กรุงไทยคาดแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าฯ ฉบับใหม่ ดันเอกชนลงทุน ‘พลังงานหมุนเวียน’ 1.7 ล้านล้าน - Forbes Thailand

กรุงไทยคาดแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าฯ ฉบับใหม่ ดันเอกชนลงทุน ‘พลังงานหมุนเวียน’ 1.7 ล้านล้าน

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับใหม่ จะช่วยหนุนการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน คาดในปี 2567-2580 เอกชนมีการลงทุนกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ่ส่วนในปี 2580 คาดรายได้รวมของธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ พลังงานลม และชีวมวลจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.9 แสนล้านบาท


    ดร.สุปรีย์ ศรีสำราญ ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ฉบับใหม่ จะเน้นด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสนับสนุนการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและระบบบริหารจัดการไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ทางภาครัฐมีแนวโน้มเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนมากขึ้น

    ทั้งนี้ Krungthai COMPASS คาดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทั้ง 3 ประเภท (แสงอาทิตย์, พลังงานลม และชีวมวล) ในปี 2580 จะอยู่ที่ 48,666 เมกะวัตต์ ขยายตัว 14.5% ต่อปี โดยจำนวนนี้คิดเป็น 43% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ที่อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 27.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) คิดเป็น 57% ของเป้าหมาย Carbon Neutrality ซึ่งยังอยู่ในระดับที่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวภายในปี 2593

    ในด้านรายได้รวมของธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าชีวมวลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 1 แสนล้านบาทในปี 2566 เป็น 2.9 แสนล้านบาทในปี 2580 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.9% ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งมาจากการรับซื้อไฟฟ้าจากกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ของภาครัฐทั้งหมด 39,693 เมกะวัตต์ในช่วงปี 2567-2580 โดยแบ่งเป็น โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 30,412 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม 7,845 เมกะวัตต์ และ โรงไฟฟ้าชีวมวล 1,436 เมกะวัตต์

    นอกจากนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าชีวมวล ของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2567-2580 คาดว่าจะก่อให้เกิดเงินเม็ดลงทุนในการก่อสร้างทั่วประเทศกว่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น

    - โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ราว 1.1 ล้านล้านบาท
    - โรงไฟฟ้าพลังงานลม 4.6 แสนล้านบาท
    - โรงไฟฟ้าชีวมวล 1.3 แสนล้านบาท

    อย่างไรก็ตาม แต่ละพื้นที่ของไทยจะมีการดึงดูดการลงทุนโรงไฟฟ้าที่แตกต่างกันไป โดยภาคเหนือจะมีศักยภาพในการลงทุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์มากที่สุด เนื่องจากภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าแสงอาทิตย์จากโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในภาคเหนือมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 30.5% ของการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งประเทศ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมมากที่สุด โดยภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลมจากภาคตะวันออกเหนือเกือบทั้งหมด หรือ 92% ของการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลมทั้งหมด

    สำหรับการลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้น ทุกพื้นที่มีศักยภาพในการผลิต ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยควรเลือกใช้วัสดุเหลือใช้ในการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ตั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ควรเลือกใช้ใบและยอดอ้อย และฟางข้าวเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ตั้งในภาคใต้ควรเลือกใช้ผลพลอยจากปาล์มเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพราะเป็นวัสดุที่เหลือใช้ในภาคดังกล่าวจำนวนมาก



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : แสนสิริ ปักหมุดเพิ่มย่านทองหล่อ-เอกมัย เปิดตัว ‘เวีย 61’ ลักชัวรีคอนโด ราคาขายห้องละ 10-50 ล้าน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine