มัดแมน บริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในแฟรนไชส์ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม Dunkin’ Donuts, Au Bon Pain, Baskin Robbins, Greyhound เตรียมเสนอขายหุ้น IPO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ภายใน 12 เดือนนี้ พร้อมวิสัยทัศน์สร้างแฟรนไชส์และแบรนด์ Greyhound Cafe ให้โด่งดังในตลาดต่างประเทศ
หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ “มัดแมน” แต่ถ้าเอ่ยชื่อแฟรนไชส์ใหญ่อย่าง Dunkin’ Donuts, Au Bon Pain, Baskin Robbins ที่บริษัทเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ในประเทศไทย รวมถึงสินค้าแฟชั่นอย่าง Greyhound แล้ว คงมีน้อยคนที่ไม่รู้จักเส้นทางการเติบโตของบริษัทเมื่อ 12 ปีก่อนเริ่มจากการนำเข้าแฟรนไชส์อาหารต่างประเทศ คือ Dunkin’ Donuts และ Au Bon Pain โดยมีบริษัท Royal Food Group เป็นเจ้าของเมื่ออาเซียนประสบวิกฤติเศรษฐกิจ บริษัทขาดแคลนแหล่งเงินทุนในการขยายสาขา จึงต้องหาผู้เข้าฟื้นฟูกิจการและได้ Navis Capital เป็น private equity จากมาเลเซียเข้ามาลงทุนถือหุ้นใหญ่ 90% การขยายกิจการในช่วงนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก Dunkin’ Donuts ขยายสาขาได้เฉลี่ยถึงปีละ 20 สาขา ในขณะที่ Au Bon Pain ขยายสาขาได้เฉลี่ยปีละ 6 สาขาซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย “Navis Capital ปลุกปั้นกิจการอยู่ 5 ปีก็ขายหุ้นให้ บมจ.ทรัพย์ศรีไทย (SST) ซึ่งผู้ถือหุ้นมีวิสัยทัศน์ที่จะรุกเข้าสู่ธุรกิจอาหาร จากนั้นในปี 2557 บริษัทก็เข้าเทกโอเวอร์ Greyhound จาก ภาณุ อิงคะวัต ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้บริษัทมีแบรนด์เป็นของตัวเอง” Mr. Nadim Xavier Salhani ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มัดแมนจำกัด (มหาชน) กล่าวกับ Forbes Thailand เขาให้คำนิยาม บมจ. มัดแมนว่าเป็น life-style company ทำธุรกิจ 2 กลุ่ม คือ อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ “เรายังมองหาโอกาสในการซื้อกิจการสินค้าที่มีแบรนด์แข็งแกร่งเพราะการเติบโตใน อนาคตจะเน้นแบรนด์ของตัวเองมากขึ้น เนื่องจากไม่ติดข้อจำกัดในการขยายกิจการไปต่างประเทศ แน่นอนว่า Dunkin’ Donuts ยังเป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลัก เป็น cash cow ขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ติดข้อจำกัดในการขยายไปต่างประเทศ” ณ สิ้นปี 2558 Dunkin’ Donuts มี 266 สาขา สร้างรายได้ให้บริษัทถึง 40% Au Bon Pain มี 67 สาขาสร้างรายได้ 24% Greyhound Café มีสาขาในประเทศ 13 สาขา ต่างประเทศ 9 สาขาสร้างรายได้ 23% Baskin Robbins มี 29 สาขาสร้างรายได้ 4% และ Greyhound Fashion สร้างรายได้ 8% บริษัทตั้งเป้าหมายว่าในอนาคตจะมีรายได้ 50% มาจากต่างประเทศ โดยมี Greyhoundเป็นหัวหอกสำคัญของการเติบโตในอีก 5 ปี ข้างหน้า ซึ่งบริษัทตั้ง KPI เปิดตลาดใหม่ในต่างแดนให้ได้อย่างน้อยปีละ 1-2 ตลาด ส่วน Dunkin’ Donuts, Au Bon Pain มีเป้าหมายเปิดสาขาปีละมากกว่า 10 แห่ง และ Baskin Robbins ปีละมากกว่า 5 แห่ง “Greyhound เป็นแบรนด์ที่มีความยูนีค มีศักยภาพเติบโตสูงมาก ทุกวันนี้เรามีสาขาในประเทศ 13 สาขา ต่างประเทศ 10 สาขา ที่ Hong Kong 6 สาขาซึ่งไปได้ดีมาก ส่วนสาขาใน Beijing, Shanghai มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทเพิ่งเปิดที่มาเลเซียเมื่อสองเดือนก่อน ภายในสิ้นปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายเปิดสาขาที่ London อย่างน้อย 1 แห่ง เป็นเจ้าของเอง เป็นโชว์เคสสร้างแบรนด์ Greyhound ที่ยุโรป” Mr. Salhani กล่าวด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่นว่าสาขานี้จะประสบความสำเร็จได้ เพราะคนอังกฤษรู้จักอาหารไทยบริษัททำวิจัยตลาดที่ London มาสักระยะ พบว่ามีร้านอาหารไทยที่นั่นนับพันสาขา แต่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการไม่ใช่ร้านอาหารรูปแบบเดิม ผู้บริโภคต้องการร้านอาหารแบบ trendy และ exotic ซึ่งตรงกับบุคลิกของ Greyhound ที่ให้คำจำกัดความตัวเองว่า “Bangkok Street Food” Mr. Salhani กล่าวว่า การลงทุน 50 ล้านบาทกับสาขา London เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างสำหรับการเติบโตในแถบยุโรปเช่น เยอรมนี ไอร์แลนด์ รวมถึง Paris เมืองแห่งแฟชั่น ซึ่ง Greyhound ก็มีเสื้อผ้าแฟชั่นเช่นกัน “เรา spin off ตัวเองออกมาจาก บมจ.ทรัพย์ศรีไทย (SST) บริษัทแม่ซึ่งถือหุ้นอยู่ 80.3%เพราะต้องการโอกาสในการเติบโตมากกว่าอยู่ภายใต้บริษัทแม่ ทุกวันนี้รายได้หลักถึง 90% ของ SST มาจากมัดแมนอยู่แล้ว” Mr.Salhani สรุปทิ้งท้ายกับ Forbes Thailand ว่า “ในอนาคตอันใกล้บริษัทจะเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม และมีแผนเปิดโรงแรมบูทีคที่ภูเก็ต ขณะนี้อยู่ในระหว่างศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ โดยเริ่มจาก M Kitchen กิจการร้านอาหารแคนทีนในโรงพยาบาลรามคำแหงซึ่งบริษัทไปเทกโอเวอร์มาเมื่อ เร็วๆ นี้” เรื่อง: ดรณ์ มาลัยธรรม ภาพ: บมจ. มัดแมนคลิก อ่านบทความทางธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ Forbes Thailand JUNE 2016 ฉบับพิเศษ The Essential for Enrichment ในรูปแบบ e-Magazine