คลังพิจารณา ‘ลดเวลา’ เก็บประวัติหนี้เสียค้างในเครดิตบูโรนาน 8 ปี หวังคนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ - Forbes Thailand

คลังพิจารณา ‘ลดเวลา’ เก็บประวัติหนี้เสียค้างในเครดิตบูโรนาน 8 ปี หวังคนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ

กระทรวงการคลังเตรียมแก้กฏหมาย ‘ลดเวลา’ การเก็บประวัติหนี้เสียค้างในเครดิตบูโรที่ปัจจุบันยาวนาน 8 ปี 'พิชัย' มอง 8 ปีนานเกินไปควรปรับลดลงเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้


    โดยทั่วไปเมื่อลูกหนี้มีการสินเชื่อกับสถาบันการเงินจะมีการรายงานข้อมูล สถานะของลูกหนี้ รวมถึงสถานะการเป็นหนี้เสีย (NPL: การค้างชำระนาน 90 วันขึ้นไป) ทางสถาบันการเงินจะมีการรายงานข้อมูลไปยัง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) อยู่แล้ว ดังนั้นจะมีการรายงานสถานะ เช่น ปกติ ค้างชำระ ฯลฯ

    นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันระยะเวลาการมีประวัติเป็นหนี้เสียที่เก็บไว้ใน เครดิตบูโร คือ 8 ปี ถือว่ายาวนานเกินไป โดยจะมีการส่งข้อมูลการเป็นหนี้เสีย 5 ปี และเก็บบันทึกประวัติไว้อีก 3 ปี ดังนั้น คงต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าจะต้องแก้กฏหมาย หรือ มีการแก้ไข เพื่อลดระยะเวลาในแต่ละส่วนได้อย่างไร

    ทั้งนี้ มองว่าในทางกระบวนการอาจเร่งรัดให้ระยะเวลาสั้นลงได้ เช่น อาจเป็น 2 + 3 เป็นต้น ซึ่งการลดเวลาการเป็นหนี้เสียในระบบเครดิตบูโร อาจช่วยให้ประชาชนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้

    อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบนเว็บไซต์ของเครดิตบูโร เปิดเผยว่า ข้อมูลเครดิตของบุคคลธรรมดา กฎหมายกำหนดให้เก็บไว้ในระบบของเครดิตบูโรนาน 3 ปี (36 เดือน) นับแต่วันที่สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกส่งรายงานข้อมูลมายังบริษัท โดยที่จะมีข้อมูลใหม่ทยอยเข้าไปแทนที่ข้อมูลเก่าทุกเดือน ดังนั้นในกรณีที่ชำระหนี้เก่าเสร็จสิ้นแล้ว ข้อมูลประวัติที่เคยค้างชำระจะหายไปจากระบบในเวลา 3 ปี



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สภาพัฒน์ เปิดหนี้ครัวเรือนล่าสุดยังเพิ่มที่ 91.3% เผย 57.9% ของคนไทยมีความรู้ภาษีเงินได้ระดับต่ำ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine