แม้ส่งออกไทยเดือน ก.ค. จะพลิกบวก 15.2%YoY แต่กรุงไทยมองภาพทั้งปี 67 ยังฟื้นตัวยาก - Forbes Thailand

แม้ส่งออกไทยเดือน ก.ค. จะพลิกบวก 15.2%YoY แต่กรุงไทยมองภาพทั้งปี 67 ยังฟื้นตัวยาก

การส่งออกของไทยเดือน ก.ค. พลิกกลับมาเป็นบวก 15.2%YoY และขยายตัวสูงสุดในรอบ 28 เดือน ฃจนทำให้กลับมาขาดดุล 1,373.2 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ภาพรวมทั้งปี Krungthai COMPASS ยังมองว่าส่งออกไทยจะฟื้นตัวได้จำกัดเพราะโลกวุ่นวายทั้งจากภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า


    Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผย มูลค่าส่งออกเดือน ก.ค. 2567 อยู่ที่ 25,720.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ถือเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 28 เดือน สาเหตุเพราะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ 15.6%YoY และสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัว 8.7%YoY จากที่เดือนก่อนหน้าหดตัว 3.3%YoY ส่วนการส่งออกทองคำขยายตัวเร่งขึ้นสู่ระดับ 434.1%YoY (หักทองคำฯ จะอยู่ที่ 11.0%) มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 27,093.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.1%YoY เร่งขึ้นจากเดือนก่อน

    ทั้งนี้ การส่งออกของไทยเดือน ก.ค. ยังขยายตัวสอดคล้องกับหลายประเทศในภูมิภาค เช่นมาเลเซีย (ขยายตัว 10.1% สูงสุดในรอบ 18 เดือน) สิงคโปร์ (12.4% สูงสุดในรอบ 3 เดือน) และเกาหลีใต้ (13.9% สูงสุดในรอบ 6 เดือน) ปัจจัยหลักจากเติบโตของสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ที่อยู่ในวัฏจักรขาขึ้นตามความต้องการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ และการลงทุน Data Center ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งบทบาทของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคที่ขับเคลื่อนการขยายตัวของภาคการส่งออกของหลายประเทศไปพร้อมกัน

    ส่วนภาพรวมส่งออก 7 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 3.8%YoY ส่วนดุลการค้า ขาดดุล 6,615.9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดหลักที่ยังขยายตัว เช่น สหรัฐฯ (ขยายตัว 13.3%) จีน (ขยายตัว 0.3%) EU27 (ขยายตัว 6.1%) ส่วนตลาดสำคัญที่ยังหดตัว ได้แก่ ญี่ปุ่น (หดตัว 6.9%) ASEAN-5 (หดตัว 0.01%)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปี 2567 การส่งออกไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณชะลอตัวเด่นชัดขึ้น และถูกกดดันด้วยปัจจัยเสี่ยง จากสัญญาณการอ่อนแรงลงของภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศหลักที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Flash Manufacturing PMI) เดือน ส.ค. ของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งหดตัวลงพร้อมกันเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ข้อมูลของจีนล่าสุดเดือน ก.ค. ให้ภาพการลดลงเช่นกัน

    อีกทั้ง ภาวะการค้าระหว่างประเทศยังคงถูกกดันจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คลังเชื่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีขึ้น! ปรับเป้า GDP ปี 67 เพิ่มเป็น 2.7% ย้ำยังไม่รวมผล Digital Wallet

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine