งานวิจัย Global Investor Study 2022 ของ Schroders เผยให้เห็นทิศทางของนักลงทุนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้นๆ รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ รอกฎ ระเบียบพร้อมรองรับการลงทุนในอนาคต
งานวิจัย Global Investor Study 2022 โดย Schroders ล่าสุด ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนเกือบ 24,000 คนจาก 33 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก รวมทั้งประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย พบว่า ปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศเป็นหัวข้อการลงทุนสำคัญที่สุดที่นักลงทุนในไทยต้องการมีส่วนร่วม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31 สอดคล้องกับความคิดเห็นของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ร้อยละ 31) ขณะที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญกับหัวข้อนี้ ร้อยละ 32 ขณะที่ประเด็นเรื่องทุนทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ มีสัดส่วนร้อยละ 23 เท่ากันทั้งในไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก ถือเป็นหัวข้อการลงทุนสำคัญอันดับที่สองสำหรับนักลงทุนในไทย สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ผลสำรวจ พบว่าร้อยละ 57 ของนักลงทุนระดับ 'ผู้เชี่ยวชาญ' ในไทย (เทียบกับร้อยละ 58 ของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และร้อยละ 55 ของนักลงทุนทั่วโลก) ระบุว่า ค่านิยมส่วนบุคคลมีความ 'สำคัญมาก' สำหรับพวกเขา ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่ากลุ่มนักลงทุนในไทยที่จัดตัวเองว่ามีความรู้ด้านการลงทุนระดับกลาง (อยู่ที่ร้อยละ 30 เทียบกับร้อยละ 21 ของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และร้อยละ 16 ของนักลงทุนทั่วโลก) และกลุ่มนักลงทุนในไทยที่ 'มีความรู้การลงทุนขั้นพื้นฐาน' (อยู่ที่ร้อยละ 8 เทียบกับร้อยละ 15 ของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และร้อยละ 10 ของนักลงทุนทั่วโลก) ซึ่งนักลงทุนไทยสะท้อนความรู้สึกอย่างชัดเจนว่า ในฐานะผู้ถือหุ้น พวกเขาควรมีอำนาจในการโน้มน้าวบริษัทที่พวกเขาเข้าไปลงทุนได้![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2022/09/Schroders_03.jpg)
Stuart Podmore ผู้อำนวยการฝ่ายข้อเสนอการลงทุนของ Schroders ให้ความเห็นว่า ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนในทุกระดับความรู้และประสบการณ์การลงทุนต่างต้องการแสดงมุมมองความคิดเห็นของตนเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะหากบริษัทที่พวกเขาลงทุนไม่สามารถบอกเหตุผลที่ชัดเจนในการตัดสินใจดำเนินการต่างๆ ในบริษัทได้ดีพอ
“สถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้น นั่นคือการที่บริษัทและรัฐบาลต่างๆ ล้วนอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างใกล้ชิดมากกว่าที่เคยในการดำเนินนโยบายและมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลอย่างยั่งยืน ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลสำรวจในปีนี้คือความเสี่ยงด้านสังคมและธรรมาภิบาลที่เริ่มทวีความสำคัญมากขึ้นในฐานะหนึ่งในหัวข้อการลงทุนหลักสำหรับนักลงทุน” Stuart กล่าวนักลงทุนมองหาโอกาสนอกตลาด
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า ปัจจุบันนักลงทุนไทยรู้สึกมั่นใจในการเข้าถึงการลงทุนที่อาจเคยถูกมองว่าไกลเกินเอื้อมมากขึ้นกว่าเดิม โดยกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด (Private Assets) ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของนักลงทุนที่ตอบแบบสำรวจรู้สึกว่าตนมีสิทธิ์เข้าถึงการลงทุนทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล (ร้อยละ 55 เมื่อเทียบกับร้อยละ 51 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และร้อยละ 47 ทั่วโลก) และหุ้นนอกตลาด (Private Equity) (ร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับร้อยละ 49 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และร้อยละ 47 ทั่วโลก) ในขณะเดียวกันร้อยละ 52 ของนักลงทุนในไทย (เมื่อเทียบกับร้อยละ 50 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และร้อยละ 45 ทั่วโลก) มีความมั่นใจในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2022/09/Schroders_04.jpg)
![](https://forbesthailand.com/wp-content/uploads/2022/09/Schroders_04.jpg)
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine