ถ้าถามถึงความอยู่ดีกินดีของประชาชน ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนจากรายได้ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งไทยเผชิญทั้งการชะลอตัวและเติบโตช้าลงมากว่าสิบปี ในด้านเศรษฐกิจว่าแย่แล้ว แต่ภาวะสังคมอาจเผชิญความท้าทายยิ่งกว่า เพราะล่าสุดสภาพัฒน์ยังออกรายงานว่า ไทยเป็นสังคมคนโสดมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ง่ายๆ
สังคมคนโสด ส่งผลต่อประเทศแค่ไหน?
คนโสดเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อาจส่งผลต่อประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหา ‘เด็กเกิดน้อยลง’ ท่ามกลางประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ในอนาคตวัยทำงานที่เป็นผู้สร้างรายได้เข้าสู่ฐานภาษีของประเทศอาจน้อยลงไปด้วย นี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ภาครัฐจึงพยายามผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมให้คนมีคู่ มีลูกมากขึ้น
แต่เมื่อย้อนดูสถิติคนมีคู่ พบว่า สัดส่วนการแต่งงานลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 ขณะที่อัตราการหย่าร้างกลับเพิ่มขึ้นถึง 22% จากปี 2560 จึงถึงเวลาที่รัฐอาจต้องย้อนมามองแล้วว่า คนโสด ในไทยมีมากแค่ไหนและทำไมถึงโสด
ปัจจุบันสถานการณ์คนโสดในประเทศไทย พบว่า ในภาพรวมทั้งประเทศ หากมีคนเดินมา 5 คน 1 ในนั้นจะเป็นคนโสด หรือคิดเป็น 23.9% และหากเจาะลึกลงไปในช่วงวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15 - 49 ปี) จะพบว่ามีคนโสดถึง 40.5% นอกจากจะสูงกว่าภาพรวมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่ราว 35.7%
*ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ปี 2566
ทำไมคนวัยมีคู่ถึงยังโสด
มาถึงคำถามสำคัญที่ว่า ทำไมคนไทยยังโสดเยอะขนาดนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ยกตัวอย่างไว้ 4 ปัจจัย
1. ค่านิยมทางสังคมของการเป็นโสดยุคใหม่ มีหลากหลายรูปแบบ เช่น SINK หรือคนโสดที่มีรายได้และไม่มีลูก เน้นใช้จ่ายเพื่อตนเอง Waithood กลุ่มคนโสดที่เลือกจะรอคอยความรัก อาจเพราะความไม่พร้อม/ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่ส่วนหนึ่งมีรายได้จำกัด และส่วนใหญ่เป็นเพศชายถึง 62.6%
2. ความต้องการ/ความคาดหวังที่ไม่ตรงกัน ทั้งจากความคาดหวังทางสังคมและทัศนคติที่เปลี่ยนไป เช่น ในทวีปเอเชีย ผู้หญิงมักถูกคาดหวังว่าต้องทำงานบ้านควบคู่กับการหาเลี้ยงครอบครัว หรือ ผู้หญิงกว่า 76% จะไม่เดทกับผู้ชายที่มีรายได้น้อยกว่า ผู้ชายกว่า 60% จะไม่เดทกับผู้หญิงที่เคยหย่าร้าง (ข้อมูลจากโดยบริษัท มีทแอนด์ลันช์ สาขาประเทศไทย ปี 2564)
3. โอกาสในการพบปะผู้คน พบว่าในปี 2566 โดยคนโสดมีชั่วโมงการทำงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ อีกทั้ง กรุงเทพฯ ยังจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของเมืองที่แรงงานทำงานหนักที่สุดในโลก ทำให้คนโสดไม่มีโอกาสในการมองหาคู่
4. นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐยังไม่ต่อเนื่อง และไม่ครอบคลุมความต้องการของคนโสด นโยบายที่ผ่านมาจะเน้นไปที่กลุ่มคนโสดที่มีความพร้อม ขณะที่ในต่างประเทศจะส่งเสริมการมีคู่ผ่านการลดภาระค่าใช้จ่าย และการสร้างโอกาสในการมีคู่
เมื่ออ่านทั้ง 4 ปัจจัยนี้แล้ว อาจทำให้เราเห็นภาพว่า ทำไมคนไทยเป็นโสดมาขึ้นทุกที แล้วภาครัฐควรดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร
รัฐอยากให้คนมีคู่ - มีลูก ต้องเริ่มที่ตรงไหน?
มาเริ่มจากกรณีศึกษาในต่างประเทศ พบว่า หลายประเทศภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุนผ่านกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คนมีคู่ รวมถึง การลดค่าใช้จ่ายในหาคู่อีกด้วย เช่น
- ประเทศสิงคโปร์ ปี 2561 มีการทำโครงการลดคนโสด โดยรัฐจ่ายเงินให้คู่รักออกเดท หรือ ใช้ในบริการหาคู่อย่างน้อย 2,500 บาท
- ประเทศจีน ปี 2566 รัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลเจียงซีให้การสนับสนุนแอพพลิเคชั่นหาคู่โดยใช้ฐานข้อมูลของคนโสดที่อาศัยอยู่ในเมืองมาพัฒนาจัดทำแพลตฟอร์มบริการหาคู่ที่เรียกว่า Palm Guix
- ประเทศญี่ปุ่น 2567 จัดทำแอปพลิเคชั่นหาคู่สำหรับคนโสดที่อายุมากกว่า 18 ปี และอยู่ในโตเกียวโดยใช้ระบบ AI มาช่วยวิเคราะห์หาคนที่มีความชอบใกล้เคียงกัน โดยต้องยืนยันตัวตนเพื่อเพิ่มความปลอดภัย
ในส่วนของไทย พบว่าเคยมีกิจกรรมบางส่วนที่จัดผ่านกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่สภาพัฒน์มองว่า ภาครัฐควรต้องเร่งหาแนวทางสนับสนุนให้คนมีคู่ ใน 4 ด้าน ได้แก่
1) การสนับสนุนเครื่องมือการ Matching คนโสด เช่น รัฐอาจร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่างๆ
2) การส่งเสริมการมี Work-life Balance ทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อให้คนโสดมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้น และเพิ่มโอกาสได้พบเจอคนมากขึ้น
3) การยกระดับทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานและรายได้
4) การส่งเสริมกิจกรรมและการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกสาเหตุสำคัญที่มีการถกเถียงในวงกว้างคือ “รายได้ไม่เพียงพอที่จะสร้างชีวิตที่ดีกว่า แล้วคนไทยจะพร้อมมีลูกได้อย่างไร” ดังนั้น ปัจจัยด้านรายได้ ปากท้อง และเศรษฐกิจ รวมถึงสวัสดิการเพื่อคนมีลูกทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนจึงควรเป็นเรื่องที่รัฐต้องให้ความสำคัญมากขึ้น
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ส่องโอกาสธุรกิจตอบโจทย์ "คนโสด" เมื่อการอยู่คนเดียวไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine