รับอนุญาต เพื่อลดความเสี่ยง โดยใช้ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
ในโลกที่ทุกอย่างดูง่ายและเร็ว ความรู้เท่าทันคือเกราะป้องกันที่สำคัญที่สุด อย่าปล่อยให้ความหวังดีหรือความไม่รู้ ทำให้คุณตกเป็นเหยื่อของขบวนการที่ใช้บัญชีม้าเป็นเครื่องมือ อยากให้ฉุกคิดสักนิดว่า “บัญชีที่เปิดในชื่อคุณ = ความรับผิดชอบของคุณ” ก่อนจะกดสมัครหรือก่อนจะให้ใครใช้บัญชี ต้องสงสัยไว้ก่อนว่า เขานำไปใช้ทำอะไร? และถ้าหากเห็นเพื่อนหรือคนใกล้ตัวเริ่มมีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยง การแชร์บทความนี้ไปให้อาจเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ช่วยป้องกันการตกหลุมพรางหรือกับดักบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัลได้
เรื่อง: สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), ออกแบบภาพปกโดย ธัญวดี นิรุติศาสตร์, firefly.adobe
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พลิกโฉมสู่ตลาดทุนดิจิทัล
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine