ถึงแม้ทิศทางการลงทุนในฟินเทคระดับโลกเริ่มชะลอตัวลงในไตรมาส 2 ของปีนี้ แต่ในไทยนั้น แรงสนับสนุนที่จะฟูมฟักกิจการหน้าใหม่ให้โลดแล่นในโลกธุรกิจการเงินนั้นยังไม่เหือดหายโดยเฉพาะกำลังเสริมเพื่อต่อยอดสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพจากฝั่งธนาคารพาณิชย์ หวังยกระดับนวัตกรรมที่จะส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางธุรกิจการเงินระดับนานาชาติในอนาคต
ณ วันนี้ ธุรกิจการเงินและการธนาคารต่างตื่นตัวด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านการเงินหรือ “ฟินเทค” ขณะเดียวกับที่ธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพ ก็เริ่มมีการพัฒนาและนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง แม้สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ยังคงมีข้อจำกัดและความท้าทายหลายอย่าง เช่น แนวทางการพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจ (business model) ที่ชัดเจน หรือการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน
อย่างไรก็ตามในระบบนิเวศของฟินเทคนั้นยังมีเงินลงทุนจากภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของธุรกิจเงินร่วมลงทุน (venture capital หรือ VC) หรือกลุ่มนักลงทุนอิสระ (angel investor) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนสนับสนุนฟินเทค ทั้งนี้สำหรับปัจจุบัน ธนาคารหรือสถาบันการเงินเองมีความตื่นตัวอย่างมากในการหันมาร่วมงานกับธุรกิจสตาร์ทอัพในหลากหลายรูปแบบ เช่น โครงการสนับสนุนฟินเทคสตาร์ทอัพเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ หรือแม้แต่การจัดตั้งบริษัทในรูปแบบของธุรกิจเงินร่วมลงทุนเพื่อสนับสนุนบริษัทและธุรกิจด้านนี้โดยตรงซึ่งเกิดผลดีร่วมกันทั้งสองฝ่าย
ตามรอยกระแสลงทุนฟินเทค
ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลและบทวิเคราะห์ของPwC เกี่ยวกับการลงทุนในฟินเทคทั่วโลกที่เปิดเผยโดย สุทธิกานต์ รุ่งศรีทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท พีดับบลิวซีคอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าการลงทุนในไตรมาส 2 ของปีนี้ อยู่ที่ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาส 1 ที่มีการลงทุนที่ 1.77 พันล้านเหรียญ และปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“การลงทุนในฟินเทคที่มีมูลค่าสูงที่สุดและเป็นที่จับตามองในไตรมาส 2 คือ การลงทุนของ VC ใน Janalakshmi Financial Services ผู้ประกอบธุรกิจการให้กู้รายย่อยในรูปแบบ microlender ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย ซึ่งคาดว่าการลงทุนจาก VC ครั้งนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 150 ล้านเหรียญ” สุทธิกานต์เปิดเผย
ด้านกิจการฟินเทคสตาร์ทอัพในประเทศไทย จากรายงาน Thailand FinTech Landscape 2016 ของ Techsauce ระบุว่าระหว่างปี 2554 ถึง 2559 มีกิจการฟินเทคสตาร์ทอัพในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จด้านการระดมทุนทั้งสิ้น 8 บริษัทซึ่งเป็นจำนวน 15 ดีล ณ กันยายน 2558 มีธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพสัญชาติไทยแจ้งเกิดแล้วที่ราว 55 บริษัทเมื่อลองพิจารณาลึกลงไปอีกจะพบว่าเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อตอบสนองกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินกับธนาคาร หรือยังอยู่นอกระบบสถาบันการเงินเป็นนวัตกรรมที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับนวัตกรรมด้านอื่นๆ โดยมีสัดส่วนการลงทุนที่ประมาณ 10%
K-Bank ชี้ทุนไม่ใช่บทนำ
ด้วยแนวคิดที่เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างรวดเร็วทั่วโลก อันนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน ที่นำเสนอบริการที่มีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าอย่างกว้างขวางทั้งจากสถาบันการเงินและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อตอบสนองสังคมในยุคดิจิทัล รวมถึงกระแสที่ฟินเทคและสตาร์ทอัพนำนวัตกรรมใหม่ๆ ในการให้บริการทางการเงินมาอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่องจากมุมมองดังกล่าวจึงนำไปสู่การจัดตั้ง บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KASIKORN Business-Technology Group หรือ KBTG)
ธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย และประธาน KBTG เปิดเผยว่า การสนับสนุนทางการเงินอาจไม่ใช่บทบาทอันดับต้นๆ ของ KBTG ในขณะนี้ เพราะเชื่อว่าฟินเทคสตาร์ทอัพในปัจจุบันไม่ต้องการเงินทุนเป็นเรื่องหลักแต่ทางบริษัทมีแผนงานชัดเจนที่จะตั้งบริษัทในเครือที่ดูแลเรื่อง VC ขึ้นมาโดยเฉพาะและขณะนี้ก็มองหาโอกาสลงทุนในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการลงทุนผ่านกองทุน หรือแม้แต่ลงทุนในบริษัทโดยตรง ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่จะเริ่มเข้าไปสนับสนุนตั้งแต่รอบ series A เป็นต้นไป
“ตอนนี้มีเงินอยู่ทั่วตลาดและเม็ดเงินของ VC มีมากกว่าความต้องการของสตาร์ทอัพที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นเงินจึงไม่ใช่ปัจจัยที่สตาร์ทอัพขาดเป็นลำดับแรกๆ แต่เราก็มีแผนจะตั้ง VC ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการเงินให้แก่สตาร์ทอัพที่เห็นว่าเหมาะสม แต่โดยรวมแล้วไม่น่าจะเกิน 50 ล้านเหรียญในระยะเริ่มต้น เพราะเราไม่เชื่อว่าจะมีกิจการให้ลงทุนมากขนาดนั้น”
กรุงศรีส่องแสงนำฟินเทค
ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงค์กิ้งและนวัตกรรมแห่งธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยืนยันถึงแนวทางชัดเจนที่ธนาคารมุ่งสนับสนุนธุรกิจฟินเทคของไทยให้เดินสู่อนาคตอย่างงดงาม โดยเน้นกลุ่มที่เอื้อกับธุรกิจและผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร
“ปัจจุบันเราเริ่มลงทุนกับกลุ่มฟินเทคสตาร์ทอัพและการทำกิจกรรมที่จะส่งเสริมกลุ่มนี้ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าคนรุ่นใหม่คิดหรือมีไอเดียอะไรบ้างที่เราจะเอามาต่อยอดได้”
ทั้งนี้นโยบายสนับสนุนฟินเทคของธนาคารแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง คือ
1. สนับสนุนโดยการเป็นศูนย์บ่มเพาะและเร่งพัฒนาทั้งในระดับมหาวิทยาลัย (Krungsri Uni-Startup) และในระดับประเทศ (Krungsri RISE)
2. สนับสนุนการเชื่อมต่อฟินเทคเพื่อเพิ่มศักยภาพในทุกผลิตภัณฑ์ของธนาคาร โดยสนับสนุนฟินเทคสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และนำมาปรับใช้กับธุรกิจของธนาคาร ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค และตอบโจทย์กระแสความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีได้ดียิ่งขึ้น
3. ลงทุนในฟินเทคทั้งในรูปแบบที่ผ่าน VC ระดับโลก และลงทุนโดยตรงผ่านบริษัทที่กำลังเกิดใหม่อย่าง Krungsri Venture Capital โดยเบื้องต้นวางแผนเงินลงทุนไว้ราว 30 ล้านเหรียญ ภายในระยะเวลา 3- 5 ปี เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค และปรับตัวรับกระแสความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี
ฟินเทคคือคู่แข่งแบงก์?
ทั้งนี้ จากแนวคิดที่ว่าฟินเทคที่ประสบความสำเร็จแล้วจะมีศักยภาพพอเป็นคู่แข่งสำคัญกับสถาบันการเงินได้นั้นฐากรเห็นต่างว่า “เรามองว่าฟินเทคเป็นตัวช่วยเรามากกว่าจะเป็นคู่แข่ง แต่เป็นไปได้ที่ฟินเทคอาจเข้ามาแย่งธุรกิจของธนาคารไปบ้าง แต่เราเองก็สามารถทำงานร่วมกับฟินเทคในการสร้างโซลูชั่นต่างๆ” เขายังเชื่อว่าธนาคารจะยังคงมีความสำคัญต่อระบบการเงินและผู้บริโภคต่อไปแต่ธุรกิจการธนาคารต้องเปลี่ยนรูปแบบไป เช่น สาขาอาจจะต้องมีขนาดเล็กลงแต่ดูสมาร์ทขึ้น หรือในอนาคตทั้งสาขาอาจจะเป็นดิจิทัลทั้งหมดก็ได้ เพราะเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงสังคม
ทั้งนี้ ธีรนันท์จาก KBTG ย้ำว่า “ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ประเทศไทยต้องการคือ การสร้างนวัตกรรมด้วยคนไทยเพื่อต่อกรกับภัยคุกคามจากเทคโนโลยี และคว้าโอกาสใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ดังนั้นแทนที่ธนาคารจะมองว่าฟินเทคเป็นคู่แข่ง เรากลับมองว่าเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนให้เกิด”
สำหรับความเห็นของธนาคารพาณิชย์ต่อวิวัฒนาการของฟินเทคในไทยนั้น ฐากรระบุว่า “ในเมืองไทยต้องถือว่าเป็นระยะเพิ่งเริ่มต้น และยังไม่มีนวัตกรรมที่มากและหลากหลาย แต่ก็มีทิศทางและการพัฒนาที่ดีขึ้น ยิ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน และเงินลงทุน ก็จะสามารถเร่งการเติบโตได้”
อย่างไรก็ตาม ฐากรมองว่ากลุ่มฟินเทคยังต้องมองทิศทางตลาดและความต้องการของผู้บริโภคให้ลึกกว่าเดิม และต้องมีความเข้าใจในธุรกิจที่จะกระโดดลงไปร่วมวง ซึ่งจำเป็นต้องเข้าใจ customer’s pain point หรือปัญหาสำคัญของสังคม และของคนกลุ่มใหญ่ หรือปัญหาของประเทศ แล้ววิเคราะห์หาคำตอบ เพื่อสร้างโซลูชั่นขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย
ทั้งนี้ตัวแทนจากธนาคารกรุงศรีได้ทิ้งท้ายว่า “ในอนาคตอันใกล้ผมเชื่อว่าจะมีผู้เล่นและคนที่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมการเงินกระโดดเข้ามาร่วมวงกับฟินเทคอีกมาก ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ฟินเทค เพราะทีมงานมีประสบการณ์ตรงมากขึ้น”
ในเวลาเดียวกัน ธีรนันท์เชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของผู้ประกอบการฟินเทคสัญชาติไทยว่าสามารถก้าวไกลถึงขั้นเป็น ยูนิคอร์น หรือมีมูลค่ากิจการถึง 1 พันล้านเหรียญได้ โดยเชื่อว่าประเทศไทยมีปัจจัยเอื้อหลายด้าน เช่นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความสามารถของบุคลากร เงินทุน ความพร้อมเรื่องเทคโนโลยี ความเข้าใจเรื่อง modern economy เป็นต้น ที่สำคัญคือด้วยจำนวนประชากรของไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่รวมกันแล้วมากถึง 200 ล้านคนจะเป็นฐานตลาดสำคัญ ซึ่งย่อมนำมาซึ่งโอกาสการขยายธุรกิจและรายได้ที่มหาศาลในอนาคตได้ ซึ่งขึ้นกับว่าสตาร์ทอัพเหล่านั้นจะค้นพบหรือไม่ และสามารถขยับก่อนคู่แข่งได้หรือไม่
“สำหรับเมืองไทยนั้น การมียูนิคอร์นไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่ระบบที่จะส่งเสริมให้เกิดยูนิคอร์นยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ จึงยังไม่ได้เข้มแข็งมากในตอนนี้ แต่ถ้าปัญหาต่างๆ ได้รับการปรับปรุงแก้ไขและมีทิศทางสนับสนุนไปในแนวเดียวกันก็ย่อมสนับสนุนให้สตาร์ทอัพของไทยเติบโตไปถึงระดับยูนิคอร์นได้ในที่สุด”
คลิกอ่านฉบับเต็ม "ฟูมฟัก “ฟินเทค” ไทย" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ October 2016 ในรูปแบบ e-Magazine