สภาพัฒน์เผยไตรมาส 2 ปี 67 การว่างงาน-เทรนด์หนี้เสียยังเพิ่ม จับตากู้เงินนอกระบบบน Social Media - Forbes Thailand

สภาพัฒน์เผยไตรมาส 2 ปี 67 การว่างงาน-เทรนด์หนี้เสียยังเพิ่ม จับตากู้เงินนอกระบบบน Social Media

สภาพัฒน์เผยไตรมาส 2 ปี 2567 อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังจากฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยขยับมาสู่ 1.07% ย้ำผู้ว่างงานระดับอุดมศึกษา 63% จบด้านสังคมศาสตร์ ส่วนเทรนด์หนี้เสียยังเพิ่มขึ้นมาที่ 2.99% เร่งแบงก์ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ - จับตาประเด็นการกู้เงินนอกระบบบน Social Media


    นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า ไตรมาส 2 ปี 2567 นี้ สถานการณ์แรงงานชะลอตัวลง สะท้อนจากการจ้างงานของไทยอยู่ที่ 39.5 ล้านคน ลดลง 0.4%YoY โดยภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงานอยู่ที่ 11 ล้านคนลดลง 5% แต่การจ้างงานนอกภาคเกษตรฯ อยู่ที่ 28.5 ล้านคน ยังเพิ่มขึ้นที่ 1.5% ในทุกสาขา โดยสภาพัฒน์มองว่า เกิดจากการที่แรงงานเคลื่อนย้ายจากภาคการเกษตรฯ เข้าสู่นอกภาคการเกษตรฯมากขึ้น เช่น ในสาขาการผลิต, ก่อสร้าง, ค้าส่ง/ค้าปลีก, โรงแรม/ภัตตาคาร, ขนส่ง/เก็บสินค้า

    ในด้านค่าจ้างภาคเอกชนอยู่ในระดับเดียวกันกับปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 14,032 บาทต่อคนต่อเดือนลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ปี 2566 ที่ 0.5% ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 15,329 บาทต่อคนต่อเดือนโดยเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานลดลง

    นอกจากนี้ยังเห็นอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังจากฟื้นตัวจากโควิด-19 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.07% โดยมีผู้ว่างงาน 430,000 คนเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ที่เคยทำงานมาก่อนทั้งนี้ผู้ว่างงานระยะยาวลดลงต่อเนื่องที่ 5.7% ส่วนอัตราการว่างงานในระบบประกันสังคมอยู่ที่ 1.92% ลดลงจาก 2.13% ในไตรมาส 2 ปี 2566

    อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะลึกในการว่างงานระดับอุดมศึกษาพบว่า การว่างงานค่อนข้างสูงเพราะเป็นช่วงการจบการศึกษาของแรงงานใหม่ โดยผู้ว่างงานระดับอุดมศึกษา 63% จบด้านสังคมศาสตร์ ธุรกิจ ขณะที่สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ที่คิดเป็นสัดส่วนราว 22% ของผู้จบใหม่ มองว่าเป็นกลุ่มที่ต้องมีการเร่งพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์เพิ่มขึ้นเพื่อให้ตอบสนองความต้องการตลาด

    ประเด็นด้านแรงงานที่ต้องติดตาม มองว่า มี 3 ส่วนได้แก่ 1) แรงงานต้องมีการพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต 2) ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และการขาดสภาพคล่องของ SME อาจส่งผลกระทบให้เกิดการเลิกจ้างมากขึ้น 3) สถานการณ์น้ำท่วมส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกร เช่น เหตุการณ์ช่วง 16 ก.ค. - 1 ส.ค. 67 ใน 15 จังหวัดส่งผลกระทบต่อเกษตรกร 47,944 ราย และพื้นที่กว่า 308,238 ในส่วนนี้ มองว่าต้องมีมาตรการเข้ามาช่วยเรื่องเงินทุนเพื่อให้คนกลับมาฟื้นตัวได้

    “(ผลกระทบสถานการณ์น้ำท่วม) ต้องดูเรื่องมาตรการที่เข้ามาช่วย Support เพราะรอบนี้เท่าที่ติดตามจากข่าว พี่น้องประชาชนไม่ได้คิดว่าน้ำจะมาเยอะขนาดนี้ เพราะฉะนั้นความเสียหายในแง่บุคคลอาจจะค่อนข้างเยอะ ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการอิสระ ที่เปิดร้านต่างๆ เอง ต้องมาดูเรื่องมาตรการด้านการเงินหรือเงินช่วยเหลือตามกฎหมายที่มีอยู่เพื่อช่วยเหลือในขั้นต้นไปก่อน ส่วนเรื่องเกษตรกร เป็นเงินในแง่สินเชื่อต้องมาดูอีกชั้นหนึ่งภายหลัง” ดนุชา กล่าว

    ขณะที่ในระยะถัดไป เชื่อว่าการว่างงานจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

    ด้านหนี้สินครัวเรือนไทย ล่าสุด ณ ไตรมาส 1/2567 ยังเพิ่มขึ้น 2.5% (รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย) มองว่า ตอนนี้เป็นปัญหาเรื่องรายได้ที่กระจายไม่ทั่วถึง จึงต้องมีมาตรการที่สร้างรายได้สร้างอาชีพต่างๆ อย่างยั่งยืน พร้อมกับการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ควรแก้ปัญหาที่ไม่สร้าง Moral Hazard ตามมา

    “ควรจะมาทำเรื่องมาตรการสร้างรายได้อาจเป็นการลงทุนของรัฐที่เข้าไปช่วยสร้างการจ้างงานรายบุคคล แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของธนาคารต่างๆและ Non Bank ที่ต้องเอาหนี้พวกนี้มาปรับโครงสร้างหนี้ (หนี้เสียต่อสินเชื่อรวม) ในส่วนของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.99% ยังเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นเครดิตบูโร”
หนี้เสียต่อสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.99% เพิ่มขึ้นจาก 2.88% ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน ในระยะต่อไป ต้องติดตาม 2 เรื่องหลัก คือ

    1) การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้บัตรเครดิตที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้คืน

    2) จับตารูปแบบการให้กู้ยืมนอกระบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะที่ผ่านช่องทาง Social Media อาจสร้างความเสี่ยงที่นำไปสู่พฤติกรรมการก่อหนี้เกินตัวได้ง่าย



Photo by Norbert Braun on Unsplashสภาพัฒน์ 



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สภาพัฒน์ชี้สังคมไทยเครียดสะสม ทุกช่วงอายุเจอปัญหา Mental Health ปี 66 ผู้ป่วยจิตเวชพุ่ง 2.9 ล้านคน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine