Schroders เผยนักลงทุนจับตาปัญหาภูมิอากาศและสินทรัพย์ดิจิทัล - Forbes Thailand

Schroders เผยนักลงทุนจับตาปัญหาภูมิอากาศและสินทรัพย์ดิจิทัล

งานวิจัย Global Investor Study 2022 ของ Schroders เผยให้เห็นทิศทางของนักลงทุนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้นๆ รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ รอกฎ ระเบียบพร้อมรองรับการลงทุนในอนาคต

งานวิจัย Global Investor Study 2022 โดย Schroders ล่าสุด ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนเกือบ 24,000 คนจาก 33 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก รวมทั้งประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย พบว่า ปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศเป็นหัวข้อการลงทุนสำคัญที่สุดที่นักลงทุนในไทยต้องการมีส่วนร่วม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31  สอดคล้องกับความคิดเห็นของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ร้อยละ 31) ขณะที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญกับหัวข้อนี้ ร้อยละ 32 ขณะที่ประเด็นเรื่องทุนทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ มีสัดส่วนร้อยละ 23 เท่ากันทั้งในไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก ถือเป็นหัวข้อการลงทุนสำคัญอันดับที่สองสำหรับนักลงทุนในไทย สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ผลสำรวจ พบว่าร้อยละ 57 ของนักลงทุนระดับ 'ผู้เชี่ยวชาญ' ในไทย (เทียบกับร้อยละ 58 ของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และร้อยละ 55 ของนักลงทุนทั่วโลก) ระบุว่า ค่านิยมส่วนบุคคลมีความ 'สำคัญมาก' สำหรับพวกเขา ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่ากลุ่มนักลงทุนในไทยที่จัดตัวเองว่ามีความรู้ด้านการลงทุนระดับกลาง (อยู่ที่ร้อยละ 30 เทียบกับร้อยละ 21 ของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และร้อยละ 16 ของนักลงทุนทั่วโลก) และกลุ่มนักลงทุนในไทยที่ 'มีความรู้การลงทุนขั้นพื้นฐาน' (อยู่ที่ร้อยละ 8 เทียบกับร้อยละ 15 ของนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และร้อยละ 10 ของนักลงทุนทั่วโลก) ซึ่งนักลงทุนไทยสะท้อนความรู้สึกอย่างชัดเจนว่า ในฐานะผู้ถือหุ้น พวกเขาควรมีอำนาจในการโน้มน้าวบริษัทที่พวกเขาเข้าไปลงทุนได้

Stuart Podmore ผู้อำนวยการฝ่ายข้อเสนอการลงทุนของ Schroders ให้ความเห็นว่า ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนในทุกระดับความรู้และประสบการณ์การลงทุนต่างต้องการแสดงมุมมองความคิดเห็นของตนเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะหากบริษัทที่พวกเขาลงทุนไม่สามารถบอกเหตุผลที่ชัดเจนในการตัดสินใจดำเนินการต่างๆ ในบริษัทได้ดีพอ

“สถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้น นั่นคือการที่บริษัทและรัฐบาลต่างๆ ล้วนอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างใกล้ชิดมากกว่าที่เคยในการดำเนินนโยบายและมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลอย่างยั่งยืน ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลสำรวจในปีนี้คือความเสี่ยงด้านสังคมและธรรมาภิบาลที่เริ่มทวีความสำคัญมากขึ้นในฐานะหนึ่งในหัวข้อการลงทุนหลักสำหรับนักลงทุน” Stuart กล่าว

นักลงทุนมองหาโอกาสนอกตลาด

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า ปัจจุบันนักลงทุนไทยรู้สึกมั่นใจในการเข้าถึงการลงทุนที่อาจเคยถูกมองว่าไกลเกินเอื้อมมากขึ้นกว่าเดิม โดยกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด (Private Assets) ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของนักลงทุนที่ตอบแบบสำรวจรู้สึกว่าตนมีสิทธิ์เข้าถึงการลงทุนทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล (ร้อยละ 55 เมื่อเทียบกับร้อยละ 51 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และร้อยละ 47 ทั่วโลก) และหุ้นนอกตลาด (Private Equity) (ร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับร้อยละ 49 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และร้อยละ 47 ทั่วโลก) ในขณะเดียวกันร้อยละ 52 ของนักลงทุนในไทย (เมื่อเทียบกับร้อยละ 50 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และร้อยละ 45 ทั่วโลก) มีความมั่นใจในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ Blake Shefford ผู้จัดการกองทุนสินทรัพย์ผสมของ Schroders กล่าวในเวที Schroders Thailand Investment Conference 2022 ว่า สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี จะยังคงพัฒนาเติบโตต่อไปในฐานะสินทรัพย์ที่มีนักลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ความผันผวนจะยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม คาดว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะตัดสินใจลงทุนจากความคุ้นเคยเป็นหลักและเริ่มลงทุนโดยตรงผ่านบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่าที่จะลงทุนตรงในโทเค็นและเหรียญคริปโต “ปัจจุบันในตลาด มีหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่และมีความหลากหลายที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการธนาคารคริปโตหรือการให้กู้ยืมในรูปแบบเงินคริปโต ไปจนถึงผู้ดูแลหรือที่ปรึกษาด้านสินทรัพย์นี้โดยเฉพาะ และบริษัทแบบดั้งเดิมทั้งหลายก็อยากจะมีส่วนร่วมในสินทรัพย์ประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย” Blake กล่าว นอกจากนี้ ยังมองเห็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการซื้อขายนอกตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคนี้กำลังกลายเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปลงสินทรัพย์นอกตลาดให้อยู่ในรูปแบบโทเค็น เช่น ทุนธรรมชาติ (natural capital) เห็นได้ชัดเจนเลยว่ายังมีพื้นที่สำหรับการเติบโตของระบบนิเวศด้านสินทรัพย์ต่างๆ อีกมากมายในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ อย่างไรก็ตาม การเติบโตดังกล่าวย่อมมาพร้อมกับกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุนบางรายที่มองหาแค่เพียงวัฏจักรตลาดการลงทุนที่เฟื่องฟู สำหรับนักลงทุนสถาบันมองว่ากฎระเบียบเป็นแนวทางที่จะช่วยยกระดับตลาดสินทรัพย์เหล่านี้และเสริมความมั่นใจในการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกันได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ ชลเดช เขมะรัตนา ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การออกกฎระเบียบควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นแนวทางในการสร้างความสมดุลและความมั่นคงให้กับสินทรัพย์ประเภทนี้ การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยจะช่วยให้มีระบบนิเวศที่ดีขึ้นสำหรับสินทรัพย์เหล่านี้ ซึ่งจะเปิดโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมการเงินได้มากขึ้นกว่าที่เคย “อุตสาหกรรมการเงินจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมีแผนกำหนดแนวทางนโยบายใหม่สำหรับภาคการธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบการออกใบอนุญาตของ virtual banking ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐและเอกชน” ชลเดชระบ อ่านเพิ่มเติม: ธนาคารดิจิทัล GXS เปิดตัวผลิตภัณฑ์ทางการเงินตัวแรก

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine