เมืองไทยประกันชีวิต เปิดพอร์ตลงทุนตึกออฟฟิศ ‘66 Tower’ งบ 3,600 ล้าน คาดปี 68 มีอัตราเช่า 80-90% - Forbes Thailand

เมืองไทยประกันชีวิต เปิดพอร์ตลงทุนตึกออฟฟิศ ‘66 Tower’ งบ 3,600 ล้าน คาดปี 68 มีอัตราเช่า 80-90%

เมืองไทยประกันชีวิต เปิดตัวตึก 66 Tower อาคารสำนักงานให้เช่า 28 ชั้น ย่านสุขุมวิท ในงบลงทุน 3,600 ล้านบาท เน้นกระจายความเสี่ยงในผู้เช่าที่หลากหลาย ตั้งเป้าปี 2568 มีอัตราเช่าฯ เพิ่มเป็น 80-90% ยังมองหาโอกาสลงทุนพื้นที่ใหม่ สนใจ Mixed-Use และ ตึกออฟฟิศ


    นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL กล่าวว่า ทางบริษัทเข้ามาลงทุนก่อสร้างอาคาร 66 Tower ใกล้ซอยสุขุมวิท 66 ซึ่งเป็นโครงการสำนักงานให้เช่า บนพื้นที่กว่า 4 ไร่ สูง 28 ชั้น มีพื้นที่ให้เช่าราว 30,000 ตารางเมตร โดยใช้งบลงทุน 3,600 ล้านบาท

    ทั้งนี้ ตึก 66 Tower เปิดให้บริการมาตั้งแต่ ต.ค. 2564 แม้เป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ขึ้น ทำให้ได้เรียนรู้แนวทางของตึกออฟฟิศ และความต้องการของผู้เช่าที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีอัตราการปล่อยเช่าอยู่ที่ 60% โดยคาดว่าปลายปี 2567 นี้ จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 70% และปี 2568 จะเพิ่มขึ้น 80-90% ซึ่งมองว่าเป็นระดับที่ควรจะเป็น


    แม้จะมีการแข่งขันอาคารสำนักงานให้เช่า แต่มองว่าการแข่งขันมีหลายมุมทั้งด้านราคาและ Facilities โดยกระจายความเสี่ยงในกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายไม่ได้เน้นลูกค้ารายใหญ่ แต่มีเป้าหมายเป็นผู้เช่าหลายกลุ่ม เช่น บริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็ก

    ขณะที่แผนในระยะ 1-3 ปีหลังจากนี้ ยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนอสังหาฯ ในพื้นที่อื่นๆ ที่เป็น CBD ในบริเวณกรุงเทพฯ ยังคงสนใจการพัฒนาอสังหาฯ ทั้งรูปแบบอาคารสำนักงานให้เช่า หรือ Mixed-Use ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแบบอาคารชุดและโครงการเพื่อการพาณิชยกรรมไว้ด้วยกัน แต่ด้วยกฎเกณฑ์จากทางหน่วยงานผู้กำกับจะไม่สามารถทำธุรกิจโรงแรมได้ และไม่ว่าจะลงทุนในรูปแบบใดต้องมีการยื่นแผนให้หน่วยงานผู้กำกับดูแลด้วย

    อย่างไรก็ตาม จากพอร์ตการลงทุนของ บมจ. เมืองไทยประกันชีวิตที่มีอยู่ราว 600,000 ล้านบาท โดยมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทางตรงอยู่ที่ 1% ได้แก่ อาคารเมืองไทยภัทรคอมเพล็กซ์ บนถนนรัชดา และ อาคาร 66 Tower ขณะที่การลงทุนทางอ้อมมีสัดส่วน 3-5% เช่น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) มากกว่า 15 กอง



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ย้อนอดีตมองอนาคต! 27 ปี หลังไทยถูกโจมตีค่าเงินจนต้อง ‘ลอยตัวค่าเงินบาท’ จุดเริ่มของวิกฤติต้มยำกุ้ง

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine